สนพ. ลงพื้นที่เยี่ยมชมระบบกักเก็บพลังงานในพื้นที่ห่างไกล แก้ปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง

สนพ. ลงพื้นที่เยี่ยมชมระบบกักเก็บพลังงานในพื้นที่ห่างไกล แก้ปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง

สนพ.ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการระบบสมาร์ทไมโครกริดบ้านขุนกลาง บริเวณพื้นที่โรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง อ.จอมทอง ซึ่งเป็นระบบไฟฟ้าชุมชนแบบอัจฉริยะขนาดเล็ก (สมาร์ทไมโครกริด) ที่ผสมผสานระหว่างไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงและไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เข้าเก็บในแบตเตอรี่หรือระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เพื่อรองรับกรณีระบบไฟฟ้าหลักขัดข้องในพื้นที่ห่างไกล ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.65 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน นำโดยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พร้อมคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการระบบสมาร์ทไมโครกริดบ้านขุนกลาง บริเวณพื้นที่โรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง อ.จอมทอง ซึ่งเป็นระบบไฟฟ้าชุมชนแบบอัจฉริยะขนาดเล็ก (สมาร์ทไมโครกริด) ที่ผสมผสานระหว่างไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงและไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เข้าเก็บในแบตเตอรี่หรือระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เพื่อรองรับกรณีระบบไฟฟ้าหลักขัดข้องในพื้นที่ห่างไกล ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีนายวรพจน์ วรพงษ์ ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล และนายปรัชญา ศรีโจ หัวหน้าแผนกโรงไฟฟ้าเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และ รศ.ดร.สุทธิชัย เปรมฤดีปรีชาชาญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช.และนายจตุพร ปารมี หัวหน้าสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ให้การต้อนรับ บรรยายสรุปและนำเยี่ยมชมโครงการ

นายวรพจน์ วรพงษ์ ผอ.เขื่อนภูมิพล กฟผ.กล่าวว่า ปีนี้เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำกักเก็บมาก โดยสามารถส่งน้ำให้กับภาคกลางในการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งและน้ำกิน น้ำใช้ตลอดทั้งปี เป็นปีที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ปริมาณน้ำปัจจุบันกักเก็บต่ำกว่าจุดกักเก็บสูงสุด 4 เมตรเมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อนที่มีน้ำกักเก็บในจุดที่กักเก็บได้เกือบ 30 เมตร ทะเลสาบดอยเต่ามีน้ำเต็มพื้นที่ โดยช่วงที่ปริมาณน้ำเข้าเขื่อนมากที่สุดอยู่ในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.ซึ่งมีปริมาณเพิ่่มขึ้นถึงเกือบ 5 พันล้านลูกบาศก์เมตร โดยปัจจุบันมีปริมาณน้ำกักเก็บเกือบ 8 พันล้านลูกบาศก์เมตร

ทางด้านนายปรัชญา ศรีโจ หน.แผนกโรงไฟฟ้าเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล กล่าวว่า โรงไฟฟ้าบ้านขุนกลางนี้เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ซึ่งดอยอินทนนท์เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยที่พาดผ่านจากประเทศเนปาล ภูฐานและเมียนมาร์ ในปี 2522 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯมาช่วยชาวบ้านที่อินทนนท์และส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชเมืองหนาวและจัดตั้งโครงการหลวงอินทนนท์ขึ้นมาเพื่อลดพื้นที่การปลูกฝิ่น และในปี 2525 ทรงมีพระราชดำริให้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขึ้นที่บ้านขุนกลางเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้และทดลองเลี้ยงปลาในบ่อน้ำ เมื่อ 1 ก.พ.2527 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็๋จฯเปิดโรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง ซึ่งปัจจุบันอายุครบ 38 ปี และทรงปลูกต้นท้อไว้ 1 ต้น ปัจจุบันต้นท้อดังกล่าวก็ยังมีอยู่ สำหรับบ่อเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราห์อยู่บริเวณหลังโรงไฟฟ้าฯแห่งนี้

ขณะที่รศ.ดร.สุทธิชัย เปรมฤดีปรีชาชาญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช.กล่าวว่า  เนื่องจากโรงไฟฟ้าบ้านขุนกลางมีกำลังการผลิต 210 W ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 1,200,000 กิโลวัตต์ต่อปี เป็นเครื่องที่ผลิตจากจีน มีฝายอยู่บนน้ำตกสูงจากโรงไำฟฟ้า 160 เมตรทำให้น้ำมีแรงดันสูงและสามารถปั่นกังหันผลิตกระแสไฟฟ้าได้ โดยทาง EGAT ได้ปรับปรุงระบบควบคุมจากระบบแมนนวลเป็นสมาร์ทไมโครกริด ตั้งแต่ปี 2527-2565 สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 37,516,604 หน่วย หรือเกือบ 100  ล้้านบาท อย่างไรก็ตามปัญหาของโรงไฟฟ้าฯที่พบคือเกิดไฟตก ไฟดับบ่อยเพราะอยู่ในพื้นที่ป่าเมื่อมีต้นไม้หักโค่นพาดสายไฟจะทำให้ไฟดับนาน โดยโรงไฟฟ้าไม่มีระบบควบคุมแบบ Island Mode จึงทำให้โรงไฟฟ้าและโครงการหลวงไฟดับบ่อยกระทบกับการผลิตและเก็บผลผลิตในห้องเย็น ปี 2562 ทางมช.ได้เข้ามาศึกษาและทำระบบสมาร์ทไมโครกริดให้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว ระบบนี้เป็นแบตเตอรี่แบบใหม่(ลิเทียม)ที่ไม่ระเบิดและไม่ติดไฟและไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมด้วย และการจ่ายไฟปัจจุบันก็สามารถเชื่อมกับระบบจำหน่ายไฟฟ้า 22 Kv ของกฟภ.จากสถานีไฟฟ้าจอมทองด้วย

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและเป็นถิ่นทุรกันดาร การคมนาคมไม่สะดวกและยากต่อการวางระบบสาธารณูปโภค ดังนั้นเพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับชุมชนให้มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ สนพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย มุ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการจัดการทรัพยากรในระบบจำหน่ายไฟฟ้า และในพื้นที่โครงการหลวงดอยอินทนนท์ ในปัจจุบันมีการติดตั้งสายส่งไฟฟ้าจากพื้นราบแล้ว แต่ด้วยสภาพพื้นที่เป็นป่าเขาหากเกิดฝนตกหนักหรืออุทกภัยจะส่งผลกระทบต่อระบบสายส่งและเกิดไฟฟ้าดับเป็นเวลานานส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานต่างๆ ในโครงการหลวง รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน กฟผ. จึงได้ติดตั้งระบบสมาร์ทไมโครกริดบ้านขุนกลาง พร้อมแบตเตอรี่ประเภท Li-Ion ขนาด 100 kW/150Kwh. สามารถช่วยแก้ปัญหาไฟฟ้าตกหรือดับในพื้นที่ได้อย่างน้อย 95% เป็นเวลานานกว่า 8 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง โดยระบบสมาร์ทไมโครกริดนี้ มีระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่ซึ่งเปรียบเสมือน Power Bank ที่ช่วยกักเก็บพลังงานที่ได้นำพลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำและแสงอาทิตย์มาสำรองไว้ใช้ในยามจำเป็น ลดความผันผวนของระบบไฟฟ้าภายในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ สนพ. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2022) ซึ่งระบบกักเก็บพลังงานถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ตามแผน ดังนั้นระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่จะช่วยแก้ไขปัญหาความไม่เสถียรของพลังงานทดแทนอย่างลงตัวและช่วยส่งเสริมระบบไมโครกริด ซึ่งเป็นระบบไฟฟ้าขนาดเล็กที่รวมเอาระบบผลิตไฟฟ้า โหลดไฟฟ้า ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานและระบบควบคุมอัตโนมัติเข้าไว้ด้วยกัน โดยสามารถลดภาระในการบริหารจัดการไฟฟ้าและต้นทุนของระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก ทำให้ระบบมีความมั่นคงขึ้น

ปัจจุบันระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่มีความสำคัญต่อเทคโนโลยีพลังงานเป็นอย่างมาก โดยจะช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและระบบสมาร์ทกริด นอกจากนี้แบตเตอรี่ยังเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งภาครัฐได้เตรียมการออกมาตรการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและการใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศ ซึ่งจะเป็นการช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการใช้พลังงานสะอาดตามกรอบแผนพลังงานชาติได้เป็นอย่างดี” นายวัฒนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม.

You may also like

builds มช. ขนทัพสตาร์ทอัพนักศึกษาคับคั่ง พิสูจน์ความสำเร็จ ตั้งบริษัทจริงระหว่างเรียน

จำนวนผู้