“เชฟน้อย”กินเปลี่ยนโลก  ปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อสุขภาพเด็กไทย 

“เชฟน้อย”กินเปลี่ยนโลก  ปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อสุขภาพเด็กไทย 

ถ้าอยากให้เด็กสุขภาพที่ดี ก็ต้องเริ่มจากอาหารที่ดี หรือที่สำนวนฝรั่งกล่าวไว้ You are what you eat นับเป็นความจริงที่ทุกฝ่ายต้องตระหนัก และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของตัวเอง หรือคนที่อยู่ในความดูแลให้เหมาะสม โดยเฉพาะในวัยเด็ก ถ้าขาดโภชนาการที่ดี มักจะมีปัญหาอ้วน เตี้ย โง่ หรือผอม ตามมาสมศรี คำฝั้น หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองแสะ ต.ห้วยทราย อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เล่าว่า ศพด.ได้ร่วมอบรมโครงการเชฟน้อย ตามหลักสูตรเชฟน้อยกินเปลี่ยนโลก และนำความรู้มาใช้บริหารจัดการอาหารกลางวันให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่แม่ครัว ผู้ปรุงที่ได้รับสัมปทาน ครู เกษตรกร ชุมชน มาร่วมเรียนรู้ทั้งในเรื่องของสรเคมีในผักผลไม้ หลักโภชนาการ พิษภัยที่แฝงในเครื่องปรุงรสต่างๆ โดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทดสอบ ทดลอง และอ่านฉลากอาหาร เพื่อให้รู้เท่าทันในการเลือกใช้ หลังจากนั้น ศพด. ได้กำหนดมาตรฐานของวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการปรุง โดยเชื่อมประสานกับชุมชน เกษตรกรในพื้นที่ พร้อมทั้งปรับเมนูให้เหมาะสม เน้นใช้ผักพื้นบ้าน และเนื่องจากศูนย์มีพื้นที่น้อย การทำเกษตรในโรงเรียนไม่เพียงพอ แม้จะมีการปลูกพืชผักสวนครัว ผักยืนต้น ผลไม้ รวมถึงการเพาะเห็ด เพื่อส่งเข้าโรงครัว จึงได้ใช้วิธีฝากปลูกที่บ้าน เมื่อผลผลิตเติบโต ผู้ปกครองก็จะนำมาให้ทางโรงเรียนใช้ประกอบอาหารด้วย ขณะเดียวกันยังได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ มีชั่วโมงให้เด็กได้ทดลองทำอาหารจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น บัวลอยดอกอัญชัน ขนมถั่วแปบสีจากใบเตย ขนมครก ขนมปังหน้าหมู รวมถึงนำละครจากโรงเรียนเด็กโตมาเล่นให้เด็กเล็กดู และการฝึกทักษะด้านการเกษตร แจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืช หรือกิ่งพันธุ์ให้เด็กๆ และผู้ปกครองนำไปปลูกที่บ้าน ซึ่งถือเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งในการส่งต่อความรู้ไปสู่ผู้ปกครอง  ด้าน ศศิธร คำฤทธิ์ หรือ ครูแอน นักละคร และนักปฏิบัติการด้านอาหาร เครือข่ายแผนงานกินเปลี่ยนโลก บอกว่า การที่จะจัดอาหารให้กับเด็ก ครูต้องมีทักษะ และความรู้มากพอที่จะเลือกอาหารที่ดีให้กับเด็ก แต่อาหารดีอยู่ที่ไหน ครูก็ต้องค้นหาในชุมชนของตัวเองก่อน จากนั้นจึงมองไปที่เครือข่าย โชคดีที่ ศพด.บ้านหนองแสะ อยู่ใน จ.เชียงใหม่ มีเครือข่ายอาหารอินทรีย์ จึงจัดกิจกรรมเยี่ยมชม ทำแผนที่อาหารดีในชุมชนได้ ส่วนในขั้นตอนของการปรุงอาหาร ปกติครูใส่ทุกซอส แล้วอะไรอยู่ในซอส ที่ทำให้เด็กสมัยนี้ก็เป็นโรคไตกันมากขึ้น การทำให้ครูเข้าถึงข้อมูลความรู้เหล่านี้ ทำให้ครูต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน แล้วจึงจัดกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงอาหารเด็กตามไปด้วย การติดอาวุธทางปัญญา ให้ทักษะ ความรู้กับครู จึงสำคัญมาก เพราะเด็กไม่ได้หากินเอง เขากินตามที่ผู้ใหญ่จัดวางไว้ให้ ครูแอน อธิบายถึงกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของครู ว่าตอนแรกใช้กระบวนการละคร อยากให้ครูได้แสดงออก พูดอย่างตรงไปตรงมา  เพราะถ้าใช้วิธีระดมกันพูด ก็จะได้รูปแบบเดิม ว่าโรงเรียนเรา ให้เด็กกินอาหารครบ 5 หมู่ แถมมีของว่างด้วย แต่ลึกๆ คืออะไร นมเปรี้ยว ขนมปังที่ไม่เคยหมดอายุ เราจึงใช้กระบวนการละครก่อน ต่อด้วยการอธิบายความรู้ต่างๆ  ที่เป็นอาหารปลอดภัย ตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ ให้ทดสอบ และทดลองเองว่า ผักที่นำมาปรุงอาหาร และผลไม้ที่นำมาให้เด็กกินทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ มีสารปนเปื้อนแค่ไหน ทำให้ครูได้เห็นกับตา ได้ปลูกกับมือ และได้ปรุงซุปแบบที่ตัวเองทำประจำ ซึ่งปรุงรสไว้มากมาย พอมองเห็นภาพจริงแล้ว ก็ค่อยพูดเรื่องเครื่องปรุงเป็นลำดับต่อไป นอกจากนี้ จากการตรวจเลือดครู พบว่า ในครู 70 คน มีปลอดภัยแค่ 1 คน ส่วนที่เหลือเสี่ยง และเสี่ยงที่สุด มีสารเคมีตกค้างในเลือดเยอะมาก ฉะนั้นครูต้องเปลี่ยนตัวเองก่อน  อีกกระบวนการหนึ่ง คือการออกแบบโดยใช้กิจกรรมเชิงนิเวศวิทยา ไปค้นหาอาหารในระบบนิเวศธรรมชาติ ไปดูแปลงปลูกที่เขาใช้ระบบเคมี และระบบอินทรีย์  ต่างกันอย่างไร แล้วพูดถึงผลกระทบเชิงสุขภาพที่จะตามมา มีการใช้ศิลปะเข้ามาช่วย ทำให้การขยับขับเคลื่อนอาหารปลอดภัยที่เป็นเรื่องเครียด สื่อสารกันได้ง่ายขึ้น เช่น อยากรู้ว่าแหล่งอาหารมาจากไหน ก็ให้ครูวาดรูป แล้วครูก็จะพูดคุยกันว่าทางออกคืออะไร อยากเพิ่มพื้นที่ปลูกตรงไหน ให้ครูวาดรูปลงไป มันจะออกมาเป็นรูปธรรม วิธีวาดภาพในเชิงศิลปะ ทำให้ครูมองเห็นภาพ แล้วค่อยๆ ปะติดปะต่อให้เป็นภาพจริง แล้วทางแผนงานก็เข้าไปสนับสนุนเรื่องเมล็ดพันธุ์ ความรู้ ทักษะการบำรุงดิน ให้เด็กไทยได้กินอาหารที่มาจากดินที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุ  อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการขับเคลื่อนเรื่องอาหารปลอดภัยค่อนข้างยาก ไม่ใช่ทุกศูนย์เด็กเล็ก หรือโรงเรียนจะทำได้ ศูนย์เด็กเล็กนั้น หรือโรงเรียนนั้น ต้องมีแหล่งอาหารที่ปลอดภัย นั่นหมายความว่า เราไม่ได้ทำงานคนเดียว หรือครูก็ไม่ได้ทำงานคนเดียว ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกับสมาชิกของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ด้วย บูรณาการกันทั้งชุมชน  ลำดับแรกโรงเรียน หรือ ศพด.ต้องค้นหาแหล่งอาหารปลอดภัย หรือเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ที่อยู่ใกล้ๆ ให้ได้ก่อน แล้วทางแผนงานจะเป็นตัวกลางช่วยประสานงานให้ หรือจัดกิจกรรมให้  ที่สำคัญในการเรียนการสอน หรือสื่อสารกับเด็ก ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ถ้าสอน โดยบังคับให้เด็กทำ หรือจัดกระบวนการ แบบไม่ถามเด็กว่าวันนี้อยากกินอะไร วันพรุ่งนี้หนูอยากทำขนมอะไร  จะกลายเป็นเมนูของครู ขณะที่เด็กไม่ค่อยตอบสนอง ดังนั้นถ้าเราอยากมีส่วนร่วมกับเด็ก ก็ต้องสื่อสารกับเด็กด้วยวินัยเชิงบวก ไม่ดุ ไม่ด่า ไม่ตี ไม่ใช้เสียงที่รุนแรงกับเด็ก แล้วให้เด็กมีส่วนร่วมในการออกแบบเองด้วย  นับว่าการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน มีตัวแปร และปัจจัยหลายอย่าง ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จหรือไม่ และสิ่งเหล่านี้ คือความท้าทายของคนทำงาน ที่ต้องมองปัญหาให้ทะลุ และแก้ไขให้ตรงจุด เพื่อให้สามารถขับเคลื่อน หรือขยายพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ. 

You may also like

builds มช. ขนทัพสตาร์ทอัพนักศึกษาคับคั่ง พิสูจน์ความสำเร็จ ตั้งบริษัทจริงระหว่างเรียน

จำนวนผู้