เปิดตัวโครงการ”พัฒนานวัตกรรมสมุนไพรสำหรับเครื่องสำอาง”เพื่อให้ความรู้และเสริมทักษะแก่ผู้ประกอบการ ด้วยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี

เปิดตัวโครงการ”พัฒนานวัตกรรมสมุนไพรสำหรับเครื่องสำอาง”เพื่อให้ความรู้และเสริมทักษะแก่ผู้ประกอบการ ด้วยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี

คณะเภสัชฯมช.จับมือหอการค้าเชียงใหม่ เปิดตัวโครงการ”พัฒนานวัตกรรมสมุนไพรสำหรับเครื่องสำอาง”เพื่อให้ความรู้และเสริมทักษะแก่ผู้ประกอบการ ด้วยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีพร้อมจัดทำมาตรฐานวัตถุดิบสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เครื่องสำอางไทยแข่งขันในตลาดโลก

วันที่ 28 มี.ค.61 ที่ห้องเชียงทอง ศูนย์ประชุมนานาชาติคุ้มคำคุ้มขันโตก นายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่,รศ.ดร.ภก.วิรัตน์ นิวัฒนนันท์ คณะบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,นายรัฐภัทร ศรีจันทร์กลัด ประธานเครือข่ายชมรมเครื่องสำอางสมุนไพรล้านนาจังหวัดเชียงใหม่และภก.อิศรา นานาวิชิต ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวโครงการพัฒนานวัตกรรมสมุนไพรสำหรับเครื่องสำอางภาคเหนือ (Cosmetic Valley) ซึ่งคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่จัดขึ้น

รศ.ดร.ภก.วิรัตน์ นิวัฒนนันท์ คณะบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของโครงการฯนี้ก็เพื่อพัฒนาและส่งเสริมทักษะความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ ด้วยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี รวมถึงการจัดทำมาตรฐานวัตถุดิบสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพสำหรับผลิตภัณฑ์ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับสินค้า ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เวชสำอาง จากสมุนไพรไทยให้มีประสิทธิภาพสู่ตลาดสากล ทางคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ หอการค้า จังหวัดเชียงใหม่  จึงได้ร่วมกันจัดอบรม รับสมัครผู้ประกอบการเครื่องสำอางในภาคเหนือ ที่ต้องการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์

โดยหลักสูตรกิจกรรม แบ่งเป็น      การพัฒนาวัตถุดิบสมุนไพรและสารสกัดมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์เวชสำอางในภาคเหนือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบและนวัตกรรมเครื่องสำอาง/เวชสำอาง/ผลิตภัณฑ์สปาจากสมุนไพรแก่ผู้ประกอบการในเขตภาคเหนือ  การประเมินประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์เวชสำอางสากลสมุนไพรและการพัฒนาศักยภาพและนวัตกรรมสมุนไพรสำหรับผู้ประกอบการเครื่องสำอางสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สปาของภาคเหนือ

ด้านนายประจวบ กันธิยะ รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันสมุนไพรเขตร้อนได้รับความสนใจอย่างมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะไทยซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายทางชีวภาพ โดยตลาดเครื่องสำอางในประเทศเป็นตลาดที่มีมูลค่านำเข้าและส่งออกสูงมากในแต่ละปี จากตัวเลขปี 2555 เมื่อเทียบกับปีก่อนอุตสาหกรรมเครื่องสำอางมีมูลค่านำเข้า 32,240 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.16 และมีมูลค่าส่งออกมากถึง 63,162 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 14.14 จากนโยบายของรัฐบาลเพื่อช่วยสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการภาคเหนือ รองรับการขยายตัวตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะโตเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 12.3

“จังหวัดเชียงใหม่พร้อมให้การสนับสนุนแผนงานบูรณาการต่อยอดผลผลิตจากโครงการเพื่อเพิ่มมูลค่าในลักษณะของห่วงโซ่คุณค่า เพื่อให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมายของแนวทางพัฒนาภาคและเสริมสร้างความเข้มแข็ง ความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพร เพิ่มอุปสงค์การใช้ยาแพทย์แผนไทย การบริการด้านการแพทย์แผนไทยให้มีความแพร่หลายเป็นมาตรฐาน สร้างการเข้าถึงในศาสตร์การแพทย์แผนไทยของจังหวัดเชียงใหม่ต่อไปในอนาคต”รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

ด้านนางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ไทยถือเป็นฐานการผลิตเครื่องสำอางที่สำคัญแห่งหนึ่ง มีการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีมูลค่าการตลาดรวมของอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สูงถึง 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกเครื่องสำอางประมาณ 30% ที่เหลือเป็นมูลค่าภายในประเทศประมาณ 1.7 แสนล้านบาท

แน่นอนว่า กว่า 97% ของการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เป็นผู้ประกอบการเครื่องสำอางรายย่อย กลุ่ม SMEs รัฐบาลจึงเร่งผลักดัน และให้ความสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพเครื่องสำอางไทย ตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทาง นำนวัตกรรมเข้ามาเพิ่มศักยภาพแก่ผู้ประกอบการเครื่องสำอาง SMEs ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แตกต่าง และคงเอกลักษณ์ความเป็นไทย เช่น การนำสมุนไพรไทยกว่า 200,000 ชนิดมาประยุกต์ใช้กับการสร้างผลิตภัณฑ์ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยสร้างความโดดเด่นกับแบรนด์ไทยได้

ที่สำคัญภาคเหนือของเราเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ   และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชสมุนไพรมากกว่า 10,000 ชนิด แต่ที่มีการนำไปใช้ออกสู่ตลาดแล้วมีไม่ถึง 100 ชนิด นอกจากนั้นยังมีภูมิปัญญาล้านนา  เมื่อผนวกกับวิทยากรสมัยใหม่ และงานค้นคว้าเชิงวิชาการด้านสมุนไพรในมหาวิทยาลัยต่างในภาคเหนือ สามารถนำไปเป็นจุดแข็งของจังหวัด เชียงใหม่และจังหวัดอื่นในพื้นที่ภาคเหนือได้ ตลอดจนแนวโน้มปัจจุบันผู้บริโภคได้ให้ความสนใจต่อเครื่องสำอางที่ผลิตจากสารสกัดธรรมชาติมากกว่าเคมีภัณฑ์ นอกจากนี้ การจำหน่ายเพื่อเป็นเครื่องสำอางนั้น แม้มีมาตรฐาน กำหนด แต่ไม่มีข้อจำกัดในการผลิตหรือส่งออกที่ยุ่งยากเหมือนยา ทำให้เพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจด้านนี้มีอนาคตขึ้น

ทางหอการค้าฯ มองว่า หากมีการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมสมุนไพรสำหรับเครื่องสำอางภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถสร้างสารสกัดจากพืชสมุนไพรธรรมชาติ จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 ล้านบาทและจะขยายตัวปีละไม่น้อยกว่า 20-30 % ให้กับอุตสาหกรรมสารสกัดสมุนไพรซึ่งสามารถนำไปใช้ในเครื่องสำอางได้  อันครอบคลุมเครื่องสำอางใน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่

  1. Skin Care ได้แก่ ครีมบำรุงผิว ครีมล้างหน้า สบู่ล้างหน้า เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวอันดับที่ 12 ของโลก
  2. Body Care ได้แก่ ครีมบำรุงมือเล็บ ครีมลดไขมัน โลชั่นถนอมผิว และป้องกันแสงแดด ยาสีฟัน
  3. Hair Care ได้แก่ แชมพู ครีมนวดผม ยาเปลี่ยนสีผม เป็นต้น ซึ่งตัวเลขขณะนี้ประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผมเป็นอันดับ 1 ของโลก
  4. Aromatherapy ได้แก่ น้ำหอม น้ำมันนวดตัว เป็นต้น

ดังนั้น ทางหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ จึงให้ความสำคัญของโครงการเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการจังหวัดเชียงใหม่ เพิ่มพูนความรู้และทักษะเชิงลึก การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามีบทบาทพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน รองรับความปลอดภัย  มีความน่าเชื่อถือ ด้วยผลงานวิจัยรองรับ ซึ่งในด้านของเครือข่ายธุรกิจ ผู้ประกอบการในภาคเหนือยังสามารถเปิดช่องทางเชื่อมโยงกับกลุ่มสมาชิก หน่วยงานวิจัย รวมถึงหน่วยงานของภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อเพิ่มโอกาสต่อยอดสู่ตลาดสากล อันสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่จะพัฒนาสมุนไพรไทย  ในด้านของธุรกิจเครื่องสำอาง และเวชสำอางในประเทศไทย  ที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยในอนาคตต่อไป

หอการค้าฯ ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนด้านปลายทาง มองว่าในกระบวนการการส่งเสริมด้านการค้าขายของผู้ประกอบการเครื่องสำอาง SMEs เช่น การจัดกิจกรรมงานแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจด้านความงามในและต่างประเทศ ซึ่งในอาเซียน ก็จะมีงาน BEYOND BEAUTY ASEAN หรืองาน ASEAN BEAUTY  ซึ่งการที่เรามีโอกาสไปร่วมงานนี้ก็จะเป็นการสร้างความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ของไทยแก่ผู้บริโภคทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ

ประการสำคัญขณะนี้นวัตกรรมด้านเครื่องสำอางจากสมุนไพรก้าวไกลไปมาก การที่หอการค้าฯได้มีส่วนร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็จะเป็นการต่อยอดทางการตลาดได้ ยกตัวอย่างเช่นที่ฝรั่งเศสก็ได้ให้ความสำคัญกับกสนศึกษาวิจัยสารออกฤทธิ์จากวัตถุดิบธรรมชาติทั้งในพืช สัตว์ และสมุนไพร ที่ทำการศึกษาในระดับโครงสร้างโมเลกุล โครงสร้างทางเคมี และกลไกการออกฤทธิ์ เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถนำคุณสมบัติของสารสกัดที่ได้ไปวิจัยพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มความงาม และกลุ่มอาหารเสริมสุขภาพ  ซึ่งคิดว่าภาคเหนือของเราสามารถประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบธรรมชาติของประเทศได้

อย่างไรก็ตามหากผู้ประกอบการ SMEs ภาคเหนือยังขาดความพร้อมด้านการออกสู่ตลาดต่างประเทศ ทางหอการค้าฯ ก็ได้ร่วมมือกับทางคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการร่วมออกบู้ธภายในงานหอการค้าแฟร์ ที่จะจัดขึ้นที่เชียงใหม่ฮอลล์ แอร์พอร์ตพลาซ่า ในช่วงเดือนกันยายนี้ ซึ่งจะมีกิจกรรมทั้งด้านการจับคู่ธุรกิจ การ Pitching เพื่อหาผู้ร่วมทุนในการประกอบการเป็นต้น  ในนามของหอการค้าฯ มีความเชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกหรือ SME ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องสำอางแม้เป็นรายเล็ก ทุนน้อยก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้ หากสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดเด่นขึ้นมาตอบโจทย์ผู้ใช้ เหมือนอีกหลายแบรนด์ในฝรั่งเศสที่เริ่มมาจากบริษัทเล็กๆ เช่น Caudelie ทุกผลิตภัณฑ์ทำมาจากองุ่น หรือ Nuxe ที่เริ่มจากห้องแล็บสกินแคร์ขนาดเล็กในปารีส  กระทั่งพัฒนาสู่น้ำมันทาผิวที่ผู้หญิงทุกคนต้องมีติดบ้าน ดังนั้นหากภาคการศึกษา ภาครัฐ และเอกชนสามารถจับมือสนับสนุนผู้ประกอบการได้ที่จะสามารถสร้างแบรนด์เครื่องสำอางที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีจุดเด่นที่แตกต่างในตลาด โอกาสสำเร็จที่จะให้ภาคเหนือของเราเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องสำอาจจากสมุนไพรก็อยู่ไม่ไกลและเป็นไปได้สูง

ทางด้านเภสัชกรอิศรา นานาวิชิต ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า แนวโน้มตลาดเครื่องสำอางในปัจจุบันจะเน้นเครื่องสำอางที่มาจากธรรมชาติ โดยมีการนำสารสกัดจากธรรมชาติ สมุนไพรและภูมิปัญญาพื้นบ้านมาเป็นวัตถุดิบที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและต้นทุนต่ำ อย่างไรก็ตามปัญหาอุปสรรคสารสกัดสมุนไพรที่ยังขาดการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานทำให้ขาดความเชื่อมั่นในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ ขาดงานวิชาการรองรับ ความปลอดภัยซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบส่วนใหญ่ยังขาดข้อมูลและองค์ความรู้ของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ผลงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรไทยที่มีอยู่ในประเทศไทยที่มีศักยภาพที่จะสามารถนำมาพัฒนาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยินดีสนับสนุนโครงการจัดอบรมเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการตั้งแต่การผลิต การเลือกสารสกัดที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผ่านนวัตกรรมต่างๆ โดยรองรับความปลอดภัยด้วยข้อมูลเชิงวิชาการ และช่วยส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจเครื่องสำอางจากสมุนไพร ช่วยผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากธรรมชาติที่นำเข้าจากต่างประเทศ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลก.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

You may also like

Chiangmai Petmart Fair 2024

จำนวนผู้