ดอยสะเก็ดรับมอบเงินกองทุนเพื่อพัฒนาชุมชนรอบศูนย์จัดการขยะฯ ของอบจ.เชียงใหม่ รอบเดือนก.ค.-ก.ย.62

ดอยสะเก็ดรับมอบเงินกองทุนเพื่อพัฒนาชุมชนรอบศูนย์จัดการขยะฯ ของอบจ.เชียงใหม่ รอบเดือนก.ค.-ก.ย.62

อำเภอดอยสะเก็ดและ 8 หมู่บ้าน รับมอบเงินกองทุนเพื่อพัฒนาชุมชนรอบศูนย์จัดการขยะฯ ของอบจ.เชียงใหม่ ครั้งที่ 10 รอบเดือนก.ค.-ก.ย.เป็นเงินกว่า 1.76 แสนบาท ด้านนายอำเภอดอยสะเก็ดเตรียมใช้เงินสะสมที่ได้จากกองทุนไปต่อยอดการจัดการขยะในครัวเรือน หวังให้ประชาชนทำปุ๋ยหมักและคัดแยกขยะก่อนนำไปกำจัด ช่วยลดทั้งปริมาณขยะและค่าดำเนินการ

เมื่อวันที่ 27 พ.ย.62 เวลา 09.30 น.ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอดอยสะเก็ด นายอรรถชา กัมปนาทแสนยากร นายอำเภอดอยสะเก็ด เป็นประธานในการรับมอบเงินกองทุนเพื่อพัฒนาชุมชนโดยรอบโครงการ ศูนย์การจัดการขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด โดยมีนายสุรศักดิ์ โอสถาพร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(ส.อบจ.)เชียงใหม่เขตอ.ดอยสะเก็ด ผู้นำท้องถิ่นและผู้นำชุมชนจาก 9 หมู่บ้านโดยรอบโครงการฯเข้าร่วมประชุมและรับมอบเงินดังกล่าว

นายอรรถชา กัมปนาทแสนยากร นายอำเภอดอยสะเก็ด กล่าวว่า ศูนย์การจัดการขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ดแห่งนี้สร้างขึ้นมาหลายปี ด้วยงบประมาณ 465 ล้านบาทซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมขณะนั้น ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดตั้งศูนย์จัดการขยะฯขึ้น โดยจังหวัดเชียงใหม่แบ่งออกเป็น 3 โซนๆ เหนือมีเทศบาลตำบลเวียงฝางเป็นผู้รับผิดชอบ โซนใต้มีศูนย์จัดการที่อ.ฮอดและโซนกลางซึ่งโครงสร้างเดิมที่ลงนามในข้อตกลงนั้นประกอบด้วย 4 อำเภอคือสันทราย แม่ออน สันกำแพงและดอยสะเก็ด โดยทั้ง 4 อำเภอจะมีปริมาณขยะรวมกันเฉลี่ยวันละ 200 ตัน และตั้งแต่เริ่มดำเนินการก่อสร้างจนกระทั่งเปิดใช้งานก็มีปัญหาอุปสรรคมาโดยตลอด มีการเปลี่ยนผู้บริหารและผู้รับจ้างมาหลายครั้ง

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ที่ศูนย์ฯแห่งนี้ได้เปิดเริ่มดำเนินการโดยบริษัทวีพีเอ็น คอลเล็คชั่นส์ จำกัด ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ขึ้นมา โดยทางบริษัทฯได้จัดสรรเงินในส่วนของบริษัทที่ได้จากค่าดำเนินการกำจัดขยะมาจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาชุมชนโดยรอบโครงการฯ โดยแต่ละพื้นที่ได้รับการจัดสรรปันส่วนตามระยะทางใกล้ไกลโครงการ ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 10 เป็นรอบของเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2562

“ตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินงานมาเมื่อปี 2560 มีขยะที่เข้าสู่โรงงานเฉลี่ยวันละ 10-20 ตัน ปีถัดมาเพิ่มเป็น 30 ตันต่อวันและปี 62 ปริมาณขยะที่เข้าสู่โรงงานเฉลี่ยวันละ 40 ตัน ซึ่งก็ยังห่างไกลจำนวน 200 ตันตามศักยภาพของโรงงาน เครื่องจักรยังทำงานไม่เต็มที่ และก็มีปัญหาที่ทั้งผู้รับจ้างและอบจ.เชียงใหม่จะต้องแก้ไขเป็นระยะตามข้อร้องเรียน และเรียกร้องของคนโดยรอบชุมชน”นายอำเภอดอยสะเก็ด กล่าวและชี้แจงอีกว่า

ในขณะนี้มีเทคโนโลยีในการกำจัดขยะแบบใหม่ๆ มากมาย และรูปแบบการบริหารจัดการขยะมีแตกต่างกัน ซึ่งทางอบจ.เชียงใหม่และผู้รับจ้าง ได้นำผู้นำชุมชนไปศึกษาดูงานการจัดการขยะในหลายพื้นที่ ทั้งที่หนองแขม กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าจะนำเอาระบบมาประยุกต์ใช้โดยเฉพาะการใช้บันไดเลื่อนแทนท่อสายพานดันขยะเข้าสู่เตาเผา ทำให้น้ำขยะไหลลงสู่ท่อเข้าสู่ระบบบำบัด ขณะที่ขยะที่แห้งก็จะเข้าสู่สายพานส่งต่อไปห้องเผาไหม้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับออกซิเจนในขยะที่ทับถมกัน ทำให้การเผาไหม้ทำได้ดีขึ้น รวมทั้งระบบห้องควบคุม ห้องขนถ่ายที่ป้องกันกลิ่นได้

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาดูงานการกำจัดขยะที่จังหวัดนครปฐม ระยองและจันทบุรี ซึ่งใช้ระบบฝังกลบ ส่วนที่จันทบุรีใช้กองทับถมไว้เฉยๆ ซึ่งถือเป็นระบบที่ไม่ดีแต่ก็ยังมีหลายแห่งที่ไปศึกษาดูงาน ส่วนที่น่าจะเอาเป็นแบบอย่างอีกแห่งคือที่แพรกกาษา จังหวัดสมุทรปราการซึ่งมีปริมาณขยะที่ต้องกำจัดถึงวันละ 3 พันตัน ซึ่งใช้บันไดเลื่อนขยะในโรงงานแบบหนองแขม ก่อนที่จะคัดแยกและเผา ในอดีตเคยใช้ระบบฝังกลบแต่เมื่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะขึ้นมา สามารถนำขยะไปเป็นเชื้อเพลิงได้หมด นอกจากนี้ยังมีการขุดเอาขยะที่เคยฝังกลบไว้หลายปีมาเผาด้วยวันละประมาณ 500 ตัน ซึ่งเตาเผาเป็นโนฮาวด์จากเยอรมัน ส่วนการกำจัดควันจากการเผาขยะเป็นโนฮาวด์จากสหรัฐฯและตัวปั่นเจนเนอเรเตอร์เป็นโนฮาวด์ของจีนซึ่งใช้วิธีลดความร้อนของเครื่องจักรด้วยน้ำ

นายอำเภอดอยสะเก็ด กล่าวด้วยว่า ในเร็วๆ นี้ทางอบจ.เชียงใหม่จะนำผู้นำชุมชนไปศึกษาดูงานการกำจัดขยะที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งการพาไปศึกษาดูงานในหลายๆ ที่ก่อนที่อบจ.เชียงใหม่จะดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะก็เพื่อให้ชุมชนได้รับทราบถึงเทคโนโลยีในการจัดการขยะ ซึ่งปรับเปลี่ยนและพัฒนาขึ้นมา เพื่อให้เกิดประโยชน์และลดผลกระทบต่อชุมชนให้มากที่สุด ในส่วนของอำเภอดอยสะเก็ดเองซึ่งได้มีการสะสมเงินกองทุนฯที่ได้รับการจัดสรรมานี้ จะนำไปดำเนินโครงการสร้างจิตสำนึกในการคัดแยกและลดขยะในครัวเรือน ซึ่งจะมีการอบรมวิธีการทำปุ๋ยหมักในครัวเรือนและการแยกขยะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและพี่น้องประชาชนเองด้วย

ด้านนายเกริก เกียรติเวชช์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท วีพีเอ็น คอลเล็คชั่นส์ จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทฯจะมอบเงินให้ทุกๆ 3 เดือนครั้ง ครั้งนี้เป็นรอบเดือนก.ค.-ก.ย. ส่วนการที่จะนำเงินกองทุนที่ได้ไปดำเนินการอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับมติของแต่ละชุมชนที่จะดำเนินการเอง ทั้งนี้การจัดสรรผลประโยชน์เงินกองทุนจะแบ่งสัดส่วนตามระยะทางจากที่ตั้งของศูนย์จัดการขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจรฯ กับชุมชน ซึ่งชุมชนที่ได้รับจะมี 9 แห่งคือบ้านป่าตึงน้อยหมู่ 1 ซึ่งจะได้รับการจัดสรรมากที่สุดตามสัดส่วนคือร้อยละ 10  ขณะที่       อ.ดอยสะเก็ด ต.ป่าป้อง บ้านทุ่งยาว ม.8 บ้านกิ่วแล ม.11 จะได้ร้อยละ 5และบ้านป่าไม้แดง ม.2 บ้านป่ายางงาม ม.7 บ้านป่าคา ม.4และบ้านหนองบัวพัฒนา ม.13 จะได้รับร้อยละ 4

สำหรับเงินกองทุนที่จัดสรรในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 10 โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาคือเดือนกรกฎาคม -กันยายนมีปริมาณขยะที่เข้ามากำจัดที่ศูนย์ฯรวม 176,016.47 บาทซึ่งชุมชนจะได้รับประโยชน์รวม 1,157,529.46 บาท          หลังจากนั้น นายอรรถชา กัมปนาทแสนยากร นายอำเภอดอยสะเก็ดได้เป็นตัวแทนรับมอบเงินกองทุนฯ ร่วมกับผู้นำชุมชนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนตนเองต่อไป.

You may also like

กกท. จัดการแข่งขันกรีฑาระดับโลก “Golden Fly Series Qualifier Chiang Mai 2024 presented by SAT”หวังสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมกระตุ้นท่องเที่ยวและเศรษฐกิจท้องถิ่น

จำนวนผู้