เชียงใหม่ / สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ จัด“เหลียวหลังแลหน้าขบวนการต่อสู้ของประชาชนภาคเหนือ” ระบุประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง กฎหมายไม่เอื้อคนจน ซ้ำเลือกปฏิบัติ มี 2 มาตรฐาน เปิดทางนายทุน-คนรวย ย้ำถ้าการเมืองกับปากท้องประชาชนยังไม่เดินควบคู่กัน สุดท้ายย่อมไปไม่รอดเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2562 ที่สวนอัญญา – เฮือนครูองุ่น มาลิก : หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ ทางสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ในภาคเหนือ ได้จัดกิจกรรม “เหลียวหลังแลหน้าขบวนการต่อสู้ของประชาชนภาคเหนือ” ขึ้น ซึ่งมีชาวนาชาวไร่ในเขตภาคเหนือเข้าร่วมงานประมาณ 150 คน กิจกรรมช่วงเช้าเป็นพิธีกรรมทางศาสนา อุทิศส่วนบุญกุศลให้มิตรสหายที่เสียชีวิต โดยพระสงฆ์ที่เป็นพระมิตรสหาย 5 รูป จากนั้นจึงเป็นการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรลืม กับ 3 เหตุการณ์แห่งความฝังใจต่อมาในเวลา 14.00 น. มีการเสวนาเรื่อง “เหลียวหลังแลหน้าขบวนการต่อสู้ของประชาชนภาคเหนือ” วิทยากรประกอบด้วย นายผดุงศักดิ์ พื้นแสน, นายเข้ม มฤคพิทักษ์, ดร.ธิกานต์ ศรีนารา, นายอธึกกิต แสวงสุข, นายรังสรรค์ ศรีสองแคว และมี ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง เป็นผู้ดำเนินรายการดร.ธิกานต์ กล่าวถึงการวิเคราะห์สังคมไทย จากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ภายหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 ที่ว่าเป็นกึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา ด้านหนึ่งถูกรุกรานด้วยจักวรรดินิยมอเมริกา อีกด้านหนึ่งคือระบบเศรษฐกิจที่ยังมีการขูดรีด และคงระบบศักดินาไว้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในแง่ประวัติศาสตร์ ที่ประชาชนจำนวนมาก ร่วมกับปัญญาชนถือแนวคิดทฤษฎีการปฏิวัติ เคลื่อนไหวต่อต้านทุนนิยม และศักดินาไปพร้อมๆ กัน แบบไม่ประนีประนอม แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดวิกฤติศรัทธา กระทั่งปี 2525-2535 ประเทศไทยถูกปกครองโดยทหาร และเกิดความเสื่อม จนการเมืองภาคประชาชนเติบโตขึ้น เห็นร่วมกันว่าต้องผลักดันทหารออกจากรัฐสภาและการเมือง พร้อมกับสนับสนุนสภาให้โตระยะหลังที่กลุ่มเสื้อแดงเข้ามานำการเมืองภาคประชาชน ก็พบว่าการเมืองภาคประชาชนเริ่มไม่บริสุทธิ์ บางส่วนไปรวมกลุ่มกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทำให้การเมืองภาคประชาชนอ่อนแอลงเรื่อยๆ ขาดความชอบธรรม จึงพัฒนามาสู่แนวทางต่อสู้แบบรัฐสภาเป็นหลัก ขณะที่ทุนนิยมกับศักดินา ก็ยังเติบโตเหมือนเดิม ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากในหลายพื้นที่ต้องลุกขึ้นต่อสู้ เพื่อปากท้อง ความก้าวหน้า โดยไม่หันหลังให้รัฐสภาอีกต่อไปนายอธึกกิต กล่าวว่า การปฏิวัติ หรือการทำงานของสหาย ตลอดจนสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ที่ผ่านมา ต้องย้อนมองด้วยว่าช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคม เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้ระบอบคอมมิวนิสต์ในจีนตาย คนทำงานเท่าไหร่ ก็ได้เท่าเดิม และทำมา 10 ปี ก็ได้เท่ากับคนใหม่ ไม่มีความก้าวหน้า จนเติ้งเสี่ยวผิง ต้องเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการแข่งขัน นำทุนนิยมเข้ามาอย่างไรก็ตาม ปี 30 พบว่าสงครามเย็นตาย เพราะเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงมาก คนจนไม่มีที่ทำกิน ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกวิบัติ เกิดการต่อสู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เป็นเหตุให้กลุ่มขวาสุดโต่งกลับมา เพราะคนต้องการอะไรที่ฉีกออกไปจากเดิม และสำหรับไทย ระบอบเก่า ราชการมีอำนาจ ถือเป็นกลไกรัฐที่ล้าหลังมากกว่าประเทศอื่นๆ ยิ่งมีการปกครองโดยทหาร ยิ่งทำให้ประชาชนลำบาก ฉะนั้นสิ่งสำคัญ ต้องอย่าลืมว่าเรื่องการเมืองกับปากท้อง ต้องเดินคู่กันเสมอ อย่าละเลยปากท้องประชาชน แล้วมุ่งด้านการเมืองอย่างเดียว ประชาชนจะไม่เอาด้วยอย่างแน่นอนแต่ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา มิตรสหายจำนวนมากดูเบากับรัฐทหาร มีการปล่อยปละละเลยจนทหารเข้ามามีอำนาจ ระบบราชการเป็นใหญ่ ซึ่งอันที่จริงแล้วเราในฐานะประชาชน มีจุดยืนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย เรื่องใดที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเราก็ต้องยืนในจุดนั้น ต้องสนับสนุนพวกที่ต่อสู้เพื่อประชาชน ไม่ใช่พรรคการเมืองไหนมาแรงก็หนุนพรรคนั้นนายผดุงศักดิ์ กล่าวว่า สถานการณ์โลกเปลี่ยน ทำให้ระบบสังคมนิยมของสหภาพโซเวียตไปต่อไม่ได้ และเมื่อหันกลับมามองในประเทศไทย วันนี้หลายคนที่ผ่านเหตุการณ์เดือนตุลา เข้ามาเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งก็มีผลดีคืออย่างน้อยมีหลักคิด ดีกว่าคนที่ขาดหลักคิด ที่สำคัญต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจเป็นเรื่องพื้นฐานสังคม คนต้องกินต้องอยู่ จึงต้องจัดบทบาทของตนเองให้อยู่ได้ ฐานสถานะทางสังคม ฐานความขัดแย้ง ปัจจุบันกับอดีตต่างกัน นั่นคือวิถีที่เป็นไป ขณะเดียวกันเมื่อพูดถึงขบวนการต่อสู้ ก็ยังเชื่อในพลังจัดตั้งของประชาชน ดังนั้นนักการเมือง ก็ต้องพูดเรื่องสำคัญต่อปากท้องของประชาชน เรื่องเศรษฐกิจ ไม่ใช่มุ่งแต่แก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ต้องนำประสบการณ์เก่าที่เคยร่วมสู้กับสหายทั้งหลายไปพูดคุย แชร์ประสบการณ์ และพูดคุยหาทางออก ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญกลายเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ และปากท้องประชาชนนายเข้ม กล่าวว่า ในจังหวะที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ปกครอง ประเทศเกิดความอึดอัดมาก จึงเกิดหน่ออ่อนขึ้นทุกมหาวิทยาลัย เป็น Start up ของขบวนการนักศึกษา เพื่อต่อสู้นำบ้านเมืองสู่ประชาธิปไตย และหน่ออ่อนยังลามไปถึงกลุ่มนักเรียนมัธยม ที่เรียกว่า “กลุ่มยุวชนสยาม” ด้วย ทำให้ก่อนเหตุการณ์ 14 ต.ค.16 ภาคเหนือมีทั้งพรรคประชาธรรม และศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือ พอหลังเหตุการณ์เดือนตุลา ก็มีการชูธง 3 ประสาน คือ นักศึกษา ชาวนา กรรมกร จนถูกจัดตั้งเป็น “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่” โดยมีนักวิชาการหนุนหลัง เช่น อ.องุ่น มาลิก, อ.วิรดา สมสวัสดิ์, อ.ฉลาดชาย รมิตานนท์, อ.จิราพร วิทยศักดิ์พันธุ์ ฯลฯ และสวนอัญญาแห่งนี้ ก็คือสถานที่สำคัญที่ใช้นัดชุมนุมกันศ.ดร.ธเนศวร์ กล่าวเสริมจากวาทะของนักวิชาการท่านหนึ่ง ว่าการที่ประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร และยอมทำสนธิสัญญาที่เสียเปรียบแทนนั้น ทำให้เกิดภาวะ 3 ช้า นั่นคือ ปฏิวัติช้า, พัฒนาประชาธิปไตยช้า และกระจายอำนาจช้าด้านนายรังสรรค์ กล่าวว่า วันนี้ครบรอบ 78 ปี การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และครบรอบ45 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ซึ่งในงานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยที่กรุงเทพฯ ตนมีโอกาสไปร่วม และมีการพูดถึงความไม่ก้าวหน้าของประเทศไทย ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 27 พ.ค.57 ถึงตอนนี้ ผ่านมา 5 ปี เกษตรกรได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐอย่างหนัก ทั้งกรณีปัญหาที่ดิน รัฐบาลซื้อองค์กรอิสระทั้งหมด ทำให้ สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) แก้กฎหมายถึง 100 กว่าฉบับเช่น กฎหมายป่าไม้ มีการทวงคืนผืนป่า กฎหมายป่าชุมชน ใครจะทำป่าชุมชนต้องขออนุญาต ไม่สามารถทำในเขตลุ่มน้ำชั้น 1A , ชั้น 2 ทำได้เฉพาะที่สุสาน หรือหัวไร่ปลายนา หรือกฎหมายอุทยานแห่งชาติ การขยายพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ ทับที่ของชาวบ้านเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงชาวบ้านถูกลิดรอนสิทธิ ขณะที่ที่ดิน 1,700 ไร่ ผ่านมาเกือบ 1 เดือน ทั้งป่าไม้ อุทยาน ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ ถือว่ารัฐบาลเลือกปฏิบัติ และมี 2 มาตรฐานอย่างชัดเจน และที่น่ากลัวยิ่งขึ้นคือกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่จะทำให้เกษตรกรเดือดร้อนและเสียเปรียบมาก ให้อำนาจนายทุน และเปิดทางให้ต่างชาติเช่าพื้นที่เป็นเวลา 50 ปี ขยายต่อได้อีก 40 ปี เท่ากับการผูกขาดด้านที่ดินและการค้า เราจะสูญเสียที่ดินไปอีกมากอย่างแน่นอน.