กว่า 200 ปี ที่ชาวลัวะอพยพเข้ามาตั้งรกรากในบ้านสันต้นแหน ต.แม่คือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ และประกอบอาชีพอย่างหลากหลาย ทั้งรับจ้างทั่วไป ทำการเกษตร ทำสวน เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย หรือค้าขายบ้างเล็กๆ น้อยๆ โดยอาชีพหนึ่งที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้าน คือการทำ“โครงร่ม” หรือที่ในท้องถิ่นเรียกว่า“โครงจ้อง” แสดงถึงความชำนาญและฝีมือของชาวบ้าน ในการกลึงหัวจ้อง จนเป็นหมู่บ้านหลักที่ส่งโครงจ้องไปยังหมู่บ้านบ่อสร้าง และมีการสืบอาชีพต่อกันเรื่อยมาหากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้เด็กรุ่นใหม่ออกไปเรียนหนังสือและทำงานนอกหมู่บ้าน เหลือคนแก่กับเด็กเล็กไว้ในท้องถิ่น อาชีพเกษตรกรรมก็เริ่มสูญหาย แม้กระทั่งพืชผักสวนครัวก็ต้องซื้อกินจันทร์เพ็ญ ไชยเทพ ผู้รับผิดชอบโครงการร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่บ้านสันต้นแหน หมู่ 3 เล่าว่า ก่อนหน้านี้ใครจะปลูกผักในบ้าน ก็คิดกันว่าซื้อกินแค่มัดละ 5 บาท ถึงขนาดพูดกันเล่นๆ ว่า ผัก 1 มัด ใช้ปาหัวคนก็แตก เอาเวลาไปนั่งเย็บผ้า หรือทำงานอย่างอื่นดีกว่า ทุกคนมัวแต่ไล่ล่าหาเงิน แล้วนำเงินมาซื้อของกิน กว่าจะรู้ตัวหลายคนก็เป็นมะเร็งลำไส้ เบาหวาน ความดัน มีสารพิษตกค้างในเลือด อันเป็นที่มาของความตืนตระหนก และเกิดความต้องการผักปลอดสารเคมี จึงเข้าร่วมเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของพัฒนาชุมชน มีการทำบัญชีครัวเรือน เพื่อหาทางลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้ รวมถึงปรับพฤติกรรมในการกิน ชาวบ้านบางรายที่เริ่มหันมาปลูกผักไว้กินเอง แต่ยังเป็นการปลูกแบบสะเปะสะปะ คิดอยากปลูกอะไรก็ปลูกทันที ไม่เตรียมการล่วงหน้า ผลผลิตที่ได้ก็ไม่ค่อยดี ซ้ำข้อจำกัดด้านงบประมาณ ยังทำให้การขยายผลช้า แกนนำหมู่บ้านจึงได้หารือกัน และสมัครเข้าโตรงการร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ ของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมต่อเนื่อง ขยายผลให้ครอบคลุมทั้งหมู่บ้าน♣ ฟื้นฮีตเก่า ดำหัวคนเฒ่าคนแก่
สำหรับการสำรวจเก็บข้อมูลในชุมชนนั้น จันทร์เพ็ญบอกว่าวันที่ 16 เมษายน ของทุกปี จะมีการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ซึ่งย้อนอดีตในวัยเด็ก ลูกหลานต้องหาบสาแหรกที่บรรจุข้าวของไว้ดำหัวผู้ใหญ่ที่นับถือ ตามหลังพ่อแม่ไปกราบไหว้ญาติผู้ใหญ่ทั่วหมู่บ้าน หากภาพดังกล่าวกลับเลือนหายไปตามกาลเวลา ในที่ประชุมของคณะกรรมการหมู่บ้านจึงเกิดแนวคิดรื้อฟื้นการแห่ฆ้องกลอง และหาบสาแหรกไปดำหัวผู้สูงอายุ ระหว่างนั้นก็ถือโอกาสสำรวจข้อมูลของหมู่บ้าน ซักถาม ทักทายกับชาวบ้านไปด้วย เพราะปกติพวกเขาจะออกไปทำงานตั้งแต่เช้า โอกาสพบปะ หรือลงสำรวจข้อมูลในช่วงเวลาอื่นๆ ทำได้ค่อนข้างยากซึ่งจากการพูดคุยพบว่าชาวบ้านมีใจเต็มร้อย อยากเข้าร่วมประชุมและกิจกรรมที่จะจัดขึ้นทุกครั้ง แต่ปัญหาคือส่วนใหญ่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ จึงต้องปรับเวลาในการประชุม หรือทำกิจกรรมให้ตรงกับวันหยุดเป็นหลัก“จากช่วงแรกๆ ที่แกนนำ ร่วมกับครัวเรือนของยายเงิน ลุงมี ลุงออน และป้าหลง ที่ชอบปลูกผักเพาะกล้าพันธุ์พืชแจกให้ชาวบ้าน โดยเน้นว่าแต่ละครัวเรือนไม่จำเป็นต้องปลูกทุกอย่าง ปลูกแค่ 1-2 อย่าง แต่ในภาพรวมของหมู่บ้านให้มีพืชผักที่หลากหลาย เมื่อผักโตก็แบ่งกันกิน ถ้าเหลือจากกินถึงจะขาย มาถึงตอนนี้ มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการมากกว่า 100 ครัวเรือน และบางหลังคาเรือนปลีกเวลามาร่วมทำกิจกรรมในโครงการไม่ได้ ก็มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้พื้นที่ว่างภายในบ้านปลูกผักไว้กินเองเช่นกัน” ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวล่าสุดจึงได้ขอใช้พื้นที่โรงเรียนร้าง 1 ไร่ครึ่ง ทำแหล่งเรียนรู้ชุมชน และตลาดสีเขียว ในชื่อ“ตลาดประชารัฐชุมชนบ้านสันต้นแหน” ไว้แลกเปลี่ยนสินค้า เพราะเชื่อว่าถ้ามีตลาดใกล้ชุมชน ชาวบ้านจะปลูกพืชผักปลอดสารเคมีมากขึ้น ช่วยลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี♣ ทำสวนครัวกลาง ทุกคนมีสิทธิเก็บกิน
สุภชัย ไชยเทพ ผู้ใหญ่บ้านสันต้นแหน และหัวหน้าโครงการ อธิบายว่านอกเหนือจากการปลูกผักในครัวเรือน ยังมีพื้นที่ส่วนกลางร่วม 200 ตารางวา ที่คนต่างถิ่นซื้อไว้ แล้วปล่อยให้รกร้างจนเกิดไฟไหม้ทุกปี ทางสภาผู้นำชุมชนจึงขอให้นายกเทศมนตรีตำบลแม่คือ ติดต่อขออนุญาตใช้พื้นที่จากเจ้าของที่ดิน และนำมาทำสวนครัวชุมชน บางบ้านที่ไม่มีพื้นที่ปลูกผัก หรือบางคนไม่มีเวลา แต่มีเมล็ดพันธุ์ เช่น พริก ฟัก แตงกวา ถั่วฝักยาว มะเขือ ผักบุ้ง ขี้หูด คะน้า ผักกาด บวบ ผักไผ่ ผักชี โหระพา คื่นช่าย รวมถึงผลไม้ อย่างกล้วย มะละกอ แก้วมังกร ฯ ก็นำมาลงไว้ที่นี่ ชาวบ้านช่วยกันขึ้นแปลงปลูกถึง 50 แปลง และผลัดเปลี่ยนกันมาดูแล เมื่อพืชผักงอกงาม ทุกคนในหมู่บ้านก็สามารถมาเก็บกินได้ หรือหากมีมากจนเหลือขาย ก็จะเก็บไว้เป็นเงินกองกลาง เพื่อนำมาซื้อน้ำมันให้คนตัดหญ้าในปีที่ผ่านมาเกิดภัยแล้งอย่างหนัก พืชผักของชาวบ้านและสวนครัวกลางได้รับผลกระทบ ไม่มีน้ำหล่อเลี้ยง บ่อน้ำธรรมชาติแห้งขอด ชาวบ้านต้องสำรองน้ำในถัง และทำบ่อขนาดเล็กไว้ที่สวนครัวกลาง โดยใช้พลาสติกปูรองทั้งบ่อ ป้องกันน้ำไหลซึมออก ขณะเดียวกันก็ใช้นวัตกรรมจักรยานวิดน้ำ ที่ไปศึกษาดูงานจาก อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ มาช่วยในการดึงน้ำในบ่อไปรดพืชผัก แล้วเติมน้ำใหม่เข้าไปแทน ป้องกันการเกิดน้ำเน่าเสีย และเมื่อผักสวนครัวรุ่นแรกหมด ก็เปลี่ยนจากการปลูกในดินขึ้นมาใส่ในกระถาง หรือภาชนะ เพื่อประหยัดน้ำ และสะดวกในการดูแล“นอกจากนี้ ชาวบ้านยังนำ“แฮ้ว” หรือ “แร้ว” อันเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านในการล่ามวัว-ควาย ไม่ให้เชือกพันหลัก มาประยุกต์ใช้กับการดึงน้ำในบ่อมารดน้ำผักได้อีกด้วย และไม่เพียงแค่ปลูกผักสวนครัว ในโครงการยังมีการทำปุ๋ยหมักจากซากฟาง ใบไม้ ขี้วัว ที่ชาวบ้านนำมากองรวมกันไว้ พอยุ่ยสลายก็ใส่ตะกร้าปลูก หรือนำไปบำรุงผักสวนครัว ซึ่งในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เมื่อชาวบ้านบริโภคพืชผักที่ปลูกเอง ก็พบว่าอาการป่วยไข้ เช่น ปวดท้อง เป็นไข้ ภูมิคุ้มกันต่ำ ที่ต้องไปรักษาในโรงพยาบาลลดลง เช่นเดียวกันคนรุ่นใหม่ที่เป็นความดัน เบาหวาน น้อยลง” สุภชัย กล่าว ♣ ปลูกผักกินเอง เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งกาย-ใจ
“ป้าหลง” ลินดา สรรพสิทธิ์ เจ้าของครัวเรือนต้นแบบ 1 ใน 10 หลังคาเรือนของบ้านสันต้นแหน บอกว่า เมื่อก่อนเคยทำงานนวดแผนโบราณ และนวดประคบ แต่ระยะหลังสุขภาพไม่เอื้ออำนวย รู้สึกปวดเข่า และมีไขมันในเลือดสูง ประกอบกับภาระในการหาเงินส่งลูกเรียนหนังสือหมดแล้ว จึงหยุดมาปลูกผักอยู่กับบ้าน โดยพยายามปลูกทุกอย่างที่หาเมล็ดพันธุ์ได้ ทำปุ๋ยชีวภาพไว้ใช้เอง ก็พบว่าสุขภาพที่ทรุดโทรมเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ“วันไหนรู้สึกจะเป็นไข้ พอขุดดินทำสวน อาการจะหายไป หรือเจ็บคอก็กินสมุนไพรฟ้าทลายโจร และรางจืด ที่ปลูกไว้เอง ไม่ต้องไปหาหมอ สุขภาพจิตก็ดีขึ้นจากการเฝ้าประคบประหงมพืชผัก เมื่อออกดอกออกผล จะรู้สึกดีใจมาก นำไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านได้ ชีวิตไม่เงียบเหงา ทั้งยังได้ความรู้ใหม่ในการขยายพันธุ์ผักไผ่ ที่ปกติมักถูกปล่อยให้ขึ้นสูงจนออกดอกแล้วตาย ในการทดลองขยายพันธุ์ด้วยวิธีตัดมากปักชำในขวดแก้ว 4-5 วันก็มีรากใหม่งอกขึ้นมา สามารถนำไปปลูกในดินได้” ป้าหลง ย้ำถึงผลดีที่ได้จากการปลูกผักนับเป็นการน้อมนำพระราชดำรัสหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดชมาใช้ เพราะชาวบ้านสันต้นแหนตระหนักดีว่าการตั้งหน้าตั้งตาหาเงินอย่างเดียว ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ เมื่อไม่สบายไปหาหมอที่โรงพยาบาล จะเสียทั้งเงินและเวลา ตรงกันข้ามหากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้เวลาแค่ 1 ชั่วโมง ปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง แล้วเจียดแบ่ง 5-10 นาทีต่อวัน ในการรดน้ำ พรวนดิน ก็จะเป็นการออกกำลังกาย ได้ทั้งสุขภาพที่ดี และช่วยประหยัดรายจ่ายในครัวเรือน.