เชียงใหม่ / เปิดโพลมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักศึกษาเกิน 80 % ไม่สนใจรายการคืนวันศุกร์ของ คสช.และให้คะแนนสอบตกเรื่องแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ขณะที่เกิน 60% ยังขาดความรู้ ไม่เข้าใจระบบลงคะแนนเลือกตั้ง “ศ.อรรถจักร์” ย้ำผลโพลชี้ชัด การทำรัฐประหารเสียของ แก้ปัญหาไม่ได้ ทั้งคนรุ่นใหม่ยังให้ความสำคัญกับนโยบายพรรคมากกว่าชื่อเสียงตัวบุคคลรศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่าในช่วงวันที่ 11-17 ก.ย.2561 ทางคณะได้จัดทำโพลสำรวจรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 5,446 ชุด โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 -3 ชั้นปีละ 25% ชั้นปีที่ 4 จำนวน 21% และมากกว่า 4 ปี จำนวน 4% ซึ่งแบ่งตามภูมิลำเนาเป็นคนภาคเหนือ 66% ภาคอีสาน 6% ภาคกลาง 8% ภาคใต้ 12% และ กรุงเทพฯ กับปริมณฑล 8% แยกเป็นเพศชาย 39% เพศหญิง 59% อื่นๆ 2%
ทั้งนี้ข้อ 1-4 เป็นทัศนคติที่มีต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปรากฏว่าข้อ 1 นักศึกษา 51.7% ไม่เคยดูรายการคืนวันศุกร์ของ คสช.เลย ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ 33.4% ดูน้อย แค่ 1-3 ครั้ง อีก 9.9% ดูปานกลาง 4-6 ครั้ง และ 3.8% ดูมาก 7-9 ครั้ง มีกลุ่มที่ดูมากที่สุด 10-12 ครั้ง เพียง 0.9% นั่นแสดงว่า นักศึกษาเกิน 80% ไม่เคยดูรายการคืนวันศุกร์ของ คสช. หรือดูน้อย ส่วนอีก 11.9% ดูตั้งแต่ระดับปานกลาง – มาก แฟนพันธุ์แท้ที่ดูจริงจังแทบทุกครั้ง มีแค่ 0.9% เท่านั้นข้อ 2 เกี่ยวกับความสามารถของ คสช. และรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความแตกแยกและสร้างการปรองดอง 16% เห็นว่าแก้ไขปัญหาได้แย่มาก นักศึกษาอีก 29% เห็นว่าแก้ไขปัญหาได้แย่ มี 44% ตอบว่าแก้ไขปัญหาได้ปานกลาง 9% ตอบว่าแก้ไขปัญหาได้ดี มีเพียง 2% ที่มองว่าแก้ไขปัญหาได้ดีเยี่ยม
ข้อ 3 ความสามารถในการแก้ไขปัญหาเรื่องทุจริตคอรัปชั่น 23% ตอบว่าแก้ไขปัญหาได้แย่มาก 33% ตอบแก้ไขปัญหาได้แย่ 35% เห็นว่าแก้ไขปัญหาได้ปานกลาง มี 7% ตอบแก้ไขปัญหาได้ดี และ 2% แก้ไขปัญหาได้ดีเยี่ยม นั่นย่อมสะท้อนว่าในสายตาของนักศึกษา ซึ่งเป็นเด็กรุ่นใหม่ รัฐบาล และ คสช. ยังสอบตกเรื่องแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นข้อ 4 ประเมินการทำงานในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลที่นำโดย คสช. 18% เห็นว่าการทำงานแย่มาก 32% ตอบการทำงานแย่ 41% ตอบการทำงานปานกลาง 8 % ตอบทำงานดี และ 1% ทำงานดีเยี่ยม ซึ่งก้ำกึ่งกัน 50:50 ระหว่างทำงานแย่ กับทำงานปานกลาง-ดี
รศ.สมชาย กล่าวว่า สำหรับข้อ 5-8 เป็นทัศนคติต่อการเลือกตั้ง ซึ่งข้อ 5 ถามว่าอยากให้การเลือกตั้งเกดขึ้นอย่างช้าที่สุดเมื่อใด คำตอบคือ อยากให้เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จำนวน 37% อยากให้เลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2562 จำนวน 12% อยากให้เลือกตั้งภายในปี 2562 จำนวน 46% และไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง 5%ส่วนข้อ 6 อะไรคือปัจจัยสำคัญที่สุดในการตัดสินใจลงคะแนน ผลคือ 7% ตัดสินลงคะแนนจากชื่อเสียงของบุคคล ขณะที่ 88% ตัดสินใจลงคะแนนจากนโยบายและผลงานของพรรคที่สังกัด และ 5% ตัดสินใจลงคะแนนด้วยปัจจัยอื่นๆ
ข้อ 7 ความเข้าใจระบบการลงคะแนน ในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ปรากฏว่า มีผู้เข้าใจถึงระบบการลงคะแนนแค่ 36% อีก 16% ไม่เข้าใจถึงระบบการลงคะแนน และส่วนใหญ่ 48% ไม่ทราบถึงระบบการลงคะแนน ส่วนข้อ 8 ความเข้าใจเกี่ยวกับจำนวน ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผลคือ มีผู้เข้าใจถึงจำนวน ส.ส. แค่ 17% อีก 20% ไม่เข้าใจ และ 63% ไม่ทราบถึงจำนวน ส.ส.สำหรับคำถามในข้อ 9-10 นั้น เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง และนักการเมือง ซึ่งข้อ 9 ถามว่าหากมีการจัดการเลือกตั้ง คิดว่าจะลงคะแนนให้พรรคการเมืองใด ปรากฏว่า 27% เลือกพรรคอนาคตใหม่ สูสีกับพรรคเพื่อไทย ที่ได้ 26% ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 15% และพรรคเล็กพรรคน้อยที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น พรรครวมพลังประชาธิปไตย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคทวงคืนผืนป่าประเทศไทย พรรคสามัญชน พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชนปฏิรูป ได้คะแนนเพียงพรรคละ 2% เท่านั้น
ข้อสุดท้าย ถามว่าอยากให้ใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป 24% ยังเลือก ดร.ทักษิณ ชินวัตร ส่วน19% เลือกนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 10% เลือกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้คะแนนเท่ากันคือ 6% นอกจากนี้ กลุ่มนักศึกษายังเทคะแนนให้นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาลถึง 8% แม้จะไม่ได้เป็นนักการเมืองก็ตาม“จำนวนโพล 5,000 กว่าชุด ถือว่ามากพอสมควร เกือบจะครอบคลุม 1 ใน 4 ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลที่ออกมาจึงน่าจะใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุด เพราะปริมาณมากกว่าหลายๆ โพล ที่ทำขึ้นมา และอ้างว่าเป็นความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศด้วยซ้ำ” รศ.สมชาย กล่าว
ด้าน ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงหใม่ กล่าวว่าจากผลสำรวจแบบสอบถามสะท้อน 2 แนวคิดคือ 1) ทบทวนประวัติศาสตร์ ในการทำรัฐประหาร คำตอบของคนรุ่นใหม่มากกว่า 5,000 คน ในผลสำรวจระหว่างข้อ 1-4 นั้น ช่วยยืนยันชัดเจนแล้วว่าการทำรัฐประหารครั้งนี้ล้มเหลวหรือเสียของนั่นเอง สังคมควรตระหนักได้แล้วว่าการทำรัฐประหารไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้2) การมองอนาคต จากผลสำรวจระหว่างข้อ 5-10 นั้น สะท้อนเด่นชัดถึงความตึงเครียดภายในความสัมพันธ์จากอำนาจ โดยเฉพาะผลสำรวจข้อ 9-10 ที่คนรุ่นใหม่เลือกพรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งทั้ง 2 พรรค ถูกทำให้แตกต่างจากพรรคอื่น นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการเลือกพรรค จากนโยบายมากกว่าชื่อเสียงของตัวบุคคล.