บอร์ดสำนักงานพัฒนาพิงคนคร แจงแนวทางการดำเนินงานขององค์กร หลังครม.มีมติเมื่อ 2 ม.ค.62ให้ยุบเลิกสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ชี้ต้องรอครม.มีมติอีกครั้ง ยันยังมีอำนาจบริหารจัดการ ประกาศมุ่งมั่นเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
จากกรณีที่ครม.มีมติเมื่อ 2 มกราคม 2562 เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกายุบเลิกสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) โดยสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
1.ให้โอนศูนย์ประชุมฯ ซึ่งเป็นของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) (สพค.) และบรรดาอำนาจหน้าที่ กิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ งบประมาณ และรายได้ในส่วนของศูนย์ประชุมฯ ไปเป็นของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง (กค.)และให้เจ้าหน้าที่ของ สพค. ซึ่งปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวกับศูนย์ประชุมฯ ตามบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนครกำหนด พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของ สพค. เพราะเลิกหรือยุบตำแหน่ง และได้รับค่าตอบแทนการเลิกจ้างและเงินช่วยเหลือเยียวยาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561
2.ให้โอนสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีซึ่งเป็นของ สพค. และบรรดาอำนาจหน้าที่ กิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ งบประมาณ และรายได้ของ สพค. ในส่วนของสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ไปเป็นขององค์การสวนสัตว์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ภายในระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และให้เจ้าหน้าที่ของ สพค. ซึ่งปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวกับสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของ สพค. เพราะเลิกหรือยุบตำแหน่ง และได้รับค่าตอบแทนการเลิกจ้างและเงินช่วยเหลือเยียวยาตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และให้ สพค. มีอำนาจบริหารจัดการสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีและกิจการที่ต่อเนื่องจนกว่าการดำเนินการดังกล่าวจะแล้วเสร็จ
3.การคัดเลือกผู้ปฏิบัติงานของ สพค. เพื่อไปปฏิบัติงานเป็นบุคลากรของกรมธนารักษ์ กค. หรือองค์การสวนสัตว์ ทส. ให้กรมธนารักษ์ กค. หรือองค์การสวนสัตว์ ทส. ทำความตกลงกับ สพค. เกี่ยวกับเงินเดือนหรือค่าจ้าง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของบุคลลากรนั้น และอาจตกลงกันให้นับเวลาการทำงานต่อเนื่องจากการปฏิบัติงานใน สพค. ได้
4.เมื่อได้ดำเนินการตามข้อ 2. และข้อ 3. แล้ว ให้ถือว่าการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของ สพค. ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2556 เสร็จสิ้นลงแล้ว และให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ดำเนินการตามมาตรา 44 (2) แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 โดยประกาศยุติการดำเนินการของ สพค. ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ให้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2556 เป็นอันยกเลิก
5.ให้คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) เสนอให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบทรัพย์สินและชำระบัญชี รวมทั้งการโอนหรือการจำหน่ายทรัพย์สินที่ยังคงเหลืออยู่และการจัดการเกี่ยวกับบุคลากรซึ่งยังคงเหลืออยู่ของ สพค. ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
ด้านนายอนุชา ดำรงมณี กรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร เปิดเผยถึง แนวทางการดำเนินงานขององค์กร ภายหลังจากมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 ซึ่งได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกายุบเลิกสำนักงานพัฒนาพิงคนคร พ.ศ……… ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 และการดำเนินการตามร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวหลังจากนั้น ยังต้องรอกำหนดวันเวลาที่แน่นอนจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง โดยสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ยังคงมีอำนาจในการบริหารจัดการสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และกิจการต่อเนื่องจนกว่าภารกิจตามร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะแล้วเสร็จ
สำนักงานพัฒนยาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ให้คำมั่นว่าจะยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานขององค์กรต่อไปอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมและประเทศชาติ รวมทั้งจะบริหารจัดการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและจากนานาประเทศทั่วโลก ให้ได้รับความพึงพอใจอย่างสูงสุด.