เมืองไทย แคปปิตอล จับมือ STeP มช. เผยความสำเร็จ ผลผลิต “โครงการสานฝันเกษตรกรไทย จากใจเมืองไทยแคปปิตอล” พัฒนาศักยภาพเกษตรผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือ

เมืองไทย แคปปิตอล จับมือ STeP มช. เผยความสำเร็จ ผลผลิต “โครงการสานฝันเกษตรกรไทย จากใจเมืองไทยแคปปิตอล” พัฒนาศักยภาพเกษตรผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือ

บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) จับมือ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) จัดแถลงข่าวความสำเร็จ “โครงการสานฝันเกษตรกรไทย จากใจเมืองไทยแคปปิตอล” พัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือ เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งสามารถพึ่งพาตนเองได้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการต้นแบบความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ที่นำองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรม รวมกับทุนสนับสนุนจากภาคเอกชนมาสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคม อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต


วันที่ 26 สิงหาคม 2565 บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) จัดแถลงข่าวความสำเร็จ “โครงการสานฝันเกษตรกรไทย จากใจเมืองไทยแคปปิตอล” ในกิจกรรมมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือ ณ NSP Exhibition Hall อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) โดยนำกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งทั่วภาคเหนือจำนวน 43 ราย ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงผึ้ง การสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์น้ำผึ้ง การตรวจสอบคุณภาพ การสร้างแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องสำอางจากน้ำผึ้ง การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเงิน การตลาด การสร้างแบรนด์ ฯลฯ พร้อมให้คำปรึกษาเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญด้านโมเดลธุรกิจ จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์พัฒนาต่อยอดอย่าง Sleeping Mask น้ำผึ้งทานาคา จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผึ้งป่าก๋อย จ.เชียงราย และผลิตภัณฑ์เทียนหอม อโรม่า จากวิสาหกิจชุมชนผึ้งจ๋าฟาร์มพะเยา
​ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงที่มาว่า โครงการ “สานฝันเกษตรกรไทย จากใจเมืองไทยแคปปิตอล” เกิดขึ้นจากกลไก “5 โปรแกรมรวมพลัง มช. เพื่อเร่งการฟื้นตัวและการเปลี่ยนผ่านสู่วิถีชีวิตใหม่หลัง COVID-19” ซึ่งเป็นกลไกการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงสถานการณ์ COVID โดยมีกลไก ให้ความช่วยเหลือครอบคลุมทั้งนักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ที่ยังว่างงาน ผู้ถูกเลิกจ้าง แรงงานคืนถิ่น รวมถึงกลุ่มชุมชนและเกษตรกร โดยใช้ทรัพยากรและความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปช่วยภาคประชาชนและสังคม ประกอบกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) มีหน้าที่เป็นสะพานนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรมจากรั้วมหาวิทยาลัยมาเชื่อมโยงสู่ภาคเอกชนในเชิงพาณิชย์เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งยังพบว่าความต้องการของบริษัทขนาดใหญ่นอกเหนือไปจากการทำงานด้านวิจัยและพัฒนาแล้วนั้น ยังมีความต้องการในการทำกิจกรรม CSR รูปแบบใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม จึงเกิดความร่วมมือระหว่างอุทยานฯ กับบริษัท เมืองไทยแคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ผ่านแพลตฟอร์มการให้บริการที่สอดคล้องกับ

ความต้องการของภาคเอกชนในรูปแบบ CSR Project ซึ่งบริษัท เมืองไทยแคปปิตอล จำกัด (มหาชน) เป็นเอกชนรายแรกที่สร้างความร่วมมือกับทางอุทยานฯ ในการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการผึ้งในพื้นที่ภาคเหนือเพื่อประโยชน์ของชุมชนและสังคม
นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากข้อมูลที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเลี้ยงผึ้งในระดับอุตสาหกรรม โดยสามารถผลิตน้ำผึ้งได้มากเป็นอันดับที่ 36 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากเวียดนาม มีเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งมากกว่า 1,200 ราย โดย 89 เปอร์เซ็นต์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ จึงอยากช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผึ้ง ในภาคเหนือของไทยให้มีมูลค่าสูงขึ้น สามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น จึงคิดอยากสร้างองค์ความรู้ พร้อมสนับสนุนการนำเทคโนโลยีที่จำเป็นมาช่วยในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของชุมชนเพื่อเป็นการสร้างประโยชน์กลับคืนสู่กลุ่มเกษตรกร สร้างรายได้เพิ่ม พร้อมยกระดับผลิตภัณฑ์ของชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งหลังจากนี้ จะมีการหารือถึงแนวทางความร่วมมือต่อไปในอนาคต ซึ่งนอกจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล เองก็ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานทางการศึกษาและมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการทำกิจกรรมสร้างประโยชน์กลับคืนสู่สังคมอยู่อย่างสม่ำเสมอเรื่อยมาภายใต้โครงการ “เมืองไทยแคปปิตอล พัฒนาไทยอย่างยั่งยืน” เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมไทยต่อไป

​ผศ.ดร.ธัญานุภาพ อานันทนะ กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลกระทบคาดการณ์ 1 ปีจากโครงการดังกล่าว จะสามารถสร้างประโยชน์แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งได้มากกว่า 600 ราย เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 80 คน และสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจรวมกว่า 20 ล้านบาท

You may also like

“ส.ว.ก๊อง”ลั่นลงสมัครป้องกันแชมป์สมัยหน้าในนามพรรคเพื่อไทย แย้มครั้งนี้ “ทักษิณ” ขอเป็นผู้ช่วยหาเสียง พร้อมลงพื้นที่ 25 อำเภอ

จำนวนผู้