สสส.จับมือ ศ.ว.ท.หนุน 12 ชนเผ่าแก้ปัญหาสุขภาวะบนพื้นฐานวัฒนธรรม

สสส.จับมือ ศ.ว.ท.หนุน 12 ชนเผ่าแก้ปัญหาสุขภาวะบนพื้นฐานวัฒนธรรม

ภาคเหนือ (18 พ.ค.60) / สสส.ร่วมกับ ศ.ว.ท. เร่งใช้ฐานวัฒนธรรมเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนบนพื้นที่สูง เพื่อแก้ปัญหา 12 ชนเผ่า ใน 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ชี้การพลิกวิถีชีวิต-ความเป็นอยู่ตามนโยบายรัฐ ทำให้เกิดการช็อกทางวัฒนธรรมอย่างรุนแรงนายศักดา แสนมี่ ผู้อำนวยการศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท./IMPECT) เปิดเผยว่า จากประสบการณ์ทำงานกับชุมชน หรือที่เรียกว่างานหน้าหมู่ มามากกว่า 25 ปี เช่น รณรงค์สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งมี 42 ชาติพันธุ์ในประเทศไทย ทำให้มองเห็นปัญหาที่ชาวบ้านแต่ละชุมชนเจอ ทั้งด้านวัฒนธรรม ประเพณี การศึกษา การจัดการทรัพยากร รวมถึงสุขภาพ แต่ทาง ศ.ว.ท. ไม่มีโครงการรองรับเพื่อแก้ปัญหาในจุดนี้

จึงได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 6 ทำชุดโครงการ”เสริมสร้างสุขภาวะชุมชนบนพื้นที่สูงบนฐานวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง” สนับสนุนให้ชาวบ้านที่อยากแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตัวเอง พัฒนาเป็นโครงการนำเสนอเข้ามา โดยในปีแรกนี้ได้คัดเลือกไว้ประมาณ 30 โครงการ จาก 12 ชาติพันธุ์ ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน และน่าน“เป็นที่รู้กันว่าการผลิตและการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย เดิมคนต้องพึ่งพาตนเอง ปลูกเองกินเอง แต่เดี๋ยวนี้พึ่งตลาด ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพเป็นอย่างมาก ไม่มีความปลอดภัยในการบริโภค มีการใช้สารเคมีในขั้นตอนการผลิต ประกอบกับบางชาติพันธุ์เกิดการช็อกทางวัฒนธรรมอย่างรุนแรง อาทิ ชาวเขาเผ่ามลาบริ หรือตองเหลือง เคยอาศัยอยู่ในป่า ทำการเกษตร ปลูกพืชของตัวเอง และย้ายที่อยู่อาศัยไปเรื่อยๆแต่ด้วยนโยบายรัฐ โดยเฉพาะการปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าตามแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ทำให้ต้องย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนอย่างมีหลักแหล่ง”  ผอ.ศ.ว.ท. กล่าว

เด็กและวัยรุ่นอาจปรับตัวได้ เพราะเข้าสู่ระบบโรงเรียน เมื่อเรียนจบก็ทำงานข้างนอก ถูกระบบการศึกษาและสังคมดูดกลืนจนมองไม่เห็นคุณค่าของชาติพันธุ์ตนเอง ขณะที่วัยแรงงานออกไปทำงานรับจ้างนอกถิ่น เหลือเพียงผู้สูงอายุอยู่ในชุมชนที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน  ส่งผลให้ขาดศักยภาพในการหาอาหาร ไม่รู้จักการปรุง การถนอมอาหารซึ่งจากการพูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ของชนเผ่ามลาบริ ทำให้ทราบว่าพวกเขาคิดถึงป่ามาก เมื่ออาศัยอยู่ในป่าไม่เคยรู้สึกหิวโหย อยากกินอะไรในป่ามีหมด เจ็บป่วยก็มียารักษาจากป่า แต่เมื่อต้องเข้ามาอยู่ในชุมชนเป็นหลักแหล่ง วิถีชีวิตความเป็นอยู่พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่มีอาหารธรรมชาติให้เก็บกิน แม้วัยแรงงานจะออกไปรับจ้างได้เงิน หากไม่เพียงพอเลี้ยงครอบครัว จึงติดหนี้แบบชดใช้อย่างไรก็ไม่มีวันหมด

“จึงจำเป็นต้องใช้โครงการเข้าไปเสริมสร้างศักยภาพในการหาอาหาร และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นของกลุ่มชาติพันธุ์ในแต่ละพื้นที่   เช่น ใน จ.น่าน มีการสนับสนุนให้เลี้ยงไก่ไข่ไว้เป็นอาหาร ให้กับกลุ่มมละบริ ที่ อ.เวียงสา  หรือสอนเรื่องการปลูกผัก แปรรูป ถนอมอาหาร เก็บไว้รับประทานในระยะยาว ให้กลุ่มมละบริ อ.บ่อเกลือ และส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์ถิ่น อ.เชียงกลาง  รวบรวมเมล็ดพันธุ์พืชดั้งเดิม แล้วให้คนในชุมชนยืมเมล็ดพันธุ์ไปปลูกให้แพร่กระจายมากขึ้น เมื่อได้ผลผลิตก็เก็บเมล็ดพันธุ์มาคืน เป็นต้น” นายศักดา กล่าวย้ำด้านนางเข็มเพชร เลนะพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) สสส. กล่าวถึงความร่วมมือกับ ศ.ว.ท.ว่า เป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ และทำงานสนับสนุนการแก้ปัญหาของชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองมานานกว่า 20 ปี ทำให้สมาคมมีชุดประสบการณ์การทำงานกับชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง และมีฐานข้อมูลของชุมชนที่สนใจเข้าร่วมดำเนินงานโครงการอยู่แล้ว

และการดำเนินงานของโครงการนี้ จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ สสส. คือเน้นพัฒนา เสริมสร้างศักยภาพ และขีดความสามารถขององค์กรชุมชน รวมถึงเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ที่กระทบต่อสุขภาวะ และร่วมกันดำเนินงานกิจกรรมพัฒนาแบบมีส่วนร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ อย่างแท้จริง เพื่อตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาวะชุมชนพื้นที่สูงบนฐานวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของตนนอกจากนี้การที่ ศ.ว.ท.ดำเนินงานในกลุ่ม องค์กรชุมชน และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองต่าง ๆ ด้วย ยังเป็นการกระจายโอกาสการทำงานสร้างเสริมสุขภาพสู่ภาคีองค์กรและเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อขยายแนวร่วมการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่  ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมการทำงานอย่างสร้างสรรค์ตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับจุดเน้นของแผนสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรมสุขภาวะเป็นอย่างยิ่ง.

You may also like

อบจ.เชียงใหม่ระดม108หน่วยงาน “รวมใจเป็นหนึ่ง”ฟื้นฟูทำความสะอาดเมืองตั้งเป้าเสร็จภายในเดือนต.ค.นี้ขณะที่”ทักษิณ”ให้ 1 ล้านสนับสนุนกิจกรรม

จำนวนผู้