“สวนขี้จุ๊” เมื่อเกษตรธรรมชาติ ผสานภูมิปัญญาพื้นบ้าน

“สวนขี้จุ๊” เมื่อเกษตรธรรมชาติ ผสานภูมิปัญญาพื้นบ้าน

“ถามว่ารวยไหม ตอบได้เลยว่าไม่รวย แต่มีความสุขในทุกๆ วัน ที่ได้เข้ามาในสวนเกษตรธรรมชาติแห่งนี้ ซึ่งเดิมชาวบ้านบอกว่าเป็นสวนขี้จุ๊ คือทำแล้วไม่ได้อะไร เป็นการลงทุนลงแรงเปล่า หากเวลามากกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ย่อมเป็นบทพิสูจน์ได้ว่า ทำสวนแบบนี้ให้อะไรกลับคืนมาบ้าง” หยั่ว ถนอมรุ่งเรือง เจ้าของสวนขี้จุ๊ ในวัย 68 ปี บอกด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มแบบคนอารมณ์ดีอยู่เป็นนิจ ก่อนจะพาพวกเราเข้าไปชมสวนผสม ในพื้นที่ 7 ไร่ ที่บ้านแม่สาใหม่ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ทางขึ้นที่ลาดชันไม่ใช่อุปสรรคของการเดิน เพราะเจ้าของใช้ความเพียรในการขนหินขึ้นมาเรียงเป็นขั้นบันได เช่นเดียวกับพื้นที่สวน ถูกวางหินกั้นเป็นชั้นๆ ป้องกันการน้ำหลากลงมากัดเซาะหน้าดิน ใบไม้ที่ร่วงหล่นลงมาทับถม กลายเป็นปุ๋ยอย่างดีให้กับต้นไม้ในสวน แถมยังรักษาความชุ่มชื้นให้กับผิวดิน จนอากาศเย็นสบาย ภายในสวนร่มครึ้มด้วยต้นไม้นานาชนิด ทั้งไม้ป่าที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ไม้ผลที่ปลูกเอง และพืชสมุนไพร โดยรายได้มาจากไม้ผลที่ปลูก ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น อโวคาโด ลิ้นจี่ และกาแฟพ่อหยั่ว เล่าว่า ช่วงแรกคุณแม่ของตัวเองก็ปรามาสว่ามัวแต่เรียงหิน ต่อไปจะไม่มีอะไรกิน จึงได้อุปมาถามกลับ ถ้าไม้ล้มขวางทางบนภูเขา ดินข้างบนหรือข้างล่างจะดีกว่ากัน คุณแม่ตอบได้ทันทีว่าข้างบน เพราะตะกอนดินจะถูกไม้ที่ล้มกั้นไว้ไม่ให้ทลายลงไปข้างล่าง จึงถือโอกาสอธิบายให้ท่านเข้าใจว่า การเรียงหินก็เช่นกัน จะช่วยรักษาดินในสวนได้เป็นอย่างดี ประกอบกับช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ก็เห็นได้ชัดว่าสวนแห่งนี้ มีอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี จนสามารถดำรงชีวิตประจำวันแบบสบายๆ แทบไม่ต้องใช้เงินซื้ออาหาร เกือบทุกอย่างมาจากในสวน ยกเว้นเนื้อ กับไข่ ทำให้คุณแม่เปลี่ยนมุมมอง หันมาชื่นชม และยกให้เป็นตัวอย่างแก่ลูกคนอื่นๆ แทนนอกจากนี้ สวนแห่งความภาคภูมิใจของพ่อหยั่ว ยังมาจากกาแฟสายพันธุ์อราบิก้าต้นแรก ที่ได้รับพระราชทานจากในหลวง รัชกาลที่ 9 เนื่องจากทรงมีพระราชดำริให้ชาวบ้าน ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เผ่าม้ง ปลูกกาแฟทดแทนฝิ่น อันเป็นสารเสพติดให้โทษ ซึ่งเมื่อปลูกแล้วก็ประคบประหงมอย่างดี จนขณะนี้ขยายพันธุ์ไปทั่วทั้งสวน เก็บเมล็ดสดขายได้ประมาณปีละ 3  ตัน เป็นอย่างน้อยศักดิ์ดา แสนมี่ ผู้อำนวยการสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) บอกว่า การทำสวนเกษตรธรรมชาติของพ่อหยั่ว เป็นแบบป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามหลักปรัชญาของในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อให้เกษตรกรมีป่าไม้ใช้สอย ป่าไม้กินได้ และป่าไม้เศรษฐกิจ อยู่ในพื้นที่เดียวกัน และพวกเขาจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ คือ 1) เป็นอาหารได้ เช่น หน่อไม้ กล้วย พืชสมุนไพร ฯ 2) นำสิ่งที่มีอยู่ในสวนมาใช้สอย อย่างไม้ไผ่ นำมาจักสาน สร้างเป็นโรงเรือน หรือที่พักอาศัยได้ 3) สามารถจำหน่ายได้ อาทิ กาแฟ อโวคาโด ลิ้นจี่ พลับ 4) ช่วยรักษาเกื้อหนุนป่าไม้ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ แถมสร้างสมดุลของระบบนิเวศภายในสวนได้เป็นอย่างดีจะเห็นได้ว่าภายในสวน ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าปุ๋ยเคมี หรือยากำจัดศัตรูพืช ทุกอย่างเป็นไปตามวัฏจักรธรรมชาติ รวมถึงใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม เช่น การหมักปัสสาวะเป็นปุ๋ยไว้รดต้นไม้ ใช้ปุ๋ยคอกจากสัตว์เลี้ยงเสริมบ้าง ต้นทุนหลักคือการลงแรงในการปฏิบัติ ตั้งแต่เตรียมพื้นที่ ปรับปรุงดิน เพาะปลูก ดูแล ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพราะพื้นที่ดอยมีความลาดชัน เครื่องจักรไม่สามารถเข้าไปได้สุพจน์ หลี่จา นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ (สสช.) ย้ำว่าสวนขี้จุ๊ เป็นตัวอย่างของการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้กับครอบครัว ชุมชน และสังคม ทั้งยังมีความรับผิดชอบต่อตนเอง ในฐานะผู้ผลิต รวมไปถึงผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม พืชผลทุกอย่างภายในสวนสามารถนำมากิน นำมาใช้ได้อย่างปลอดภัย ไม่มีสารเคมีนับเป็นความอุตสาหะของพ่อหยั่วอย่างแท้จริง เพราะเริ่มทำสวนตั้งแต่ลูกชายคนโตยังอยู่ในวัยเด็กเล็ก หิ้วถุงกาแฟมาได้แค่ทีละถุงให้เขาปลูก ตอนนี้ลูกชายคนโตอายุ 40 กว่า และเป็นผู้นำของชุมชนที่นี่ ส่วนหินก้อนแล้วก้อนเล่าที่ขนมาทำแนวระดับชั้น และขั้นบันได ก็ทำให้น้ำค่อยๆ ซึมลงไปใต้ดินจนชุ่มฉ่ำตลอดปี แม้จะไม่มีร่องน้ำไหลให้เห็นเลยสวนขี้จุ๊ในวันนี้ จึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอีกหลายๆ คน ที่จะนำไปเป็นแบบอย่างเพื่อการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า อย่างยั่งยืน รวมถึงการสร้างพื้นที่แหล่งอาหารของครอบครัวและชุมชนอีกด้วย.

You may also like

ผบ.นบ.ยส.35 ลงพื้นที่อำเภอไชยปราการ เพื่อตรวจเยี่ยมกำลังพลเพิ่มความเข้มก่อนหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์

จำนวนผู้