บพท. ชูความสำเร็จแพลตฟอร์มการค้าและการลงทุนไทย-จีน และศูนย์ Thai-China CBEC Incubation Center and BI Unit

บพท. ชูความสำเร็จแพลตฟอร์มการค้าและการลงทุนไทย-จีน และศูนย์ Thai-China CBEC Incubation Center and BI Unit

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นและภาคีเครือข่ายในการเปิดตัวแพลตฟอร์มการค้าและการลงทุนไทย–จีน (Sino Thai Mart) ซึ่งพัฒนาขึ้นจากผลการดำเนินงานวิจัยในปีงบประมาณ 2567 โดยมีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมการเติบโตทางธุรกิจและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้สามารถเข้าถึงตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการนี้ยังสานต่อการพัฒนาแพลตฟอร์มที่มีความพร้อมใช้งานจริง รวมถึงการจัดตั้ง Sandbox เพื่อบ่มเพาะผู้ประกอบการผ่านกลไกการมีส่วนร่วมที่มุ่งสร้างความเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน


พิธีเปิดตัวแพลตฟอร์มจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2568 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี คุณหลี่ จิง รองกงสุลใหญ่จากสถานกงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่ กล่าวแสดงความยินดีและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสองประเทศ พร้อมชื่นชมศักยภาพของงานวิจัยที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจยุคใหม่ ภายในงาน รองศาสตราจารย์ ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้กล่าวเปิดงานและรับฟังสรุปผลการดำเนินงานวิจัย นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้กล่าวถึงเป้าหมายสำคัญของโครงการและยกย่องความมุ่งมั่นของนักวิจัยที่ร่วมสร้างผลงานที่เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่และประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
ยังมีการเปิดตัว ศูนย์ Thai-China CBEC Incubation Center and BI Unit ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs ไทยสู่ตลาดจีน โดย ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ ผู้อำนวยการศูนย์ ได้แนะนำศูนย์และอธิบายถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการผ่านการบ่มเพาะและการใช้ข้อมูลเชิงลึก (Business Intelligence) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดประเทศจีน
ภายในงานยังมีการจัดกิจกรรม From Local to Global: วิพากษ์จุดแข็ง – จุดอ่อนสินค้าไทยก่อนตีตลาดจีน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้วิเคราะห์และปรับปรุงผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์การตลาดให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน รวมถึงเสริมโอกาสในการเจรจาธุรกิจในอนาคต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ยังได้นำเสนอหลักสูตรที่มุ่งเน้นการศึกษาและวิเคราะห์ตลาดจีน
ในงานยังมีการนำเสนอโมเดลความสำเร็จจากผู้ประกอบการที่ผ่านกระบวนการวิจัยและการบ่มเพาะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรฆพร ก๊กค้างพลู หัวหน้าโครงการวิจัย ได้กล่าวถึงความสำคัญของโครงการนี้ โดยกระบวนการวิจัยเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2566 และต่อเนื่องสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มที่มีความพร้อมใช้งานจริงในปี 2567 ผ่านกลไกเชื่อมโยงผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดจีน
ด้าน ดร.วรรณิภา คุดสีลา นักวิจัยผู้รับผิดชอบด้านแพลตฟอร์ม ได้นำเสนอรายละเอียดเชิงลึกและศักยภาพของแพลตฟอร์ม Sino Thai Mart ที่จะเป็นช่องทางสำคัญในการขยายโอกาสทางการค้า
ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังได้รับโอกาสเข้าร่วมงาน คุนหมิง เอ็กซ์โป ระหว่างวันที่ 19–24 มิถุนายน 2568 จนสามารถนำสินค้าไทยไปเจรจาธุรกิจและรับคำสั่งซื้อจริงจากลูกค้าชาวจีน โดยสินค้าดังกล่าวผ่านการคัดเลือกในกิจกรรมวันที่ 30 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่ต่อยอดจากงานวิจัยไปสู่การปฏิบัติได้จริง
ในช่วงท้ายของพิธี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑาทิพย์ เฉลิมผล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารงานวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เป็นผู้แทนรับมอบผลงานวิจัยและแพลตฟอร์ม Sino Thai Mart เพื่อนำไปขยายผลและสานต่อโครงการวิจัยในปีงบประมาณ 2568 โดยแนวทางต่อไปจะมีการนำเสนอ ยุทธศาสตร์การใช้ประโยชน์แพลตฟอร์มในอนาคต ภายใต้ข้อคิดเห็นจากผู้ประกอบการผู้ใช้งาน
โครงการนี้ถือเป็นต้นแบบสำคัญของความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย และภาคธุรกิจ ที่สามารถนำงานวิจัยไปต่อยอดสู่การปฏิบัติได้จริง และสร้างผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว.

You may also like

รวบปลัดจอมแฉ รีดหัวคิวบัตรชมพู

จำนวนผู้