เชียงใหม่ประกาศเขตให้ความช่วยเหลืออุทกภัย 18 อำเภอ 45 ตำบล 311 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบ 39,182 ครัวเรือน ปภ.จังหวัดเผยผลกระทบพายุทกซูรี 8 อภ.15 ตำบล 42 หมู่บ้าน เร่งสำรวจเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป
นายไพรินทร์ ลิ่มเจริญ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ผลกระทบจากสถานการณ์พายุทกซูรีในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15-18 กันยายนที่ผ่านมา ได้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 8 อำเภอ 15 ตำบล 2 หมู่บ้านซึ่งปัจจุบันสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว
สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเมื่อ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา อ.เมืองเชียงใหม่มีต้นไม้ล้มขวางทางขึ้นดอยสุเทพ ส่วนวันที่ 17 ก.ย.ที่อ.เวียงแหงประสบปัญหาอุทกภัยจำนวน 3 ตำบล 10 หมู่บ้านคือที่ต.เมืองแหง 2 หมู่บ้าน ต.แสนไห 4 หมู่บ้านและต.เปียงหลวง 4 หมู่บ้าน ทางสำนักงานปภ.จังหวัดพร้อมด้วยอภ.เวียงแหงได้มอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำนวน 100 ชุด พร้อมกระสอบบรรจุทรายเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ส่วนที่อ.แม่อายในพื้นที่อบต.แม่สาว ม.1 และม.3 เกิดน้ำล้นตลิ่งและผนังคันดินกั้นน้ำสาวขาด ทำให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่เกษตรของชาวบ้านจำนวน 25 รายที่นาเสียหายประมาณ 300 ไร่ บ่อปลา 1 รายจำนวน 6 ไร่ ยังอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหายเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อไป ส่วนที่อ.แม่วางหมู่ 18 บ้านห้วยเย็น ต.แม่วินเกิดเหตุดินสไลค์ทับเส้นทาง ทางอบต.แม่วินได้นำเครื่องจักรเข้าเปิดเส้นทางปัจจุบันเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว
ที่อ.สันป่าตอง บ้านหนองสะเรียม ต.ยุหว่า น้ำหนองสะเรียมได้เอ่อล้นท่วมบ้านเรือนราษฎรเนื่องจากเป็นที่ลุ่มต่ำ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการสูบน้ำออกจากพื้นที่แล้วและอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย ที่อ.แม่แจ่มม.17 บ้านห้วยขี้เปอะ ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม เกิดดินสไลด์ ต้นไม้และเสาไฟฟ้าล้มในเขตหมู่ 17 และที่ต.ช่างเคิ่งทั้งหมด น้ำล้นตลิ่งท่วมพื้นที่เกษตร ปัจจุบันกลับเข้าสู่สภาวะปกติและอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหายเพื่อให้การช่วยเหลือ
เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ผลจากพายุทกซูรียังทำให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 4 อำเภอ 6 ตำบล 10 หมู่บ้าน ประกอบด้วยอ.จอมทอง น้ำกัดเซาะคอสะพานบ้านไร่ดง-ห้วยกว๋าว ม.20 ต.บ้านหลวงได้รับความเสียหายไม่สามารถสัญจรได้ ทางอำเภอและอปท.รวมทั้งปภ.สาขาฮอดได้เข้าสำรวจและให้ความช่วยเหลือโดยทำสะพานไม้ชั่วคราวเพื่อให้รถจักรยานยนต์สามารถข้ามผ่านได้
ที่อ.สันป่าตอง ลำน้ำขานได้เอ่อล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร ในพื้นที่ม.1,7 และ 9 ตำบลทุ่งสะโตก ม.2 ต.ท่าวังพร้าว และม.7 ต.บ้านกลาง อ.เวียงแหง เกิดดินสไลด์ทางเข้าน้ำตกแม่หาด ม.1 ต.เมืองแหง ทางอำเภอและท้องถิ่นรวมทั้งปภ.สาขาเชียงดาวได้นำเครื่องจักรกลเปิดเส้นทางเรียบร้อยแล้ว และที่อ.ดอยหล่อ ลำน้ำขานล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนราษฎรม.1 ,3 และ 4 ต.สันติสุข มีที่นาเสียหาย 50 ไร่ ราษฎรได้รับผลกระทบ 150 ครัวเรือน
หัวหน้าสำนักงานปภ.จังหวัดเชียงใหม่กล่าวอีกว่า สำหรับการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย)ของจังหวัดเชียงใหม่ขณะนี้มี 18 อำเภอคือ อมก๋อย จอมทอง ดอยสะเก็ด เวียงแหง ดอยเต่า สันทราย หางดง ไชยปราการ แม่อาย เชียงดาว ฝาง ฮอด กัลป์ยาณิวัฒนา สะเมิง แม่แจ่ม แม่ออน แม่แตงและเมืองรวม 45 ตำบล 311 หมู่บ้าน มีราษฎรได้รับผลกระทบ 39,182 ครัวเรือน
ทั้งนี้สำนักงานปภ.เชียงใหม่ ยังได้เผยแพร่ภูมิปัญญาชาวบ้านกับวิธีสังเกตุสภาพอากาศด้วยว่า การสังเกตก้อนเมฆ หากเมฆเป็นก้อนคล้ายกระหล่ำก่อตัวในแนวตั้งเกิดขึ้นจากอากาศไม่เสถียรภาพ ฐานเมฆเป็นสีเทาดำ เนื่องจากมีความหนามากพอที่จะบดบังแสง จนทำให้เกิดเงา มักเกิดขึ้นในช่วงอากาศดี ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าเข้ม เมฆก่อตัวในแนวตั้งพัฒนามาจากเมฆก้อน มีขนาดใหญ่มากปกคลุมพื้นที่ครอบคลุมทั้งจังหวัด ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง
หากกระแสลมชั้นบนพัดแรงก็จะทำให้ยอดเมฆรูปกระหล่ำกลายเป็นรูปทั่งตีเหล็ก เมฆก้อนลอยติดกันเป็นแพไม่มีรูปทรางที่ชัดเจน มีช่องระหว่างก้อนเพียงเล็กน้อย มักเกิดขึ้นเวลาที่อากาศไม่ดี และมีสีเทาเนื่องจากลอยตัวอยู่ในเงาเมฆชั้นบน หากเมฆแผนสีเทาเกิดขึ้นเวลาที่อากาศไม่เสถียรภาพ ทำให้เกิดฝนพรำๆ ฝนผ่าน หรือฝนตกแดดออกไม่มีพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าร้องฟ้าผ่ามักปรากฏให้เห็นสายฝนตกลงมาจากฐานเมฆ นอกจากนี้บางพื้นที่ได้สังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ บนท้องฟ้า เช่น ถ้าคืนไหนพระจันทร์มีวงแหวนรอบๆสามารถคาดการณ์ได้ว่าฝนจะตกอีก 3 วันข้างหน้า หรือการสังเกตการณ์ขึ้นของรุ้งในทิศตะวันออกในช่วงเวลาพระอาทิตย์ตกดิน เป็นสัญญาณว่าวันรุ่งขึ้นท้องฟ้าจะแจ่มใส หากมีรุ้งขึ้นในตอนเช้าเป็นสัญญาณเตือนว่าจะมีพายุ.