”ตาลัส”ซัด 9 อำเภอของเชียงใหม่ ส่งผลทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากท่วมบ้านเรือน พื้นที่การเกษตรและสิ่งสาธารณะประโยชน์ได้รับความเสียหาย ขณะที่ไชยปราการฝนกระหน่ำจนทำให้ฝายเชียงหมั้นที่เกิดน้ำกัดเซาะพังทลาย
นายไพรินทร์ ลิ่มเจริญ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สรุปสถานการณ์ผลกระทบฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จากพายุดีเปรสชั่น “ตาลัส” มีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 9 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เชียงดาว โดยเมื่อวันที่ 16 ก.ค.60 เวลา 18.40 น. เกิดน้ำป่าไหลหลากบริเวณบ้านห้วยไส้ใน หมู่ที่ 7 ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว สร้างความเสียหายให้พื้นที่ทางการเกษตร 20 ไร่ และถนนลูกรังได้รับความเสียหาย 4 สาย และเมื่อวันที่ 17 ก.ค.60 ที่ผ่านมา เกิดน้ำป่าไหลหลากบริเวณบ้านถ้ำ หมู่ที่ 5 ต.เชียงดาว สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้สั่งการและประสานให้เจ้าหน้าที่ทหารจาก มทบ.33,สนง.ปภ.เชียงใหม่และปภ.สาขาเชียงดาว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือแล้ว โดยเฉพาะการซ่อมแซมถนน
นอกจากนี้ยังเกิดน้ำป่าไหลหลากบริเวณน้ำตกตาดหมอก อ.แม่ริม ในช่วงเย็นวันที่ 17 ก.ค.60 ที่ผ่านมา สำหรับวันนี้ วันที่ 18 ก.ค.60 เวลา 06.10 น. ได้รับรายงานในพื้นที่ อ.เวียงแหง ที่บ้านแม่หาก หมู่ที่ 1 ต.เมืองแหง เกิดดินสไลด์ปิดทับเส้นทางจราจร ซึ่งทางเทศบาลตำบลเมืองนะได้นำรถไทเข้าดำเนินการเปิดเส้นทางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนในพื้นที่ อ.ฝางได้รับรายงานเช่นกันว่าเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ ต.โป่งน้ำร้อน ต.ม่อนปิ่น ส่งผลให้น้ำจากลำน้ำมาว ลำน้ำแม่ใจ ไหลเอ่อเข้าท่วมถนนบางสายในหมู่บ้านและพื้นที่ทางการเกษตร ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย
หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า เมื่อเวลา 07.30 น.วันนี้(18 ก.ค.)ได้รับรายงานในพื้นที่ อ.แม่อายพื้นที่หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 5 ต.บ้านหลวง เกิดน้ำป่าไหลหลาก และในเวลา 09.00 น. รับรายงานเกิดน้ำหลากเข้าท่วมในพื้นที่หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 7 ต.สันต้นหมื้อ อ.แม่อาย เบื้องต้นอปท.ในพื้นที่เร่งสำรวจความเสียหาย พร้อมกันนี้ทางอำเภอแม่อายได้สั่งการกำลังสมาชิกอส. ให้เข้าช่วยเหลือราษฎรที่ประสบอุทกภัย เบื้องต้นนำกระสอบทรายกว่า 1,000 ใบ เข้าช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่
“ส่วนอีก 4 อำเภอที่ได้รับรายงานได้รับผลกระทบจากดีเปรสชั่น “ตาลัส” คือ อ.แม่แจ่ม เกิดดินสไลดบนถนนหมู่ที่ 4 บ้านแม่ตูม ต.ปางหินฝน ในพื้นที่ อ.ไชยปราการ เกิดฝนตกหนักทำให้ลำน้ำฝางหลากท่วมพื้นที่การเกษตร ในพื้นที่หมู่ที่ 2 ต.หนองบัว หมู่ที่ 4 ต.ศรีดงเย็น และทำให้ฝายเชียงหมั้นเกิดพังเสียหาย ในพื้นที่ อ.พร้าว เกิดดินสไลด์ ต้นไม้ล้อปิดขวางถนนพร้าว-เวียงป่าเป้า ที่กิโลเมตรที่ 2 บ้านขุนแจ่ล่าง ต.แม่แวน และอำเภอสุดท้ายที่มีรายงานได้รับผลกระทบเข้ามาข้อง อ.แม่ออน พื้นที่บริเวณเส้นทางเข้าบ้านแม่กำปอง ต.ห้วยแก้ว เกิดการยุบตัวของพื้นถนน ทั้งนี้ในทุกพื้นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ อปท.ในพื้นที่ได้เร่งสำรวจความเสียหายและเร่งให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบแล้ว” นายไพรินทร์ ลิ่มเจริญ นายไพรินทร์กล่าวและชี้แจงอีกว่า
สำหรับฝายเชียงหมั้นที่เกิดน้ำกัดเซาะจนพังทลายนั้น มีรายงานเพิ่มเติมว่า เวลา 05.00 น. ได้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ ต.ศรีดงเย็น อ.ไชยปราการ ทำให้ฝายเชียงหมั้นชำรุด ซึ่งฝายดังกล่าวเคยถึงน้ำกัดเซาะมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อคราวเกิดอุทกภัยปี 2549 และได้มีการจำหน่ายให้เป็นฝายที่เสียหายอย่างสิ้นเชิงไปแล้ว ทั้งนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของกรมชลประทานเพื่อก่อสร้างฝายตัวใหม่
นายวีระโชติ จูดิษฐ์ประเสริฐ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำบำรุงรักษาที่ 4 โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า ฝายเชียงหมั้นเป็นฝายกั้นลำน้ำฝางลูกที่ 2 กรมชลประทานสร้างเมื่อปี พ.ศ.2524 พอมาถึงปี 2546 ได้มีการถ่ายโอนให้กับ อบต.ศรีดงเย็น ตามนโยบายการถ่ายโอนโครงการขนาดเล็ก พอมาถึงปี 2549 เกิดอุทกภัยในพื้นที่และเกิดกระแสน้ำกัดเซาะท้ายฝายเชียงหมั้นทำให้น้ำลอดใต้ฝาย ส่งผลให้ฝายไม่สามารถกั้นน้ำไว้ได้ ทาง อบต.ศรีดงเย็น ได้หารือมาทางโครงการชลประทานเชียงใหม่จึงได้แนะนำให้ทำการแทงจำหน่ายเสียหายสิ้นเชิง เพื่อจะได้รื้อฝายเดิมออกและก่อสร้างฝายใหม่
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดก็คือ ในช่วงเช้าของวันนี้ (18 ก.ค.) ช่วงเวลาตี 3 ถึงตี 4 เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำฝางเพิ่มปริมาณสูงขึ้นมาก กระทั่งเกิดการกัดเซาะทำให้ตัวสันฝายเชียงหมั้นขาด จากเดิมที่ถูกกัดเซาะเฉพาะท้ายฝายตัวสันฝายังอยู่ เช้าวันนี้ตัวสันฝายถูกกัดเซาะไปด้วย ส่งผลให้ฝายขาดทั้งตัวเปิดเป็นทางระบายน้ำโล่งไปสู่ท้ายน้ำ” หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำบำรุงรักษาที่ 4 กล่าวและชี้แจงอีกว่า
สำหรับโครงการที่มีการเสนอขอให้สร้างฝายใหม่ขึ้นมาทดแทน ทางโครงการชลประทานเชียงใหม่ได้เสนอโครงการไปยังกรมชลประทาน ซึ่งขณะนี้การสำรวจ การออกแบบ ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว และได้มีการบรรจุเข้าแผนก่อสร้างของกรมชลประทานไว้ในปีงบประมาณ 2561 และถ้าหากได้รับเงินงบประมาณในปี 2561 นี้ ก็จะทำการก่อสร้างใหม่ทันที ซึ่งฝายใหม่ที่จะสร้างขึ้นมาทดแทนนี้จะยาวกว่าฝายเดิมประมาณ 4 เมตร ความสูงเท่าตัวเดิม พร้อมกันนี้จะมีการระบบเปิดปิดคลองส่งในด้วย จะเป็นโครงการก่อสร้างและปรับปรุงทั้งระบบของฝายเชียงหมั้น โดยจะมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ กรมชลประทาน จะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการก่อสร้างทั้งระบบ ทั้งนี้ในลำน้ำฝางมีฝายที่กั้นอยู่ในลำน้ำทั้งสิ้น 11 ตัว ได้รับการก่อสร้างใหม่แล้ว 3 ตัว ส่วนอีก 8 ตัว จะต้องทำการปรับปรุง โดยที่ฝายเชียงหมั้นเป็นฝายที่จะต้องทำการปรับปรุงเป็นลำดับแรกสุดของฝายทั้ง 8 ตัว.