ข้อมูลสุขภาพปี 2558 พื้นที่อำเภอตรอน จ.อุตรดิตถ์ โดยโรงพยาบาลตรอน พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งจำนวน 22 ราย โดย 17 รายเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือชาวบ้านจากตำบลบ้านแก่ง กับตำบลวังแดง ซึ่งมีการทำนามากที่สุด
เมื่อหาต้นตอของการเกิดโรคมะเร็งปอดของผู้เสียชีวิต พบว่า สาเหตุไม่ได้เกิดจากการสูบบุหรี่ ขณะเดียวกันผู้เสียชีวิตทั้งหมด คือ เกษตรกร
ข้อมูลดังกล่าว ทำให้โรงพยาบาลตรอนค้นหาสาเหตุ ได้พบข้อสันนิษฐานหนึ่ง ว่าพื้นที่ตำบลบ้านแก่ง อ.ตรอน เป็นพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญของ จ.อุตรดิตถ์ โดยเฉพาะข้าว หอม กระเทียม และพืชผัก การเพาะปลูกส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาสารเคมี ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เป็นจำนวนมาก และนี่อาจส่งผลต่อสุขภาพของชาวบ้าน จากปัญหาดังกล่าว ทางโรงพยาบาลตรอนจึงได้คืนข้อมูลให้ชุมชน จนทำให้ทุกคนในพื้นที่รู้สึกว่า จะนิ่งเฉยเหมือนแต่ก่อนไม่ได้อีกแล้ว ดังนั้นผู้นำชุมชนและชาวบ้านจึงคิดหาทางออกในการลดการใช้สารเคมี และสร้างความตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับร่างกาย
เหตุนี้ชุมชน 3 หมู่บ้านในตำบลบ้านแก่ง คือ หมู่ที่ 4 บ้านหมู่ห้าสามัคคี หมู่ 6 บ้านพงสะตือ และหมู่ที่ 8 บ้านหนองบัวแดง ได้เข้าร่วมโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเริ่มจากการส่งเสริมชาวบ้านปลูกผักปลอดสารไว้รับประทานในครัวเรือน เพื่อมุ่งหวังให้ทุกคนมีสุขภาพดีและสร้างชุมชนให้น่าอยู่นายกรณ์ภัสสรณ์ นาคคชสีห์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่.4 กล่าวว่า หลังหมดฤดูกาลทำนาชาวบ้านจะนิยมปลูกผักตามฤดูกาลไว้ตามหัวไร่ปลายนาและในครัวเรือนบ้าง เช่น คะน้า พริก กะเพราพริก ข้าวโพด มะเขือ ฯลฯ แน่นอนว่ามีการใช้สารเคมีด้วยเช่นกัน จนวันหนึ่งได้ทราบข้อมูลจึงคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะลดการใช้สารมีลงให้เหลือน้อยที่สุด หรือให้เป็นศูนย์เลยยิ่งดี เมื่อได้เห็นโครงการของ สสส. จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ เพราะมุ่งหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้น และจุดประกายให้ชาวบ้านหันมาตระหนักและใส่ใจในการลดใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรมอย่างจริงจัง
การเข้าร่วมโครงการของทั้ง 3 หมู่บ้าน ได้ดำเนินการตามรูปแบบที่ สสส.กำหนด คือเริ่มจัดตั้งสภาผู้นำชุมชนของตัวเองขึ้นมาขับเคลื่อนโครงการ ซึ่งแต่เดิมโครงการสร้างสภาผู้นำจะเป็นไปในลักษณะผู้นำทางตำแหน่งราชการ เมื่อรับเรื่องจากส่วนกลางหรือทางจังหวัดก็นำสารบอกต่อกับลูกบ้าน ไม่มีการประชุมหรือระดมความเห็น ลูกบ้านก็แทบจะไม่ได้ออกปากออกเสียงแสดงความคิดเห็น “เราจึงรื้อใหม่หมด มาสร้างสภาผู้นำชุมชนขึ้น โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ หัวหน้าคุ้ม ชาวบ้าน กลุ่มเครือข่าย กลุ่มเด็กและเยาวชน จำนวน 50 คนร่วมเป็นคณะทำงานในสภาผู้นำชุมชน เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน มีโครงสร้างการบริหารชัดเจน เป็นรูปธรรม มีคณะกรรมการทำงานชัดเจน แบ่งหน้าที่กันทำงาน ทำให้การขับเคลื่อนงานในชุมชนมีความคล่องตัวและสะดวกมากขึ้น” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 กล่าว
ขณะที่ นายสมรส มั่นกำเนิด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 กล่าวเสริมว่า สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยให้งานง่ายขึ้น คือการนำข้อมูลของชุมชนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เมื่อเข้าร่วมโครงการก็ชวนชาวบ้านปลูกผักปลอดสารพิษ ปรากฏว่าได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านดีมาก อย่างหมู่บ้านพงสะตือที่ตนเป็นผู้ใหญ่บ้าน จากเดิมตั้งเป้าว่าจะต้องมีคนเข้าร่วม 120 ครัวเรือนจากทั้งหมด 191 ครัวเรือน แต่สุดท้ายมีถึง 184 ครัวเรือนที่หันมาปลูกผัก “ส่วนมากชาวบ้านเน้นหนักไปในการทำนา จึงไม่ค่อยได้สนใจที่จะปลูกผักไว้กิน แต่เดี๋ยวนี้คนที่ทำนาก็จะต้องมีแปลงผักของตัวเอง ซึ่งเรามีการตกลงร่วมกันว่าแต่ละบ้านต้องมีแปลงผักอย่างน้อยหนึ่งแปลงและต้องปลูกอย่าต่อเนื่องตลอดทั้งปี” ผู้ใหญ่บ้านพงสะตือ กล่าว
ผลของการดำเนินโครงการตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา พบเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ชาวบ้านมีความสามัคคีกันมากขึ้น มีโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้นในชุมชน อย่างเช่นที่บ้านชำทอง หมู่ 8 ชาวบ้านได้รับความอนุเคราะห์จากวัดให้พื้นที่จำนวน 13 ไร่ เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านได้มีพื้นที่ปลูกผัก มีสระน้ำไว้ให้พร้อม ซึ่งทุกคนจะแบ่งปันพื้นที่ปลูกพอประมาณ ไม่มากและไม่น้อยพอปลูกเพื่อเก็บกินในครัวเรือนหรือนำไปขายได้บ้าง และทางโรงพยาบาลตรอน และ ธกส. สาขาตรอน ก็ได้สนับสนุนเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในหน่วยงานได้ด้วย เงินที่ขายได้ก็ถูกหักเข้าส่วนกลางในอัตรา ร้อยละ 1 เพื่อนำมาเป็นกองทุนด้านสาธารณประโยชน์ต่อไป นอกจากนี้ผลของโครงการ ยังทำให้เกิดการแปลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้ชุมชนมองเห็นสิ่งที่มีคุณค่าในชุมชน จนเกิดวิทยากรชุมชน เพราะในอดีต การจะอบรมครั้งหนึ่งก็ต้องเชิญวิทยากรจากที่อื่นมาให้ความรู้ พอจบแล้วเหลือแต่องค์ความรู้ วิทยากรก็ออกไป ไม่มีความต่อเนื่องๆ แต่ตอนนี้ทุกวันนี้ในตำบลบ้านแก่งได้ทั้งองค์ความรู้และวิทยากรอยู่ในพื้นที่ สร้างความต่อเนื่องได้ เกิดเป็นเครือข่ายคนสามวัยร่วมกันขับเคลื่อนชุมชน
“เรามุ่งหวังให้กระบวนการเหล่านี้ค่อยๆ แทรกซึมลงไป ในการปรับลดการใช้สารเคมี ซึ่งนอกจากเริ่มต้นที่แปลงผักแล้ว เรามุ่งหวังให้เป็นจุดเริ่มต้นในการทำให้เกษตรกรรมแปลงใหญ่ลดการใช้สารเคมีด้วย และด้วยการขับเคลื่อนของสภาผู้นำชุมชนที่มาจากทุกภาคส่วน การลดใช้สารเคมีและการสร้าวชุมขนให้น่าอยู่ก็จะยังคงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป” นายเผด็จ รัตนมาโต ประธาน อสม.บ้านชำทอง หมู่ 8 กล่าว ความเข้มแข็งของชาวบ้านจนทำให้การทำงานบรรลุตามเป้าหมาย ส่วนหนึ่งก็มาจากข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐที่ส่งต่อ จนเป็นแรงกระตุ้นให้ชาวบ้านหาข้อมูลเพิ่มเติม จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของชุมชนในที่สุด
ดร.ปราดา ชมพูนิตย์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการโรพยาบาลตรอน ที่ปรึกษาโครงการฯ ของทั้ง 3 หมู่บ้าน กล่าวว่า จากผลสำเร็จโครงการ จนทำให้ชาวบ้านเข้มแข็ง คิดเองได้ เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่น่ายินดียิ่งกว่า เมื่อชาวบ้านได้ต่อยอดไปถึงองค์ความรู้ในด้านสุขภาพด้านอื่นๆ เช่น การทานรสหวาน มัน เค็ม อันเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ซึ่งขณะนี้ได้มีการรณรงค์กันเองภายในชุมชนบ้างแล้ว “แนวคิดของการโครงการทั้ง 3 หมู่บ้านนี้ ถือว่าเป็นของดีของเราที่สามารถเอาไป “โชว์ แชร์ เชื่อม” ในเวทีสุขภาพได้ทุกระดับ” ดร.ปราดา กล่าวและย้ำว่า ขณะนี้เตรียมขยายผลโครงการไปยังอีก 7 หมู่บ้าน เพื่อให้ตำบลบ้านแก่ง เป็น แหล่งผลิตอาหารปลอดภัย ครอบคลุมทั้งตำบล ซึ่งสอดคล้องกับนโนบายของทาง สสจ.อุตรดิตถ์ ที่ตั้งเป้าให้อำเภอตรอน เป็นศูนย์การเรียนรู้ให้แก่ 8 อำเภอที่เหลือของ จ.อุตรดิตถ์ ด้วย
การเริ่มต้นปลูกผักปลอดสารพิษในครัวเรือนที่ถือเป็นกิจกรรมอย่างง่ายๆ จนทำให้ชาวบ้านหันมาสนใจในการดูแลรักษาสุขภาพด้วยเรื่องใกล้ตัว และต่อยอดสู่การร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ถือเป็นความสำเร็จที่น่าเรียนรู้อย่างยิ่ง