อันตรายจากพืชผักที่มีสารเคมีปนเปื้อน นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของผู้บริโภค ก่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ยังมีผลต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ อากาศ ทำให้คนจำนวนมากเริ่มหันกลับมามองอาหารเพื่อสุขภาพ มีความปลอดภัยตั้งแต่ผู้ผลิตถึงผู้บริโภคธีระพันธ์ กันทะวัง เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในการสร้างเสริมสุขภาวะเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารว่าต้องมองหลายๆ ปัจจัยร่วมกัน คือความพอเพียงของแหล่งอาหาร ที่ปัจจุบันยังมีป่าชุมชนที่ชาวบ้านอนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งอาหารธรรมชาติ ด้านความหลากหลาย ยิ่งมีอาหารที่หลากหลาย ก็แสดงถึงความเกื้อกูลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ ขณะเดียวกันด้านความปลอดภัยของอาหาร ก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้“ในปี 2535 ประเทศไทยนำเข้าสารเคมี 3 แสนตัน ผ่านมา 25 ปี สถิติกลับพุ่งสูงขึ้นเป็นนำเข้าปีละ 4 ล้านตัน ทั้งที่พื้นที่เกษตรลดลง บ่งบอกให้รู้ว่าไร่ นา สวน ล้วนถูกปนเปื้อนด้วยสารเคมี ในการเข้าไปสื่อสาร สร้างความเข้าใจกับชุมชนต่างๆ เพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญา และมิติวัฒนธรรมด้านอาหาร รวมถึงความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการดูแล จัดการทรัพยากรธรรมชาติ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง” เจ้าหน้าที่ประสานงาน อธิบายปีนี้ ถือเป็นปีที่ 2 ที่มีการนำโครงการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในการสร้างเสริมสุขภาวะเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองเข้าไปในหลายพื้นที่ พบว่าแต่ละพื้นที่ก็มีความต่อเนื่องของโครงการ เช่น มีการผลิตเมล็ดพันธุ์ พัฒนาการจัดการป่า จัดการชุมชน ทำให้เกิดความชัดเจนในการสื่อสารกับภาครัฐเรื่องชุมชนดั้งเดิม และในส่วนของไร่หมุนเวียน ยังจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจกับภาครัฐและสังคมต่อไปว่าไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย หากเป็นพื้นที่เดิมที่เว้นระยะการผลิตหลายๆ ปี ให้ดินฟื้นตัวเหมาะสมกับการเพาะปลูก แล้วจึงเวียนกลับมาปลูกพืชอีกครั้ง เรื่องนี้ต้องผลักดันให้เกิดเชิงนโยบาย แม้ว่าตอนนี้จะมีมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 เกี่ยวกับแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง หากในทางปฏิบัติยังไม่มีอะไรคืบหน้าการนำโครงการเข้าไปส่งเสริม ก่อให้เกิดต้นแบบในแต่ละพื้นที่ เช่น ที่ขุนวิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ มีการอนุรักษ์พืชพื้นบ้านในแปลงเกษตร ขณะที่ชนเผ่าลีซู บ้านกึ๊ดสามสิบ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน พบว่าพืชอาหารที่ปลูกในชุมชนค่อนข้างน้อย ปกติคนในชุมชนมีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือเผือก ก็มีการรื้อฟื้นพืชผักสวนครัวให้หลากหลายยิ่งขึ้น หรือที่โรงเรียนบ้านกอก อ.เชียงกลาง จ.น่าน ก็ร่วมกับชุมชนทำเรื่องการอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พืชพื้นเมือง เป็นต้นสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.กล่าวเสริมว่า ในมุมมองของ สสส.ให้ความสำคัญกับการสร้างสุขภาพดี และอาหารก็คือปัจจัยหนึ่งที่เป็นเสมือนต้นน้ำ ที่จะทำให้คนไทยสุขภาพดีหรือสุขภาพเสีย จึงสนับสนุนให้ภาคีลงไปเพื่อฟื้นฟูอาหารปลอดสารพิษ และยังให้ความสำคัญกับอาหารพื้นบ้านของชนเผ่าต่างๆ เป็นพิเศษ เพราะอาหารเหล่านั้นแสดงให้เห็นถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชนเผ่าที่ยังเหลืออยู่ แต่อาจถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมสมัยใหม่ หรืออิทธิพลจากโลกภายนอกมากเกินไปสสส.มองว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนใน 3 ด้าน เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี ลดอาการเจ็บป่วย หรือโรคเรื้อรัง เช่น ความดัน เบาหวาน หรือแม้กระทั่งมะเร็ง นั่นคือ 1)แหล่งผลิตต้องไร้สารเคมี 2)ผู้บริโภคต้องมีสำนึก ตระหนักรู้ หันมาบริโภคอาหารปลอดภัย และมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภค 3) การตลาดต้องเข้าถึงทุกคน เพื่อสังคมไม่ใช่ธุรกิจ อย่างวิธีกระตุ้นให้คนหันมาบริโภคอาหารปลอดสารเคมี ก็ต้องทำให้สนใจเรื่องสุขภาพ และตรวจเช็คอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งอาจทำได้โดยไม่ต้องไปหาหมอ อาทิ ใช้วิธีวัดรอบพุง เทียบกับส่วนสูง ถ้าสูง 160 เซนติเมตร รอบเอวต้องไม่เกิน 80 เซนติเมตร กรณีที่เกินแสดงว่าไขมันกำลังสะสม และจะก่อให้เกิดโรค ควรลดด้วยการควบคุมอาหารร่วมกับการออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารทางเลือก เช่น ผ่านศิลปินพื้นบ้าน ดนตรี ศิลปะ ฯลฯด้านสุพจน์ หลี่จา ผู้จัดการโครงการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในการสร้างเสริมสุขภาวะเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง บอกว่าอาหารคือ 1 ในปัจจัยสี่ ที่จำเป็นต่อชีวิต แต่มีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดวิกฤติความมั่นคงทางอาหารได้ เช่น ความขาดแคลนอาหาร การมุ่งปลูกพืชเชิงเดี่ยวจนขาดความหลากหลายของพันธุ์พืช การใช้สารเคมีทางการเกษตร การขาดสิทธิที่ทำกิน เป็นต้นดังนั้นในการขับเคลื่อนโครงการจึงต้องมองเกษตรเชิงระบบ ทั้งต้นน้ำ คือการผลิต พื้นที่ผลิต กลางน้ำ ที่เป็นส่วนของการตลาดเพื่อสังคม และปลายน้ำ คือการบริโภค สุขภาพผู้บริโภค พร้อมทั้งร่วมมือกับภาคีเครือข่าย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมเชิงรุก และสร้างการมีส่วนร่วม เพิ่มพื้นที่การทำกิจกรรมความมั่นคงทางอาหารในหลากหลายมิติ ทั้งทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม เพื่อลดวิกฤติและเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารปัจจุบัน อาหารปลอดภัยที่ผลิตจากชนเผ่าต่างๆ ถูกยอมรับจากสังคมมากขึ้น เพราะมีการสื่อสารผ่านสื่อทางเลือกในหลายรูปแบบ ไม่ว่า บทเพลง ดนตรี ศิลปะภาพวาด รวมถึงในงานสำคัญต่างๆ เช่น งานวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ก็เปิดโอกาสให้เชฟที่มีชื่อเสียง และส่วนหนึ่งเป็นเยาวชนในกลุ่มชาติพันธุ์ นำวัตถุดิบที่ปลอดภัยจากสารเคมีของชนเผ่าต่างๆ มารังสรรค์เป็นเมนูอาหารเสิร์ฟให้แขกวีไอพีได้ลิ้มลอง และได้รับการชื่นชมในเรื่องรสชาติ ความอร่อย สะอาด ปลอดภัย ทุกเมนู.