เชียงใหม่ประกาศวาระจังหวัด นำเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนการพัฒนา 2,066 หมู่บ้านแก้ปัญหาความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิต “ศุภชัย”ย้ำต้องคิดแบบมีเหตุ มีผล รอบคอบและทำตามกำลัง เชื่อเมื่อมีรายได้ มีภูมิคุ้มกันจะนำพาซึ่งความสุข สังคมมั่นคงและยั่งยืน
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 9 ต.ค. 61 นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานมอบนโยบาย และประกาศวาระจังหวัดเชียงใหม่ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (100%) โดยมีการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (VDO Conference) ร่วมกับ 25 อำเภอ จำนวน 2,066 หมู่บ้าน โดยได้กล่าวคำปฏิญาณตนพร้อมกันที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้กลไกของประชารัฐ เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา โดยผ่านกระบวนการขับเคลื่อนทุกระดับทั้งครัวเรือน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอและระดับจังหวัด
นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การประกาศวาระจังหวัดเชียงใหม่เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (100%) ในครั้งนี้ เพื่อให้ทุกหมู่บ้านน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความยากจน และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีและเกิดความอย่างยั่งยืน โดยจังหวัดเชียงใหม่ มี 25 อำเภอ จำนวน 2,066 หมู่บ้าน ได้คัดเลือกตัวแทนหมู่บ้านละ 3 คน รวม 6,198 คน มาร่วมรับฟังในวันนี้ และมีคณะทำงาน เจ้าหน้าที่ระดับอำเภอร่วมการประชุมด้วย
สำหรับการดำเนินงานจะแบ่งเป็น 7 กระบวนการ คือ 1.การพัฒนาคนโดยจัดอบรมแกนนำหมู่บ้านๆ ละ 3 คน ได้แก่ คณะกรรมการหมู่บ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน และคนในชุมชนที่มีความตั้งใจ มีจิตอาสา เป็นบุคคลในลักษณะ “หัวไว ใจสู้”, 2.การส่งเสริมการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ, 3.การส่งเสริมให้มีการจัดทำบัญชีครัวเรือนอย่างน้อย ร้อยละ 30 ของครัวเรือนทั้งหมดในหมู่บ้าน, 4.การจัดทำแผนชุมชน การทบทวนแผนชุมชน โดยจัดให้มีเวทีประชาคมเพื่อทบทวนแผนชุมชน โดยการนำแผนเดิมมาปรับแผนตามความเหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการ และบริบทของหมู่บ้านหรือชุมชน และมีการบูรณาการเชื่อมโยงแผนตั้งแต่ระดับหมู่บ้านหรือชุมชน อำเภอและระดับจังหวัด, 5.การขยายผลการสร้างอาชีพแก่ครัวเรือนในหมู่บ้านหรือชุมชน, 6.การประชาสัมพันธ์ การสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจ เพื่อให้เกิดความร่วมมือของประชาชนเป้าหมาย และ 7.การประกาศเชิดชูเกียรติ แก่ผู้ที่มีผลงานดีเด่นในการขับเคลื่อนในทุกระดับ
ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดในการปฏิบัติคือทำอย่างไรให้ทุกครัวเรือนปลูกผักสวนครัวไว้กิน เพื่อลดรายจ่าย เหลือก็นำไปจำหน่ายทำให้มีรายได้เพิ่ม ซึ่งก็เชื่อว่าทุกครัวเรือนน่าจะทำได้ และตั้งเป้าให้มีกลุ่มอาชีพในชุมชนอย่างน้อยหมู่บ้านหรือชุมชนละ 2 กลุ่ม มีการจัดทำบัญชีครัวเรือน อย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ มีการออมเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ ครัวเรือนในหมู่บ้านมีการประกอบอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ และร้อยละ 60 ของกิจกรรม หรือโครงการด้านสัมมาชีพได้บรรจุไว้ในแผน อปท., อำเภอ, จังหวัด และร้อยละ 20 ของกิจกรรมหรือโครงการด้านสัมมาชีพในแผนชุมชนได้รับการสนับสนุนงบประมาณ
“การน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาขับเคลื่อนในพื้นที่ชุมชนและหมู่บ้าน ผมมองว่า เมื่อระดับครัวเรือน ชุมชนหรือหมู่บ้าน มีรายได้ มีการปลูกผักสวนครัวไว้กิน มีการเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ตามกำลัง และปรับปรุงพื้นที่เดิมให้ดีขึ้นหรือปรับปรุงพื้นที่ใหม่ ซึ่งต้องทำตามความพอเพียง มีกำลังมากก็ทำมาก มีน้อยก็ทำน้อย เมื่อเศรษฐกิจของประชาชนดีขึ้น ประชาชนก็จะมีความสุข มีส่วนร่วมกันในชุมชน เมื่อชุมชนเข้มแข็ง ประเทศก็จะเข้มแข็ง”นายศุภชัย กล่าวและชี้แจงอีกว่า
ระยะเวลาในการขับเคลื่อนโครงการนี้ 1 ปี โดย 6 เดือนแรกก็จะมีการติดตามและประเมินผล และหลังจากนั้นก็จะมีการติดตาม ประเมินผลอีก จังหวัดก็จะใช้ 3 หลักในการทำงานเช่นเดียวกันคือ ออนไลน์ ออนแอร์ และออนกราวน์ คือมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ให้รู้ว่ามีหมู่บ้านไหน ทำอะไรอย่างไร แล้วให้สื่อมวลชนเป็นตัวกลางในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และหมู่บ้านที่ทำได้ดีและเป็นตัวอย่าง ตนก็จะลงพื้นที่ไปเยี่ยมและให้กำลังใจ ที่สำคัญไปเรียนรู้ รับรู้วิธีการปฏิบัติของแต่ละแห่งซึ่งอาจจะแตกต่างกันด้วย.