เชียงใหม่ (2 พ.ค.58) / กมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง เปิดเวทีระดมความเห็นหมอกควัน-เกษตรพันธะสัญญา พบเกษตรกรทั่วไทยกว่า 4 แสนครัวเรือนเข้าระบบพันธะสัญญา-หนี้สินท่วม เพราะขาดอำนาจต่อรอง ส่วนด้านพืชยังรุกป่าขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพด เพิ่มวิกฤติหมอกควัน กระทบต่อสังคม สูญรายได้ทางเศรษฐกิจ แนะออกกฎหมายคุ้มครอง-ให้ความเป็นธรรม
เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการประชุมเรื่อง “การปฏิรูปเศรษฐกิจไทยและระบบเกษตรพันธะสัญญา” โดยมีนายสมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง เป็นประธาน และมีผู้เข้าร่วมเสนอความคิดเห็นทั้งภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายประชาสังคมเชียงใหม่
นายชัดชาญ เอกชัยพัฒนกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันป่าต้นน้ำถูกนำไปเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดถึง 3 ล้านไร่ และ อ.แม่แจ่ม เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเมื่อเก็บผลผลิตจะได้ไม่ถึงไร่ละครึ่งตัน จึงไม่มีความคุ้มทุนในทุกๆ ด้าน เพราะการที่ผืนป่าหายไป ทำให้แหล่งน้ำ อ่างเก็บน้ำแห้ง ไม่เพียงพอต่อการใช้อุปโภคบริโภคของคนในสังคม
“สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือการให้เอกสารใดๆ แก่คนที่ทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติ หรือป่าสงวน ต้องพิจารณาให้รอบคอบ โดยพื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 600 เมตรขึ้นไป ไม่ควรให้ปลูกข้าวโพดและอย่าให้เอกสารสิทธิ์เด็ดขาด ซึ่งชนเผ่าอาจถามว่าพวกเขาผิดหรือที่เกิดบนดอย จริงๆ แล้วในสมัยอดีตครอบครัวหนึ่งๆ ถางป่าแค่ 10 ไร่ เพื่อทำกิน แต่ปัจจุบันครอบครัวหนึ่งถางเป็น 100 ไร่ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตข้าวโพด จะได้มีเงินซื้อรถยนต์กระบะรุ่นใหม่ แถมในกระบวนการผลิตยังใช้ยาฆ่าหญ้าด้วย ทั้งนี้ในแนวทางจัดการห้ามปลูกบนดอยสูงอาจทำไม่ได้ทันที อาจต้องใช้เวลาสัก 2 ปี ในการขอคืนพื้นที่ป่าต้นน้ำ และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นๆ ที่มีรายได้ดีทดแทน” รองประธานสภาอุตฯ เชียงใหม่ กล่าว
ด้านนายโชคสกุล มหาค้ารุ่ง เกษตรกรที่เคยเลี้ยงหมูในระบบพันธะสัญญา กล่าวว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรพันธะสัญญากว่า 4 แสนรายทั่วประเทศ และส่วนใหญ่มีหนี้สินตั้งแต่ 5 แสนบาท-8 ล้านบาท จึงอยากให้คณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ เปิดลงทะเบียนผู้เสียหายทั่วประเทศด้วย
ดร.ทิพวรรณ ประภามณฑล นักวิจัยอาวุโสหน่วยวิจัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากงานวิจัยพบว่าเมื่อฝุ่นควันขนาดเล็กเข้าไปในปอดแล้วออกมาไม่ได้ จะก่อให้เกิดมะเร็ง ซึ่งสารพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ชีวมวล เช่น การเผาขยะ จะเกิดสารก่อมะเร็งถึง 8 ชนิด จาก 16 ชนิด ซึ่งในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา มีการตรวจปัสสาวะเด็กอนุบาลในพื้นที่ 5 อำเภอที่พบว่ามีฝุ่นควันสูงเกินมาตรฐาน คือ แม่แจ่ม อมก๋อย ฮอด เชียงดาว และพร้าว พบสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเจือปนในปริมาณมาก
นายอุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวว่า การผลิตในระบบเกษตรพันธะสัญญาขยายจากสัตว์ไปสู่พืช ทำให้มีเกษตรกรในระบบไม่น้อยกว่า 4 แสนครัวเรือน และทัศนะของสังคมมีส่วนกดทับเกษตรกรกลุ่มนี้ เช่น มองว่าถ้าสัญญาไม่เป็นธรรม ขาดทุนแล้วทำไมถึงยอมเซ็น ซึ่งเกษตรพันธสัญญาเป็นที่รับรู้เฉพาะการบริหาร supply สินค้าเกษตร ยังขาดในเรื่องการแบกรับความเสี่ยงของเกษตรกร อาทิ เกษตรกรต้องรับในเรื่องต้นทุนค่าไฟ ค่าสถานที่ ค่าแรง โรงเรือน/อุปกรณ์ ขออนุญาต/ประชาคม พลังงาน วัสดุ ค่าอาหาร ซึ่งพวกเขาไม่มีโอกาสต่อรองกับผู้ประกอบการบริษัทใหญ่เลย
“เมืองไทยขาดหน่วยงานรับผิดชอบพันธะสัญญาโดยตรง ขาดการดูแลความสัมพันธ์การผลิตระหว่างเกษตรกรกับการลงทุน ไม่มีหน่วยงานและกฎหมาย สภาพของเกษตรกรจึงเหมือนรับงานมาทำที่บ้าน บริษัทบอกว่าไม่ได้ควบคุมการทำงานของเกษตร แต่ให้ทำตามที่แนะนำ สถานะคือคู่สัญญาที่เหลื่อมล้ำกับผู้ประกอบการบริษัทใหญ่ ซ้ำยังขาดธรรมาภิบาลในระบบสินเชื่อของธนาคาร ผจก.สาขา รู้ว่าเกษตรกรไม่มีรายได้พอที่จะส่ง แต่ธนาคารไม่เดือดร้อน เพราะเอารายได้ส่งธนาคาร เหลือเท่าไรเกษตรกรจึงจะได้รับไปเท่านั้น เรียกว่าเกษตรกรโดน 2 รุม 1 คือ ธนาคารและบริษัท โดยมีรัฐร่วมซ้ำเติม” นายอุบล อธิบาย
เกษตรกรแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดจึงยากที่จะจัดการ ขณะที่ประสิทธิภาพอยู่ในความควบคุมของบริษัท ในเรื่องไข่ไก่ล้นตลาด พบว่าบริษัทมีมาตรการให้เกษตรกรให้ยาไก่กิน ทำให้ไข่ลดลง แต่เกษตรกรยังต้องทำงาน และแบกค่าอาหารไก่เท่าเดิม เป็นความสัมพันธ์ที่วิทยาศาสตร์ทำงานกับสิ่งมีชีวิต จึงเสนอว่าระบบการผลิตต้องมีกลไกลางดูแลจนถึงระดับท้องถิ่น
เช่นเดียวกับข้าวโพด ในทางหลักการ รัฐไม่น่ายอมให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสาธารณะ ประเทศไม่น่าจะยอมให้เกิดผลแบบนี้ เป็นต้นทุนภายนอกที่สังคมต้องแบกรับการผลิต พื้นที่ลาดชันต้องเป็นพืชท้องถิ่นที่หลากหลาย ประเทศไทยจะสิ้นหนทาง ซึ่งถ้าเอาความสุขเกษตรกรในที่สูง และสังคมโดยรวมเป็นที่ตั้ง ผลที่ออกมาย่อมไม่ใช่ข้าวโพดแน่นอน
นายไพสิฐ พานิชกุล อาจารย์สาขานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเสริมในเรื่องเดียวกันว่า เกษตรพันธะสัญญา คือการสะท้อนวงจรความเหลื่อมล้ำ เป็นการทำให้ทรัพย์สินในระบบกลายเป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยจากข้อมูลที่ปิดลับ พบว่า ความเข้าใจเรื่องเกษตรพันธะสัญญาเดิมไปให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการผลิต จนขาดความเป็นธรรม ใช้ข้อมูลลำเอียง นำไปสู่การมองภาพที่ผิด
“ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่นำไปสู่ภาคปฏิบัติ ในเรื่องของหมอกควันและเกษตรพันธสัญญา สะท้อนการมองเห็นของภาครัฐ ที่ไม่ดูปัญหามองแต่นโยบาย การให้ความสำคัญตัวชี้วัดให้เฉพาะช่วงที่พีค ขณะที่บทบาทสื่อมวลชนทำให้เข้าใจปัญหาหมอกควัน และเกษตรพันธสัญญาไขว้เขวไปจากเรื่องที่เป็นอยู่ ทำให้รากปัญหาไม่ไปสู่รากปัญหาจริงๆ” อาจารย์สาขานิติศาสตร์ กล่าวและว่า
สาเหตุที่แท้จริงของเกษตรพันธสัญญา เกิดจากธุรกิจอาหารที่ผูกขาด กำไรของบริษัท จึงเท่ากับ หนี้สิน + ต้นทุนทางสังคม (social cost) ใช่หรือไม่ ซึ่งถ้าตอบได้จะชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมทันที ซึ่งปัจจุบันข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกำไรบริษัท เกิด social cost ที่เริ่มเห็น เช่น ในค่ารักษาพยาบาลของคนใน จ.เชียงใหม่ ซ้ำยังขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ขาดระบบฐานข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจ ต่อต้นตอปัญหาที่แท้จริง รวมถึงการขาดความเข้าใจร่วมกันของภาคสังคม ดังนั้นจึงมีข้อเสนอในทางกฎหมาย คือ ทั้งมาตรการและอื่นๆ ต้องออกในรูปกฎหมายว่าควรจะมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบอร์ดระดับชาติ เช่น ผู้ว่าฯ พะเยา จับมือกับท้องถิ่นและเกษตรกรในการแก้ไขปัญหา เพราะปัญหาแก้ได้และมีทางออก
นอกจากนี้ จะทำอย่างไรที่จะให้ภาคเกษตร หรือเกษตรกรที่กลัวอยู่สามารถลุกขึ้นมารวมกลุ่ม เป็นผลจากส่งเสริมอุตสาหกรรมทำให้เกษตรกรอ่อนด้อยลง ไม่กล้าลุกขึ้นพูดถึงสิทธิที่ขาดไป เช่น การรวมกลุ่มเมล็ดพันธุ์ การรักษาภูมิปัญญาความรู้ในชุมชนท้องถิ่นที่ควรจะอยู่ได้ในระบบเศรษฐกิจ ต้องมีกฎหมายคุ้มครองสัญญาประเภทนี้ ไม่ใช่ปล่อยให้เกษตรกรจำยอม ไม่ฟ้อง ในวัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์ ไม่เชื่อว่าบริษัทจะโกง ต้องมีกฎหมายคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ทำกลไกของภาครัฐให้สามารถพัฒนาพื้นที่ได้
นายผทัยรัตน์ ภาสน์พิพัฒน์กุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาเกษตรพันธะสัญญาที่พ่วงไปสู่หมอกควัน ทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ทั้งด้านสุขภาพ และการท่องเที่ยว โดยในปี 55 จ.เชียงใหม่ มีผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจถึง 8,694 คน และมีผู้ป่วยนอกอีก 2.46 แสนคน เพิ่มขึ้นจากสถิติปีก่อนหน้านี้
“มองให้ลึกซึ้ง จะพบว่าเกษตรกรได้กำไรจากข้าวโพดสุทธิแค่กิโลกรัมละ 1 บาท แต่ความเสียหายด้านสุขภาพ ตีเป็นตัวเลขได้ถึง 3 พันล้านบาท ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวเกษตรกรที่ป่วย แต่คนทั่วไปในสังคมก็ได้รับผลกระทบด้วย ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าภาคเหนือมีรายได้จากการท่องเที่ยวปีละ 1 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ เชียงใหม่รับถึง 53,000 ล้านบาท คิดเป็น 147 ล้านบาท/วัน แต่ในช่วงเกิดวิกฤติหมอกควัน ยอดจองโรงแรมลดลงถึง 50% สูญเสียรายได้ไปถึง 2,200 ล้านบาท และรัฐก็สูญเสียรายได้ 7% ที่จะได้จากส่วนนี้ด้วย ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาจึงไม่ใช่แค่การดับไฟ แต่ต้องดับเหตุของการเกิดไฟด้วย” อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ กล่าว
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงแนวทางออกของปัญหาเหล่านี้ว่าความหวังกำลังจะมา ในรัฐธรรมนูญมีมาตรการที่ตอบโจทย์ ใน ม.293 เรื่องคุ้มครองเกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรมจากการผูกขาดทางการเกษตร และตรากฎหมายให้เกิดระเบียบที่สร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกรทุกคน
ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น โฉนดชุมชน ป่าชุมชน ก็มีใน อนุ ม.2 ของ ม.293 การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ซึ่งในเรื่องเกษตรพันธะสัญญาโดยตรง จะหารือกับนายสมชัย ฤชุพันธุ์ ในการจัดทำกฎหมายกลางเรื่องเกษตรพันธะสัญญา สร้างสัญญากลางที่เป็นธรรมให้เกิดความสัมพันธ์ของคนตัวใหญ่และตัวเล็ก เป็นกฎหมายที่เปลี่ยนความสัมพันธ์ให้สมดุลมากขึ้น เกิดความเป็นธรรมกับทุกคนและตอบโจทย์ของทั้ง 2 ฝ่าย มีองค์กรกลาง และกระบวนการฟื้นฟูให้กับผู้เสียหาย พร้อมสร้างข้อเสนอในสมาคมธนาคารไทย และสภาหอการค้าไทย ทำตัวอย่างพื้นที่ 1 ไร่ 1 แสน เป็นการเริ่มต้นแก้ไขเชิงนโยบายอย่างแท้จริง
ในช่วงท้ายของการประชุมนายสมชัย ได้สรุปว่าจากปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับเกษตรพันธะสัญญา และหมอกควัน ประเด็นได้ขยายไปสู่การคืนผืนน้ำและผืนป่าให้ภาคเหนือและประเทศไทย การเปลี่ยนหมอกควันเป็นหมอกที่โรแมนติก ให้ภาคเหนือเป็นท้องถิ่นงดงามตามที่เคยเป็นมาก่อน ค้นพบจุดร่วมที่มีขัดแย้งน้อยและเป้าหมายร่วมกันเพื่อแก้ปัญหา และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
อย่างไรก็ตามอย่าชะล่าใจว่า สิ่งที่อยู่ในรัฐธรรมนูญจะได้รับการปฏิบัติ เมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วก็ยังต้องช่วยกันต่อไป ให้สิ่งที่เขียนในรัฐธรรมนูญได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง.