ชียงใหม่ดันกิจกรรม 12 เดือนโดยใช้รางวัลเมืองเทศกาลโลก World Festival and Event City 2022 สร้างความร่วมมือจากทุกฝ่าย

ชียงใหม่ดันกิจกรรม 12 เดือนโดยใช้รางวัลเมืองเทศกาลโลก World Festival and Event City 2022 สร้างความร่วมมือจากทุกฝ่าย

เชียงใหม่ดันกิจกรรม 12 เดือนโดยใช้รางวัลเมืองเทศกาลโลก World Festival and Event City 2022 สร้างความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อดึงคนเข้ามา เสริมสร้างเศรษฐกิจให้ยั่งยืน  ด้านทีเส็ปเผยความสําเร็จของเชียงใหม่ที่คว้ารางวัล ยิ่งดันตลาดไมซ์ ได้มากขึ้น หวังอย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับปี 62 ช่วงก่อนโควิด

เมื่อค่ำวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ที่โรงแรมรติล้านนา นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB ได้ร่วมกันแถลงข่าวตอกย้ำศักยภาพเมืองเชียงใหม่ในฐานะไมซ์ซิตี้ (MICE City) และเมืองที่มีศักยภาพด้านการจัดงานเทศกาลระดับโลก (World Festival & Event City) โดยมีหัวหน้าส่วนราชการภาครัฐ เอกชนและสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟัง

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า รางวัลเมืองเทศกาลโลก World Festival and Event City 2022 ที่จังหวัดเชียงใหม่ได้รับเลือกโดยสมาคมงานเทศกาลนานาชาติ (International Festivals and Events Association, IFEA) จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ความเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของเชียงใหม่ และในฐานะศูนย์กลางการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของภาคเหนือ เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและทางตอนใต้ ของประเทศจีน ตามนโยบายระเบียงเศรษฐกิจล้านนา

ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า  จังหวัดเชียงใหม่พร้อมผลักดันนโยบายและยุทธศาสตร์ล้านนาสร้างสรรค์ หรือ Creative Lanna และผลักดันให้เชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลก (World Heritage) สร้างซอฟต์พาวเวอร์ผ่านทุนทางวัฒนธรรม โดยกําหนดปฏิทินงาน (event calendar) ในแต่ละเดือน เพื่อดึงผู้คนให้มาเยือนเชียงใหม่และมีความสุขตลอดทั้ง 12 เดือน 12 เทศกาล ในส่วนมิตินานาชาตินั้นจะกําหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการพัฒนาและขับเคลื่อนให้จังหวัดเชียงใหม่มีสิ่งใหม่ๆ ที่น่าสนใจเกิดขึ้นในทุกวันคือ ความร่วมมือจากทุกฝ่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน ในการร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองน่าอยู่ น่าท่องเที่ยว ทําให้เมืองเดินหน้าสู่การพัฒนากระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนอย่างมั่นคงยั่งยืน

ทางด้านนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB กล่าวว่า เชียงใหม่มีสถานะเป็นเมืองไมซ์ซิตี้ชั้นนําระดับประเทศ และยังถือเป็นเมืองยุทธศาสตร์หลักของทีเส็บในภาคเหนือ และจากความสําเร็จของเชียงใหม่ที่คว้ารางวัล World Festival & Event City โดย IFEA ซึ่งทีเส็บเห็นว่าวันนี้เชียงใหม่มีความพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็นเมืองจุดหมายปลายทางนานาชาติที่จะรุกตลาดต่างประเทศและตลาดระดับพรีเมี่ยมอย่างเต็มตัว และจะใช้กลยุทธ์สำคัญคือ Festival Economy หรือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยงานเทศกาล ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยการนําซอฟต์พาวเวอร์ด้านวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของเมืองและชุมชนมามาผสานเข้ากับการ ออกแบบกิจกรรมที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ดึงดูดกลุ่มนักเดินทางคุณภาพที่มีกําลังซื้อสูง

“เชียงใหม่เป็นหนึ่งในเมืองที่ไมซ์ที่มีศักยภาพ ที่เสนอความพร้อมทางวัฒนธรรม ความแตกต่างของชุมชนและผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมถึงงานเทศกาลที่มีอย่างเช่น เชียงใหม่บูมที่แตกออกมาจากงานไม้ดอกไม้ประดับ การจัดงานเทเบิลฟลาวเวอร์และยังมีอีกหลายงาน ทั้งยี่เป็งและ NAPที่สามารถพัฒนาให้เป็นเฟสติวัลระดับโลกได้ สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือทุกภาคส่วนต้องมาร่วมกันเพื่อทำให้ทุกงานยกระดับขึ้นเป็นงานระดับโลกอย่างเช่นเชียงใหม่บูมที่ตอนนี้เป็นงานระดับโลกไปแล้ว”ผอ.TCEB กล่าวและว่า

ในด้านการตลาดการประชุมและนิทรรศการสำหรับตลาดไมซ์ตัวเลขถึงก.ย.65 มีประมาณ 1.3 แสนคน มูลค่าการตลาดประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ทั้งๆ ที่ไทยเพิ่งเปิดประเทศเมื่อมิ.ย.65 สำหรับปี 66 ตั้งเป้าไว้ที่ 9.8 หมื่นล้านบาททั้งตลาดในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตามใน 5 เมืองที่เป็นไมซ์ซิตี้นั้นภูเก็ตยังเป็นอันดับ 1 และเชื่อว่ารางวัล World Festival & Event City ที่เชียงใหม่ได้รับจะช่วยผลักดันให้ตลาดไมซ์ของเชียงใหม่เติบโตยิ่งขึ้น.

You may also like

SUN และ EXE มอบอาหารช่วยผู้ลี้ภัยชายแดนเมียนมา

จำนวนผู้