ชาวบ้านต้นดู่เดือด ผญบ.หมกเม็ดประเมินตนเอง ป.รุดเปิดประชุมหาข้อยุติ

ชาวบ้านต้นดู่เดือด ผญบ.หมกเม็ดประเมินตนเอง ป.รุดเปิดประชุมหาข้อยุติ

เชียงใหม่ (23 มิ.ย.60) / ประเมินผู้ใหญ่บ้านวุ่น ชาวต้นดู่ อ.สันกำแพงเดือด ผู้นำหมกเม็ดประเมินตนเอง ทำผิดกฎหมาย ม.157 ขาดภาวะผู้ปกครอง ด้านปลัดอำเภอรุดลงพื้นที่ ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทย์ พร้อมแจกใบประเมินใหม่ ให้ผู้ร่วมประชุมเป็นตัวแทนแต่ละหลังคาเรือนเมื่อเวลา 09.00  วันที่ 23 มิ.ย.ที่ศาลาเอนกประสงค์ บ้านต้นดู่ หมู่ 3 ต.บวกค้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ได้มีการประชุมชี้แจงเกี่ยวกับการประเมินผู้ใหญ่บ้าน โดยมีนายนคร ยาวิชัย ปลัดฝ่ายความมั่นคง อำเภอสันกำแพง กับนายสำเนียง วิริยะ กำนัน ต.บวกค้าง ร่วมเป็นประธาน และมีนายเสน่ห์ กันทะอินทร์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 มาชี้แจงทำความเข้าใจ ท่ามกลางชาวบ้านที่เข้าร่วมกว่า 100 คน

ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ชาวบ้านต้นดู่ได้เข้าร้องเรียนต่อทางอำเภอ ไม่เห็นชอบและไม่พึงพอใจการกระทำของนายเสน่ห์ กันทะอินทร์ ผู้ใหญ่บ้าน ในการประเมินการทำงาน โดยระบุว่าผู้ใหญ่บ้านหมกเม็ดการประเมินตัวเอง ด้วยการระบุรายชื่อผู้ประเมิน 20 คน ด้วยตนเอง แล้วให้คนใกล้ชิดนำใบประเมินไปให้ผู้ถูกระบุชื่อทั้ง 20 คนเซ็นชื่อ ก่อนรวบรวมมาให้ผู้ใหญ่บ้านเตรียมส่งให้ทางอำเภอ ซึ่งผิดหลักการประเมิน ที่ผู้ใหญ่บ้านต้องประชุมหารือ ทำประชาคม ตั้งกรรมการ คัดสรรคน การยกเว้นหรืออะไรก็แล้วแต่ ต้องให้ชาวบ้านรับรู้ แต่การกระทำของผู้ใหญ่บ้านครั้งนี้ถือว่าทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง ผิดจริยธรรมอย่างยิ่งนอกจากนี้ที่ผ่านมา ผู้ใหญ่บ้านยังไม่เคยประชุมชี้แจงให้ชาวบ้านรับทราบรายรับ-รายจ่ายของหมู่บ้านที่จัดเก็บ และไม่มีการจัดประชุมประจำเดือนของหมู่บ้าน นับจากรับตำแหน่งตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ประกอบกับได้รื้อศาลาของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นของส่วนรวม ทั้งที่ในช่วงต้นปีมีการขอมติจากชาวบ้านเรื่องรื้อศาลาดังกล่าว แต่ชาวบ้านไม่เห็นด้วย ถัดมาราว 1 เดือน ผู้ใหญ่บ้านกลับให้รื้อศาลาออก จึงนับเป็นการฝ่าฝืนมติที่ประชุม ทำลายสัญญาประชาคมที่มีการบันทึกการประชุมอย่างชัดเจน ส่งผลให้การปฏิบัติงานของผู้ใหญ่บ้านเป็นไปโดยมิชอบ ผิดกฎหมายอาญา ม.157  ขณะเดียวกันเมื่อรื้อศาลาของหมู่บ้าน ทางผู้ใหญ่บ้านก็ได้นำวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ของศาลาไปเก็บไว้ที่บ้านของตัวเอง ขาดทั้งจริยธรรม คุณธรรม ภาวะความเป็นผู้นำ หรือผู้ปกครองหมู่บ้าน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายเสน่ห์ ชี้แจงว่าตนทำตามข้อกฎหมายเป็นหลัก เนื่องจากศาลาที่สร้างไว้ อยู่ในเขตหมุดของชาวบ้าน ไม่ใช่ที่สาธารณะ พร้อมกับให้ตัวแทนแจกจายบัญชีรายรับ-รายจ่ายของหมู่บ้าน โดยย้ำว่าทั้งตัวเงิน และบัญชีไม่ได้ผ่านมืดตนเอง มีคณะกรรมการดูแลแยกต่างหาก ด้านนายนคร กล่าวว่า เกณฑ์การประเมินผู้ใหญ่บ้านนั้น ครอบคลุมถึง 3 ด้าน คือด้านการปฏิบัติหน้าที่, ด้านคุณลักษณะความเป็นผู้นำ และด้านความพึงพอใจ ซึ่งแบบประเมินที่ให้ชาวบ้านประเมินนั้น อยู่ในส่วนของความพึงพอใจ มีคะแนนเพียง 20 คะแนน กระนั้นถ้าพบว่าพื้นที่ใดประเมินจากชาวบ้านแล้วไม่ผ่าน ทางอำเภอก็ต้องส่งเจ้าหน้าที่ลงชี้แจงทำความเข้าใจในพื้นที่

“ส่วนเรื่องการรื้อถอนศาลา และเรื่องบัญชีรายรับ-รายจ่าย อยากให้คำนึงจากเจตนาเป็นหลัก หากผู้ใหญ่บ้านทำด้วยเจตนาไม่ดี มีผลประโยชน์แอบแฝง ก็ย่อมเป็นเรื่องที่ผิด แต่ถ้าไม่มีส่วนได้เสีย เจตนาอยากให้เป็นไปตามกรอบกฎหมาย เนื่องจากศาลาอยู่ในที่มีเจ้าของ มีโฉนด ไม่ใช่ที่สาธารณะ เพียงแต่ไม่ได้แจ้งให้ชาวบ้านทราบล่วงหน้า ชาวบ้านก็ควรพิจารณาด้วย และในอนาคตหากจะสร้างศาลาขึ้นใหม่เพื่อทดแทนหลังเดิม ก็ควรสร้างในพื้นที่สาธารณะ หรือถ้าเป็นที่ส่วนบุคคล ก็ให้เจ้าของทำหนังสือยกพื้นที่ให้ จะได้ไม่เกิดปัญหาตามมา ที่สำคัญผู้ใหญ่บ้านควรแจ้งให้ชาวบ้านทราบเกี่ยวกับการดำเนินงานในทุกๆ ด้านอย่างโปร่งใส เช่น บัญชีรายรับ-รายจ่ายของหมู่บ้าน สามารถแถลงให้ชาวบ้านรับทราบทุก 3 เดือน หรือ 6 เดือน หรืออาจทำเป็นเอกสารแจกแจงให้เห็นอย่างง่ายๆ แล้วติดบอร์ดไว้ให้ดูได้ตลอด” ปลัดอำเภอ กล่าวต่อมา ได้มีการหารือถึงวิธีการประเมินผู้ใหญ่บ้าน เพื่อยุติปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และได้ข้อสรุปคือแจกแบบประเมินให้กับผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ เพราะถือเป็นตัวแทนของแต่ละหลังคาเรือน แต่หากหลังคาเรือนใดมีผู้เข้าประชุมเกิน 1 คน ให้ร่วมกันประเมินเพียง 1 ชุด ทำให้แบบประเมินถูกแจกออกไปประมาณ 80-90 ชุด และจะมีตัวแทนชาวบ้าน ซึ่งเป็น อสม.ตามเก็บ เพื่อปิดผนึกส่งให้ทางอำเภอ ภายในวันพุธที่ 28 มิ.ย.นี้.

You may also like

กลุ่ม Chiang Mai Pride จับมือร่วมกับ Asset World Corporation (AWC) และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงาน “Chiang Mai Colourful Pride Month 2024” เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และเชื่อมโยงการท่องเที่ยว

จำนวนผู้