อย.- กสทช. ร่วมผนึกกำลังจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย

อย.- กสทช. ร่วมผนึกกำลังจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย

 อย.ร่วมกับกสทช.ผนึกกำลังจัดการปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ทางสื่อวิทยุกระจายเสียง รุกดำเนินการอย่างเข้มข้นสู่ภูมิภาคครอบคลุมทั่วประเทศ เผยที่ผ่านมาดำเนินคดีแล้วกว่า 500 คดี ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง คาดหวังเครือข่ายภาคประชาชนจะร่วมตรวจสอบเฝ้าระวังเพื่อจัดการปัญหาได้มากขึ้น

วันที่ 31 ส.ค.61 ที่โรงแรมเลอเมอริเดียน นายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุมทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการจัดการปัญหาการโฆษณาอาหาร ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับพื้นที่ (ภาคเหนือ)ซึ่งกสทช.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและอย.จัดขึ้น

นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข              โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ได้เห็นความสำคัญในการควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมายและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค โดยจะมีการดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวังการโฆษณาทางสื่อต่าง ๆ เช่น ทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์  สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ รวมถึงสื่ออินเทอร์เน็ต เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้อง  เป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นทางไม่ให้มีโฆษณาเผยแพร่ผ่านสื่อออกมาหลอกลวงผู้บริโภค  ซึ่งการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายนั้น จำเป็นต้องดำเนินงานเชิงรุก ภายใต้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันของเครือข่ายทั้งภาครัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด (สสจ.)  และภาคประชาชน เช่น เครือข่ายผู้บริโภค

ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะแสดงให้ผู้บริโภคได้รับรู้ถึงความตั้งใจจริงของหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ที่จะร่วมมือกันสร้างกลไกในการตรวจสอบ เฝ้าระวัง อย่างเข้มแข็งและช่วยกันแก้ไขปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสื่อวิทยุกระจายเสียงทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาคซึ่งมีจำนวนมากถึง 3,000 กว่าแห่ง  ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน  เพื่อคุ้มครองประชาชนชาวไทย ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อโฆษณาที่โอ้อวด หลอกลวง ซึ่งอาจเสียทั้งเงินและเสียทั้งโอกาสในการรักษาโรค รวมไปถึงอาจเสียชีวิตจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยอีกด้วย

ด้านพลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การกำกับดูแลการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นภารกิจที่ กสทช. และ อย. ต่างก็มีอำนาจหน้าที่ภายใต้กฎหมายของตนเอง โดยที่สำนักงาน กสทช. มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเฉพาะ      การกำกับดูแลการออกอากาศรายการหรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ออกอากาศทางวิทยุและโทรทัศน์      ก่อนหน้านี้ การทำงานเป็นลักษณะที่แต่ละหน่วยงานต่างทำงานไปภายใต้ระบบของตนเอง ทำให้การพิจารณา    ข้อร้องเรียนแต่ละเรื่องกว่าจะได้ข้อยุติและสิ้นสุดกระบวนการต้องใช้เวลาค่อนข้างนานอย่างน้อย 6 เดือน หรือ  บางกรณีอาจใช้เวลานานร่วมปี นอกจากนี้ บทลงโทษต่อการกระทำความผิดกรรมเดียวกันยังอาจต้องรับโทษ        2 ทาง ทำให้อาจเกิดความซ้ำซ้อนและเป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย

“กสทช. ได้ร่วมกับ อย. ในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วม ขึ้นใน สำนักงาน กสทช.             โดยมีเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญของทั้งสองหน่วยงานมานั่งทำงานร่วมกัน เมื่อมีข้อร้องเรียนเกิดขึ้นหรือการตรวจพบการกระทำความผิด เจ้าหน้าที่สามารถวิเคราะห์ วินิจฉัยและชี้มูลได้ทันที โดยปัจจุบันสามารถสรุปเรื่องให้แล้วเสร็จได้ภายใน 3 วันซึ่งถือว่าเร็วมาก และสามารถพิจารณาวินิจฉัยข้อร้องเรียนหรือกรณีการโฆษณาผิดกฎหมายที่ตรวจพบได้เป็นจำนวนมาก จากการปฏิบัติงานร่วมกันตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561           เป็นต้นมาถึงปัจจุบันถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ก่อให้เกิดการตื่นตัวและปรับตัวของผู้ประกอบการ     อย่างกว้างขวาง เนื่องจากโทษทางปกครองสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือกระทำความผิดตามกฎหมาย กสทช. นั้นค่อนข้างสูง ทำให้ปัญหาการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด”กรรมการกสทช.กล่าวและว่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การจัดการปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับพื้นที่ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์อย่างแท้จริง จึงได้กำหนดนโยบายร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุขขยายผลการดำเนินการไปยังส่วนภูมิภาค โดยมีกระบวนการดำเนินการ คือ มีการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาร่วมกันระหว่าง สำนักงาน กสทช. ภาค / เขต และ สสจ.   โดย สสจ. ซึ่งได้รับมอบอำนาจตามพระราชบัญญัติเกี่ยวกับอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพจาก อย. จะให้ความเห็นเกี่ยวกับการโฆษณานั้น ๆ ทั้งนี้ อาจประสานสำนักงาน กสทช. ในส่วนภูมิภาคในเรื่องการเฝ้าระวังและการข้อมูล หลักฐานต่าง ๆ แล้วส่งผลการวินิจฉัยมายัง กสทช. ส่วนกลาง เพื่อดำเนินการกำกับดูแลต่อไป

ทางด้านนายแพทย์ธเรศ  กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เห็นความสำคัญในการปรับลดขั้นตอนกระบวนการทำงานจากเดิม ซึ่งที่ผ่านมามีการทำงานร่วมกันในรูปแบบของคณะทำงานจาก อย. และ สำนักงาน กสทช. ส่วนกลาง โดยมีกระบวนงานใหม่ที่ร่วมกันพิจารณาเนื้อหาการโฆษณาที่ออกอากาศหรือกระจายเสียง ทำให้ลดขั้นตอนเวลาการทำงาน ส่งผลให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายทั้งในส่วนของสำนักงาน กสทช. และกระทรวงสาธารณสุข เป็นไปด้วยความรวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ ถือเป็นรูปแบบที่เข้มแข็งและชัดเจนทำให้เห็นภาพการแก้ไขปัญหาโฆษณาที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา อย. ได้ดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำการโฆษณาฝ่าฝืนกฎหมาย ในปีงบประมาณ 2561 มากถึง 529 คดี  โดยแบ่งเป็นอาหาร  361  คดี ยา  81 คดี เครื่องมือแพทย์ 13 คดี และเครื่องสำอาง             74 คดี และในวันนี้ (31 สิงหาคม 2561) จะมีการนำรูปแบบดังกล่าวถ่ายทอดองค์ความรู้และประชาสัมพันธ์ลงสู่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานด้านโฆษณา เพื่อสร้างกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข             โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงาน กสทช. ส่วนกลาง  สำนักงาน กสทช. ภาคและเขต เพื่อพัฒนาระบบการจัดการปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างบูรณาการเป็นรูปธรรม ตามแนวทางที่กฎหมายกำหนด  ภายใต้วิธีปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกันและจะขยายให้ครอบคลุมทั้งประเทศในโอกาสต่อไป.

You may also like

ชมรมผู้บริหารงานแม่บ้านโรงแรมจัดงาน“ Chiang Mai Housekeeping Fair 2024

จำนวนผู้