บทเรียน 10 ปีแห่งการเรียนรู้ ดอนแก้วน่าอยู่ เพราะ”คน”มีส่วนร่วม

บทเรียน 10 ปีแห่งการเรียนรู้ ดอนแก้วน่าอยู่ เพราะ”คน”มีส่วนร่วม

มื่อ 10 ปีก่อน องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดกลางที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่มากนัก ชาวบ้านอยู่อย่างสมถะ ทำมาหาเลี้ยงชีพตามรอยบรรพบุรุษ บางครอบครัวก็มีอาชีพรับราชการ เพราะมีค่ายทหารขนาดใหญ่อยู่ติดชุมชน หลายๆ ครั้งที่อบต.ดอนแก้วชักชวนชาวบ้านให้มีส่วนร่วมกับกิจกรรม ก็พบว่าชาวบ้านจะเงียบๆ ไม่แสดงออกใดๆ ไม่กล้าคิด และไม่กล้าตัดสินใจ เรียกว่าให้ความร่วมมือ แต่ให้พูดหรือนำเสนอไม่ค่อยเป็น กระบวนการ คิดไม่เป็นระบบจะพูดเฉพาะกิจกรรมที่ทำเฉพาะหน้าเท่านั้นปัจจุบัน อบต.ดอนแก้ว ไม่ได้มีภาพของผู้คนเหนียมอายเหมือนในอดีตอีกแล้ว หลังจากเข้าร่วมกับแผนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ขับเคลื่อนโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม สร้างให้ชุมชนเข้มแข็งอยู่ดีมีสุขมาตั้งแต่ปี 2552

ตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมาจึงเป็นทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงของตำบลดอนแก้วอย่างแท้จริง จนสามารถยกระดับตัวเองจากตำบลสุขภาวะ เป็นศูนย์จัดการเครือข่าย กระทั่งเป็น “มหาวิชชาลัย” ที่พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับพี่น้องเครือข่ายทั่วประเทศ

แต่กว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในระดับชุมชนได้ถึงขนาดนี้ อบต.ดอนแก้ว เริ่มต้นมาได้อย่างไรกันดอนแก้ว: หนุนคน-สร้างประสบการณ์

การเปลี่ยนแปลงเริ่มขึ้น เมื่อผู้บริหารของอบต.ดอนแก้ว ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดยเริ่มจากการฝึกอบรมคนในชุมชนให้เป็นวิทยากรชุมชนที่สามารถเชื่อมโยง ร้อยเรียงวิธีคิด วิธีพูดให้ได้ใจความ ซึ่งพื้นฐานของการฝึกคนให้มีประสบการณ์เช่นนี้ ทำให้อบต.ดอนแก้ว มีบุคลากรช่วยงานเต็มพื้นที่

“ตอนนี้ไม่ว่าใครที่เข้ามาเยี่ยมชมชุนชน จะเดินไปทางไหน ก็สามารถชี้ให้วิทยากรในชุมชนพูดได้หมด เพราะเขาเป็นคนที่ได้ทำกิจกรรมจริงๆ ผ่านการปฏิบัติ มีประสบการณ์ จึงคิดได้ ถ่ายทอดได้ สมกับที่เป็นครูสอนระบบคิด ไม่ใช่แค่วิทยากรถ่ายทอดกิจกรรม” ดร.อุบล ยะไวทย์ณะวิชัย อดีตปลัด อบต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ยืนยันดร.อุบล ทำหน้าที่เป็นปลัดอบต.ที่ดอนแก้วมายาวนานจึงเห็นความเป็นมาและเป็นไปของชุมชนมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องการมีส่วนร่วมและระบบคิดของชุมชน อย่าง ข่วงกำกึ้ด เป็นกระบวนการหนึ่งที่ชวนกันออกมานั่งล้อมวงคุย หรือถ้าใครมีอะไรดีๆ อยากจะเสนอหรือเล่า ก็เอาเข้าไปคุยกันในข่วง จนทุกวันนี้ข่วงกำกึ้ดได้กลายเป็นวิถีปฏิบัติของดอนแก้ว และเป็นจุดเริ่มของหลายกิจกรรม เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม เกิดขยะบุฟเฟ่ต์ ด้านคุณภาพชีวิต เกิดศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุและผู้พิการ เป็นต้น

“เราเริ่มจากคนใน อบต.ก่อน ให้พนักงานทุกคนในองค์กรมีดีเอ็นเอนี้อยู่ในตัว คนหนึ่งคนต้องทำงานเป็นอย่างน้อย 3 ด้าน อยู่กองช่างก็ไปช่วยงานสำนักปลัดได้ เป็นพิธีกรได้ คนอยู่กองคลังก็ไม่ใช่เก็บเงินหรือทำบัญชีอย่างเดียว ไปช่วยเป็นพิธีกร นักจัดกระบวนการได้ ส่งผลให้คนในองค์กรมีศักยภาพสูง จนนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่เสมอ และปัจจุบันดีเอ็นเอดอนแก้วก็กระจายไปถึงระดับชุมชนด้วยแล้ว” ปลัดอุบล เล่าขณะเดียวกัน ชุมชนดอนแก้วก็เพิ่มพูนความน่าอยู่มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยหลายองค์ประกอบ ตั้งแต่ความมีน้ำใจ ไม่ทอดทิ้งกัน เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน องค์ประกอบถัดมาคือการที่ชุมชนนำทุนและทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรบุคคล มาใช้ให้เกิดประโยชน์ จนช่วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพิงจากภายนอก

เมื่อบุคลากรมีศักยภาพ ชุมชนมีความพร้อม อบต.ดอนแก้วจึงยกระดับแหล่งเรียนรู้และองค์ความรู้ในชุมชนขึ้นมาเป็น “มหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข” เมื่อปี 2557 มีโครงสร้างหลักสูตร 4 วิชา คือ วิชาธรรมาภิบาล วิชาพัฒนาระบบข้อมูล วิชาการวางแผนและการพัฒนา วิชานโยบายสาธารณะ กับอีก 2 วิชาเลือก ได้แก่ วิชานวัตกรรมสุขภาพ และวิชานวัตกรรมส่งเสริมการพัฒนา“แม้ดอนแก้วจะเป็นชุมชนใกล้เมือง แต่เชื่อว่าชาวดอนแก้วจะสามารถดำรงวัฒนธรรมที่ดีงามต่างๆ ไว้ได้ในทศวรรษถัดไป เพราะคนในชุมชนได้ช่วยกันบ่มเพาะคนรุ่นถัดไปให้ซึมซับประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม พร้อมๆ กับการเรียนรู้และรับสิ่งใหม่ๆ ได้อย่างเหมาะสม” ปลัดอุบล ที่ทำหน้าที่เป็นอธิการบดีมหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข กล่าว

สำคัญที่คนและทุนทางสังคมที่มี

ความสำเร็จอย่างเด่นชัดของอบต.ดอนแก้ว คือการให้ความสำคัญในการพัฒนาคน และใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่ในเป็นประโยชน์ เมื่อผนวกเข้ากับแรงสนับสนุนจากสสส. ทำให้การจัดการและการสร้างความมีส่วนร่วมในพื้นที่เกิดขึ้นได้ง่ายดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน กล่าวถึงบทบาทของสสส.ในการหนุนเสริมการทำงานของท้องถิ่นต่างๆ ว่าท้องถิ่นแต่ละแห่งล้วนมีอุดมการณ์ มีทิศทาง มีเป้าหมายของตัวเอง สสส.ไม่จำเป็นต้องไปชี้นำอะไร เพียงแต่กำชับว่าหากทำงานร่วมกับสสส.แล้ว ต้องมี 2 อย่างคือเป้าหมายต้องชัดและรวมคนให้ได้ โดยเฉพาะ 4 องค์กรหลัก ได้แก่ 1.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน 3.หน่วยงานรัฐในพื้นที่ เช่น รพ.สต., กศน. และ 4.องค์กรชุมชนและภาคประชาชน

“หลักของเรา คือไม่ใช้ยางลบไปลบเขา ถ้าเขามั่นใจว่า ใช่ เราก็มีหน้าที่ทำให้เขามั่นใจขึ้นไปอีกว่าใช่แบบที่เขาคิดจริงๆ อาจจะช่วยชี้เป้าเพิ่มเติมให้ ว่าควรจะหาความรู้เพิ่มเติมจากไหน” ดวงพร กล่าวทุกวันนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกือบ 3,000 แห่งที่ทำงานร่วมกับสสส.จึงมีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้พอสมควร แต่ ดวงพร กลับมองว่า เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และ สสส. จะค่อยชี้นำสังคมผ่านการสื่อสารให้รับรู้กันในวงกว้าง สร้างพื้นที่ต้นแบบออกไปเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 600 ศูนย์เรียนรู้ตำบลต้นแบบแล้ว โดยจะให้การชี้นำนี้ ไปกระแทกใจในระดับนโยบาย เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

“รัฐมองว่าท้องถิ่นเป็นลูกน้องมาโดยตลอด ดังนั้นถึงเวลาแล้วท้องถิ่นต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ ว่าตนเป็นที่พึ่งพิงของชาวบ้านได้ดีกว่าภาครัฐ” ดวงพร ย้ำและชี้ว่า ขณะนี้องค์ความรู้ที่อปท.เครือข่ายร่วมกันคิดร่วมกันสร้างได้แทรกซึมอยู่ในองค์กรท้องถิ่นทั่วประเทศแล้วกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะการใช้ระบบข้อมูลตำบล (TCNAP) และการวิจัยชุมชน (RECAP) มาช่วยในการสร้างแผนชุมชน

ผลลัพธ์ที่ได้ในวันนี้ช่วยพิสูจน์ ว่าพลังเครือข่ายที่ขับเคลื่อนด้วยบุคลากรที่มีศักยภาพนั้น สร้างความน่าอยู่ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน และกำลังได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางออกไปเรื่อยๆ.

You may also like

SUN และ EXE มอบอาหารช่วยผู้ลี้ภัยชายแดนเมียนมา

จำนวนผู้