ทต.ปิงโค้งนำซังข้าวโพดผลิตถ่านอัดแท่ง สร้างรายได้-ลดฝุ่น PM2.5

ทต.ปิงโค้งนำซังข้าวโพดผลิตถ่านอัดแท่ง สร้างรายได้-ลดฝุ่น PM2.5

นช่วงฤดูหนาวไปจรดฤดูร้อน ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ที่สูงเกินค่ามาตรฐานหลายเท่าตัวมาอย่างต่อเนื่องหลายปี โดยบางปีพบว่าสูง 500-600 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต้องหาทางแก้วิกฤติปัญหาที่เกิดขึ้นลภัสรดา รติกันยากร นักบริหารงานสวัสดิการสังคม เทศบาลตำบลปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และนักวิชาการโครงการสร้างระบบบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าว่า ทต.ปิงโค้ง ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา PM 2.5 มาตั้งแต่ปี 2557 เริ่มจากการสำรวจพื้นที่และสรุปสถานการณ์ปัญหา จนพบว่าการเผาซังข้าวโพด เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดฝุ่นควันในชุมชน เพราะในเขต ทต.ปิงโค้ง มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดมากถึง 20,000 ไร่ ทำให้เกิดซังข้าวโพดมากถึง 3 ล้านกิโลกรัม และเกษตรกรส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะเผาทำลายทาง ทต.ปิงโค้ง จึงร่วมมือกับชุมชน หาวิธีกำจัดซังข้าวโพดเพื่อลดการเผาที่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยคิดค้นนวัตกรรม“ถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด” ขึ้น เริ่มจากการนำซังข้าวโพดไปเผาในถังปลอดควันขนาด 200 ลิตร จะได้ “ถ่านขี้แมว” จากนั้นนำถ่านดังกล่าวไปบด เพื่อให้ได้ผงถ่าน ก่อนจะนำมาไปผสมกับแป้งมันและน้ำเปล่า แล้วอัดเป็นก้อน อบให้แห้งในโรงอบแสงอาทิตย์ ก็จะได้ถ่านคุณภาพสูง ไร้กลิ่น ไร้ควัน ให้ความร้อนคงที่ ใช้เพียง 3-4 ก้อนก็สามารถใช้งานได้นานถึง 2-3 ชั่วโมง“ทั้งนี้ โรงงานผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพดต้นแบบของ ทต.ปิงโค้ง มีกำลังการผลิตที่ 300 กิโลกรัมต่อวัน ขายในราคากิโลกรัมละ 20 บาท ซึ่งทางสำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงใหม่ได้เข้ามาตรวจสอบแล้ว พบว่าค่าก๊าซที่ปล่อยออกมาจากขบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงสนับสนุนให้โรงงานของเราเป็นนวัตกรรมต้นแบบด้านพลังงานชีวมวล” น.ส.ลภัสรดา กล่าวทำให้ปัจจุบัน ซังข้าวโพดในเขต ต.ปิงโค้ง มีมูลค่าและราคา ชาวบ้านสามารถรวมกลุ่มกันตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพดได้แล้ว 1 แห่ง และมีเอกชนเข้ามากว้านซื้อซังข้าวโพดในพื้นที่ราคา 1 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อนำไปผลิตเป็นถ่านอัดแท่งโดยใช้นวัตกรรมเดียวกับของ ทต.ปิงโค้งด้วย จึงช่วยลดการเผาในที่โล่งได้ 100% เนื่องจากชาวบ้านปรับพฤติกรรมจากการเผา นำมาขายแทน ขณะเดียวกันโรงงานผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพดของ ทต.ปิงโค้ง ก็ได้ยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้ถ่านอัดแท่ง มีองค์กรและผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานจำนวนมาก พร้อมกันนั้นแนวคิดเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม ก็ได้ขยายไปสู่ชุมชน มีการลดการเผา โดยเก็บเศษไม้ใบหญ้าไปใส่ในเสวียนเพื่อเป็นปุ๋ยหมักอีกทางหนึ่งสุทัศน์ บานเย็น นายก ทต.ปิงโค้ง เล่าว่า สถานการณ์ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ฝุ่นควัน และ PM 2.5 ได้ทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ ซึ่งช่วงที่ค่า PM 2.5 สูงสุดจะอยู่ในช่วงกลางเดือนมีนาคม-กลางเดือนเมษายน เพราะนอกจากไฟป่า การเผาในภาคเกษตรแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นปัญหา คือการเป็นพื้นที่ชายแดน ก็จะมีควันไฟป่าข้ามพรมแดนเข้ามา เมื่อผนวกกับพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ แรงลมจึงพัดเอาฝุ่นควันข้ามมา ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ทั้งในการออกไปทำงาน การเดินทาง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็กเล็กที่อยู่ในครัวเรือน ก็มีความเสี่ยงสูงมาก ผู้ที่โรคระบบทางเดินหายใจ หืดหอบ หรือภูมิคุ้มกันต่ำ มีอาการเจ็บป่วย ต้องเข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาลจำนวนมาก อย่างปีที่ผ่านมา มีผู้สูงอายุเจ็บป่วยเข้ารับการรักษา 40-50 ราย ขณะที่เด็กเล็ก มี 1 ราย ที่อาการรุนแรงมาก ถึงขั้นเลือดกำเดาไหล จึงแก้ปัญหาด้วยการเข้าไปสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการป้องกันตนเอง ให้สวมหน้ากาก พยายามไม่ออกไปนอกพื้นที่ จัดหาหน้ากากอนามัยให้สวมใส่ และพยายามหาจุด safety zone   ประจำชุมชน ประจำเทศบาล เผื่อเกิดสถานการณ์รุนแรงขึ้น

“ใน ต.ปิงโค้ง ได้พูดคุยถึงปัญหานี้ทุกเดือน ไม่ว่าจะในส่วนของท้องถิ่น ท้องที่ ภาคีเครือข่าย หน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมไฟป่าของตำบล โดยมีเทศบาลเป็นหลักในการอำนวยการ สั่งงานร่วมกัน วางแผนของตำบล เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดไฟป่า  พื้นที่เกษตรจะทำอย่างไร เพื่อลดการเผา และบริหารเชื้อเพลิงในพื้นที่ เพราะบางช่วงเวลาและบางสถานการณ์จำเป็นต้องเผา มีการรณรงค์ขอความร่วมมือให้งดและลดเผา ส่งเสริมอาชีพ จ้างงานเป็นอาสาดับไฟป่าสำหรับคนที่มีอาชีพหาของป่า ทำแนวกันไฟ ป้องกันการเกิดตั้งแต่ต้น” นายก ทต.ปิงโค้ง อธิบายแต่หากยังเกิดไฟป่าอยู่ ก็มีชุดปฏิบัติการของตำบล ทีมเคลื่อนที่เร็วเผชิญเหตุ ซึ่งเป็นกำลังผสม มีทั้งทหาร ป่าไม้ เทศบาล อาสาสมัครในชุมชน มีกลุ่มเฝ้าระวังประจำชุมชน มีผู้นำหมู่บ้าน อาสาสมัคร คอยเฝ้าระวังดูว่าไฟเกิดตรงไหน เมื่อไหร่ สื่อสารกันทั้งโทรศัพท์ ไลน์ มีแอปพลิเคชั่นเข้ามาช่วย เมื่อเกิดเหตุก็รายงานผ่าน app เข้าศูนย์อำนวยการ เพื่อสั่งการให้ทีมในพื้นที่เข้าไปดำเนินการ เข้าไปดับอย่างทันท่วงที การลุกลามบานปลายก็จะไม่เกิดขึ้น โดยในการจัดการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ทำการเกษตร และในชุมชนซึ่งในส่วนของพื้นที่เกษตร ตอนนี้สามารถควบคุมการเผาได้ 100% เพราะชาวบ้านเปลี่ยนมาไถกลบแทนการเผา ส่วนวัสดุเหลือทิ้งจากภาคเกษตร เช่น ซังข้าวโพด มีการแปรรูป เข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด พื้นที่ในการเกษตรส่วนใหญ่จึงแทบไม่มีปัญหาเลย จะมีปัญหาในพื้นที่ป่าเป็นส่วนใหญ่ จุด hot spot ที่ขึ้น จึงมักเป็นพื้นที่ป่า ซึ่งยากแก่การควบคุม แม้ว่าจริงๆ แล้วตามสภาพในพื้นที่จะลดลง แต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา การวัดจุด hot spot ของดาวเทียมมีความละเอียดมากขึ้น มีความถี่ และระยะเวลานานขึ้น จึงทำให้เห็นว่าค่า  hot spot สูง ทั้งที่ในฐานะคนในพื้นที่เห็นว่าภาพรวมลดลง เพราะมีการจัดการกันอยู่ แต่ที่ยังเกิดเพราะบางครั้งสถานการณ์ยากแก่การควบคุม แต่ทุกภาคส่วนก็ทำงานกันเต็มที่ และในเบื้องต้นเขต ต.ปิงโค้ง ตั้งเป้าลดจุด Hot spot 50% จากที่ผ่านมาขึ้น 100 กว่าจุดในช่วงเดือนมกราคม-เมษายนเครือข่ายเรื่องฝุ่นควันจึงสำคัญมาก เพราะฝุ่นควันไม่มีพรมแดน และพื้นที่ป่าก็มีมาก ควันจึงไปได้ทุกทิศทางตามกระแสลม เครือข่ายแต่ละตำบล แต่ละอำเภอ และระดับจังหวัด ต้องคุยกัน ประสานทิศทางการทำงาน มีเทคนิคอย่างไร ประสบการณ์อย่างไร ร่วมกันสรุปบทเรียนและวางแผน ใช้ทั้งประสบการณ์ แผนที่ข้อมูล GIS พื้นที่ไหนเกิดไฟอย่างไร จุดไหนเกิดถี่ จุดไหนเสี่ยง แล้วแผนจะทำอย่างไร นอกจากนี้ยังมีส่วนภาคองค์กรเอกชน เช่น ที่เชียงใหม่มีสภาลมหายใจ ที่รวมนักวิชาการ สถาบันการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน เข้ามาเป็นคณะทำงานแล้วคุยกัน เพื่อขับเคลื่อนในภาคเอกชนด้วย.

You may also like

SUN ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ในรูปแบบ Hybrid Meeting

จำนวนผู้