นำ”บวร”ดึงเด็กไม่ถึงวัยห่างจากมอเตอร์ไซค์

นำ”บวร”ดึงเด็กไม่ถึงวัยห่างจากมอเตอร์ไซค์

ด็กกับจักรยานยนต์ หรือ “มอเตอร์ไซค์” ดูจะเป็นของคู่กัน ถือเป็นพาหนะลำที่สองต่อจากจักรยานที่เด็กๆ จะเริ่มขับขี่เป็น หัดง่าย เป็นเร็ว สะดวก รวดเร็ว ไปได้ไกล ค่าใช้จ่ายไม่สูง โดยเฉพาะในสังคมชนบทแล้ว มอเตอร์ไซค์ยิ่งมีบทบาทกลายเป็นพาหนะหลักของเด็กแทบทุกคน ทั้งขี่ไปโรงเรียน ไปซื้อของ ไปทำธุระให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือแว้นเที่ยวตามประสาเด็กๆ เราจึงเห็นเด็กอายุตั้งแต่ชั้นประถม-มัธยม ขับขี่กันเป็นเรื่องปกติ

แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า ความจริงแล้ว เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่ควรขับขี่มอเตอร์ไซค์ เพราะตามกฎหมาย การขออนุญาตทำใบขับขี่ ผู้ขออนุญาตจะต้องอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ จึงจะมีสิทธิ์ เท่ากับว่า เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่มีสิทธิ์ขี่มอเตอร์ไซค์ได้

จะด้วยเหตุผลทางสภาพครอบครัว ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่มีเวลาจึงสอนลูกหลานให้ขี่มอเตอร์ไซค์เพื่อไว้ใช้งานแทน  หรือขับไปโรงเรียนเองจะได้ไม่ต้องไปส่ง (บางครอบครัวใช้เหตุผลนี้ซื้อมอเตอร์ไซค์ให้ลูกใช้ส่วนตัว) โดยไม่รู้เลยว่าเด็กจะไปถึงโรงเรียนหรือเปล่า หรือเลิกเรียนแล้วจะไปไหนต่ออีกความเป็นชนบทพื้นที่ห่างไกล การเดินทางลำบาก จึงต้องพึ่งพามอเตอร์ไซค์เป็นหลัก เด็กบางคนหัดขับจากเพื่อนๆ ที่ เพราะอยากเท่ห์ อยากขับรถเป็น จะได้ดูเป็นผู้ใหญ่  แว้นซิ่ง โชว์หญิง มีอิสระขับไปไหนก็ได้ ทั้งๆ ที่เด็กยังไม่มีวุฒิภาวะในการตัดสินใจระหว่างการขับขี่

ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม การให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่มอเตอร์ไซค์ เท่ากับผลักดันเด็กให้ตกในสถานะ “สุ่มเสี่ยง” ทั้งอุบัติเหตุ และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ยาเสพติด นอกจากจะเสี่ยงต่อการเสียอนาคต ยังเสี่ยงต่อการจบชีวิตก่อนวัยอันควร

การสร้างการรับรู้และตระหนักถึงเหตุผลที่เด็กวัยก่อน 15 ปี ไม่ควรขับขี่มอเตอร์ไซค์ ทุกฝ่ายจึงต้องช่วยกัน ทั้งโรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง และตัวเด็ก ที่จะร่วมมือกันลดการสูญเสีย ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโรงเรียนแม่พริกวิทยา อ.แม่พริก จ.ลำปาง เป็นหนึ่งในโรงเรียนจาก 80 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ “เด็ก don’t drive : 15 ปี ไม่ขี่มอเตอร์ไซค์” ของสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ในการสร้างเยาวชนแกนนำจัดกิจกรรมรณรงค์ลดอัตราการขับขี่รถจักรยานยนตร์มาโรงเรียนและหลังเลิกเรียนในเด็กวัยก่อน 15 ปี ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยการทำโครงการเชิงรุกทั้งในและนอกรั้วโรงเรียนเสน่ห์ เอื้อแท้ ครูโรงเรียนแม่พริกวิทยา บอกว่า เนื่องจากโรงเรียนอยู่ห่างจากชุมชนเกือบ 10 กิโลเมตร ทำให้การเดินทางมาโรงเรียนค่อนข้างลำบาก บางส่วนมีรถรับส่งก็ดีไป แต่เด็กบางส่วนจะขับมอเตอร์ไซค์มาเอง ซึ่งน่าเป็นห่วงเรื่องของความปลอดภัยอย่างมาก เพราะโรงเรียนอยู่ติดถนนใหญ่ มีปริมาณรถมาก อาจเป็นอันตรายได้

ดังนั้นทางโรงเรียนแม่พริกจึงมาเข้าร่วมโครงการ “เด็ก don’t drive : 15 ปี ไม่ขี่มอเตอร์ไซค์” เพื่อรณรงค์ให้เด็กไม่ต้องนำรถมาโรงเรียน จะได้ไม่ต้องเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ และเถลไถลไปไหนทั้งก่อนและหลังเลิกเรียน โดยทางโรงเรียนจะทำประชามติร่วมกันว่า ไม่อนุญาตให้นักเรียนอายุไม่ถึง 15 ปี ขับขี่มอเตอร์ไซค์มาโรงเรียน จะอนุญาตให้เฉพาะมัธยมปลายที่อายุเกิน 15 ปี มีใบขับขี่ และต้องมาลงทะเบียนกับทางโรงเรียนเท่านั้นขณะเดียวกันได้จัดกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ภายใต้กิจกรรม“พริกขี้หนูรวมใจทุกชีวิตปลอดภัยบนท้องถนน” เช่น การประกวดคำขวัญ การประกวดวาดภาพระบายสี ประกวดคำขวัญสามคำโดนใจ การทำคลิปหนังสั้น การจัดเสียงตามสายช่วงเวลาพักภายในโรงเรียน การขอรับการสนับสนุนภาคีเครือข่าย ตำรวจ รพ.สต. เป็นต้น มาจัดอบรมให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง

การส่งเสริมให้นักเรียนได้คิดได้ลงมือทำ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านมุมมองของวัยรุ่นสู่วัยรุ่น จึงน่าจะช่วยรณรงค์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีไม่ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ประสบผลสำเร็จมากกว่าการคิดจากผู้ใหญ่ที่ยังไม่ค่อยเข้าใจในวัยรุ่นเท่าที่ควร

“เรามาทำโครงการ อยากให้เขาตระหนัก แรกๆ ก็ถามกลับว่าทำไมต้องไม่ให้เด็กขับด้วย เราก็บอกเหตุผล ถ้าเด็กขับมอเตอร์ไซค์ออกจจากบ้านไปเกิดอุบัติเหตุ พ่อแม่ต้องรับผิดชอบ ที่สำคัญมอเตอร์ไซค์มักนำพาเด็กไปหาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น มั่วสุม ยาเสพติด ผู้ปกครองก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ เราจึงหาทางเลือกให้ เขาจะเสียสละเวลามาส่งลูกหลานหรือขึ้นรถรับส่งก็ได้ จากที่เคยมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขี่มอเตอร์ไซค์มาโรงเรียนเกือบ 30 คน ตอนนี้ไม่มีแล้ว” ครูเสน่ห์ กล่าวการทำกิจกรรมเชิงรุก เข้าถึง ทั้งที่โรงเรียนและชุมชน คือกลยุทธ์เด็ดที่ทำให้ทุกคนได้ตระหนักที่สิ่งที่เคยละเลย หรือไม่รู้มาก่อน

ครูเสน่ห์ อธิบายถึงการทำงานเชิงรุกนี้ ว่า มีการเดินรณรงค์ในชุมชน ตามตลาดนัดวันอังคาร หรือวันพระใหญ่ก็จะมีพระเทศน์ และแกนนำนักเรียนจะเข้าร่วมเพื่อทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง หรือการประชุมประจำเดือนและกิจกรรมของชุมชนทางโครงการก็จะเข้าร่วมด้วยทุกครั้ง

“เราต้องทำโครงการในเชิงรุก เพื่อให้โครงการประสบผลสำเร็จ เพราะเชื่อว่า บ้าน วัด และโรงเรียน “บวร” สามารถสร้างพฤติกรรมการขับขี่ และสร้างความตระหนักในเรื่องนี้ได้” ครูเสน่ห์ ยืนยัน

ที่ขาดไม่ได้ คือ น้องๆ เยาวชนแกนนำโครงการที่เป็นตัวแทนของเสียงเล็กๆ ส่งผ่านไปถึงผู้ปกครองและชุมชน และยังนำความรู้ด้านเทคโนโลยีมาใช้ในโครงการ ทั้งการทำสื่อสมัยใหม่ และการจัดตั้งเพจเฟซบุ๊ก “กลุ่มพลังพริกขึ้หนู MPW” เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางการสื่อสารของโครงการกนกพร นากสุก หรือ น้องพลอย เยาวชนแกนนำกลุ่มพลังพริกขึ้หนู MPW เธอเห็นว่า ปัจจุบันทุกคนอยู่แต่หน้าจอมือถือ ดูเฟสบุ๊ก ดูไลน์ เธอจึงคิดว่า น่าจะเอาความเคลื่อนไหวของโครงการมาบอกกล่าว มาเผยแพร่ในโซเชี่ยลบ้าง จึงได้จัดตั้งเพจนี้ขึ้นมา“กลุ่มพลังพริกขึ้หนูMPW” (m.p.w don’t drive) เวลาไปอบรม หรือมีสาระน่ารู้ก็จะมาโพสต์เผยแพร่ให้ทุกคนได้ติดตามกัน

“ส่วนการเดินรณรงค์ในตลาดนัดทุกวันอังคาร ก็ช่วยกันถือป้าย แจกแผ่นพับ และพูดคุยทำความเข้าใจกับพ่อค้าแม่ค้าและคนที่มาเดินซื้อของ เพราะเห็นว่าเมื่อมีคนมาเดินตลาดนัดมาก การเผยแพร่โครงการน่าทำให้คนรู้มากขึ้น ซึ่งช่วยฝึกความกล้าในการทำงานให้กับพวกเราด้วย หลังจากนี้เราก็จะไปต่อยอดกับโรงเรียนข้างเคียง โดยเฉพาะชั้นประถม ป.5-ป.6” น้องพลอย เล่าการทำงานเชิงรุกแบบเข้าถึงด้วยหลักการ “บวร”  ทำให้โครงการ 15ปี ไม่ขี่มอเตอร์ไซค์ ของโรงเรียนแม่พริกวิทยา ประสบความสำเร็จ และได้รับคำชื่นชม และช่วยสร้างค่านิยมการขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่ดีให้เกิดขึ้นชุมชน. 

You may also like

builds มช. ขนทัพสตาร์ทอัพนักศึกษาคับคั่ง พิสูจน์ความสำเร็จ ตั้งบริษัทจริงระหว่างเรียน

จำนวนผู้