กลุ่มชาติพันธุ์หนุนรัฐเร่งออกโฉนดชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร

กลุ่มชาติพันธุ์หนุนรัฐเร่งออกโฉนดชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร

เชียงราย / กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ประกาศเจตนารมณ์ร่วมสถาปนาพื้นที่ทางจิตวิญญาณ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร พร้อมหนุนรัฐเร่งออกโฉนดชุมชนเพิ่ม หวังได้สิทธิจัดการที่ดินอย่างถูกต้อง และยั่งยืน นายสุพจน์ หลี่จา นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ และผู้จัดการโครงการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในการสร้างเสริมสุขภาวะเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ที่ดิน นับเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยสำหรับชนเผ่าพื้นเมืองแล้ว ที่ดินไม่ใช่แค่พื้นที่ทางการเกษตร และยังหมายถึงผืนป่าและทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นทั้งแหล่งอาหาร ยาสมุนไพร และแหล่งน้ำ แต่ในช่วงที่ผ่านมา พวกเขาประสบปัญหาจากการประกาศเขตอุทยานทับที่ และนโยบายของรัฐ เช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า ทำให้ขาดความมั่นคงทางอาหาร และย่อมกระทบถึงวิถีการดำรงชีวิตด้วย“เชื่อว่าการทำให้ชุมชนเข้มแข็ง และมีความภาคภูมิใจในวิถีชีวิตของตนเอง รวมถึงสืบทอดภูมิปัญญาในเรื่องการจัดการดิน น้ำ ป่า ก็จะทำให้เขาเกิดความตระหนัก และสามารถดำรงชีพได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นเนื่องในวันที่ 16 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันอาหารโลก ทางเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง จึงถือเอาวันที่ 16-23 ต.ค.61 เป็นสัปดาห์รณรงค์ขับเคลื่อนสิทธิที่ดิน โดยปีนี้ได้จัดขึ้นที่บ้านปางสา ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย และมีตัวแทนจากชนเผ่าต่างๆ เข้าร่วม ประมาณ 200 คน” นายสุพจน์ กล่าวต่อมานายจำลอง ปอคำ ได้นำผู้ร่วมกิจกรรมประกาศเจตนารมณ์ เรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินและการจัดการทรัพยากรของชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในประเทศไทย เนื่องในวัน “อาหารโลก” โดยสาระสำคัญ กล่าวถึงประชากรอย่างน้อย 1.5 พันล้านคน ที่พึ่งพาที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิต และในจำนวนนี้เป็นประชากรชนเผ่าพื้นเมืองกว่า 370 ล้านคน  ขณะที่ในประเทศไทยเองก็ต้องเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่ก่อให้เกิดวิกฤติ ขาดความมั่นคงในที่ดินและทรัพยากร เพราะที่ดินถูกนำมาเป็นสินค้าในระบบทุนนิยมเสรี จึงเกิดภาวะรวยกระจุก จนกระจาย เกษตรกรประมาณ 2 ล้านครอบครัวไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีไม่พอทำกิน และเกษตรกรในเขตพื้นที่สูงราว 1 ล้านครอบครัว ถูกประกาศเขตอนุรักษ์ของรัฐซ้อนทับที่ทำกินและอยู่อาศัย ทำให้สิทธิชุมชนท้องถิ่น และสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองถูกริดรอนและควบคุมโดยรัฐดังนั้นเพื่อปกป้องวิถีชีวิตและสิทธิในการกำหนดตนเองที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของปฏิญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง พวกเราจะร่วมกันสถาปนา “พื้นที่ทางจิตวิญญาณ” คือการจัดการที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน แหล่งเรียนรู้ มีการสืบทอดตามวิถีการปฏิบัติที่ยั่งยืน รวมถึงพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในเขตพื้นที่ของเรา สู่การบรรลุเป้าหมายร่วมของภาคีแนวร่วมที่ดินระหว่างประเทศ โดยให้มีการยอมรับที่ดินที่ชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นถือครองอยู่ ให้ถูกต้องตามกฎหมายเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ภายในปี พ.ศ.2563“พวกเราจะเดินหน้าร่วมกันสื่อสารและรณรงค์ทางสาธารณะ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและได้รับความร่วมมือสู่ปฏิบัติการ ขยายผลการสร้างพื้นที่รูปธรรมในการจัดการที่ดินและทรัพยากรแบบมีส่วนร่วมในรูปแบบของโฉนดชุมชนและระบบการผลิตที่สร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน” นายจำลอง กล่าว.

You may also like

ผบ.นบ.ยส.35 ลงพื้นที่อำเภอไชยปราการ เพื่อตรวจเยี่ยมกำลังพลเพิ่มความเข้มก่อนหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์

จำนวนผู้