สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ชี้แจงกรณีแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยืนยันมุ่งเน้นส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และเตรียมพร้อม มาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่เข้มแข็งของประเทศ
ที่ห้องประชุม 4 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ แถลงข่าวชี้แจงต่อสื่อมวลชนกรณีการแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งได้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จังหวัดเชียงใหม่และมีการเข้าใจผิดเกิดขึ้น โดยกล่าวว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งใช้บังคับมานานแล้ว พบปัญหาข้อขัดข้องที่เป็นอุปสรรคต่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการในการให้บริการของหน่วยบริการ ส่งผลกระทบต่อการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนและผู้รับบริการโดยรวม จึงมีการปรับปรุง แก้ไขเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน และการสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการมากขึ้น ส่งผลต่อการบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และยกตัวอย่าง เช่น
มาตรา 3 ความหมายของคำว่า “บริการสาธารณสุข” เดิมหมายถึง บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ให้โดยตรงแก่บุคคล เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัย การรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต………ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติม โดย ตัดคำว่า “โดยตรง”ออก และเพิ่มข้อความ “ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขด้วย” โดยประโยชน์ของการแก้ไขก็เพื่อให้หน่วยบริการสามารถนำเงินไปใช้จ่ายทั้งแก่บุคคล และเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขด้วย
ในมาตรา 3 ความหมายของคำว่า “สถานบริการ” พ.ร.บ.ใหม่ เพิ่ม หน่วยงานอื่นของรัฐที่สนับสนุนและส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตามที่คณะกรรมการกำหนดด้วย ประโยชน์ของการแก้ไข ทำให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถสนับสนุนเงินแก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่สำคัญในการสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการรวมทั้งมีส่วนให้บริการด้วย
สำหรับมาตรา 4 เพิ่มคำนิยามของ “เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”คือ เงินที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข และเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ และ กำหนดรายการ “ค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุข” ให้มีความชัดเจน (ซึ่ง พ.ร.บ.เดิม ไม่มี) ประโยชน์ของการแก้ไข เพื่อให้มีความชัดเจนและความเข้าใจที่ตรงกันกับหน่วยตรวจสอบภาครัฐ ทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการและการให้บริการสาธารณสุขมากขึ้น
ในมาตรา 45 เพิ่มหน้าที่หน่วยบริการ ในข้อ 5 เดิม การจัดทำระบบข้อมูลการให้บริการสาธารณสุข เพื่อสะดวกต่อการตรวจสอบคุณภาพและบริการ รวมทั้งการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข โดยเพิ่ม “และค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุข” และเพิ่มหน้าที่หน่วยบริการ ข้อ 6 จัดให้มีบริการสาธารณสุขในระดับบุคคล โดยอาจดำเนินการ ด้วยตนเอง หรือให้องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไรเป็นผู้ดำเนินการแทนก็ได้ ประโยชน์ของการแก้ไข เพื่อให้ทุกภาคส่วน สามารถมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ประชาชน
นอกจากนั้นให้เพิ่มมาตรา 47/1 องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร ให้รับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข จากหน่วยบริการหรือจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น ประโยชน์ของการแก้ไข เพื่อเป็นการกระจายอำนาจให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาสุขภาพและบริการสาธารณสุขที่เน้นการมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่น ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชน โดยเฉพาะการบริการสาธารณสุขเชิงรุก (การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค)
รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ยังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเตรียมความพร้อม เฝ้าระวัง ป้องกัน การควบคุมโรคติดต่อเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจต่อมาตรการป้องกันและการควบคุมโรคติดต่อที่เข้มแข็งของประเทศ เน้นไข้หวัดใหญ่ และเปลี่ยนการฉีดวัคซีนไข้เหลืองเข็มเดียวมีภูมิตลอดชีวิต
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณา (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรการการ ป้องกันควบคุมโรคไข้เหลือง โดยมีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยกำหนดว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง 1 เข็ม สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันป้องกันโรคได้นานตลอดชีวิต ไม่จำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้นซ้ำ จากเดิม 1 เข็ม ป้องกันได้ 10 ปี คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้มีมติเห็นชอบในหลักการดังกล่าว จึงได้ประกาศให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำหลักการนี้ไปดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ และนำไปปรับมาตรการ หลักเกณฑ์การตรวจลงตราแก่คนต่างด้าวที่เดินทางมาจากประเทศที่เป็นเขตติดโรคไข้เหลืองต่อไป
สำหรับข้อนำเสนอแนวปฏิบัติในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza มอบหมายให้โรงพยาบาลในพื้นที่ ทำการเฝ้าระวัง การดูแลรักษาและพร้อมให้คำแนะนำอย่างถูกต้อง เมื่อตรวจพบผู้ป่วย การให้วัคซีนในกลุ่มเสี่ยงและสนับสนุนเวชภัณฑ์ที่จำเป็น เช่น ยาต้านไวรัส หน้ากากอนามัย ให้เพียงพอกับสถานพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนั้นยังมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ดำเนินการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ในชุมชน รวมทั้งให้คำแนะนำประชาชนในการส่งเสริมสุขภาพอนามัย สื่อสารความเสี่ยง ให้กับประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง โดยกลุ่มเป้าหมายที่ สปสช. กำหนด ได้แก่ 1) หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3) ผู้มีโรคเรื้อรัง ทุกกลุ่มอายุ คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4) บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
โดยสามารถรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ฟรีที่สถานพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน สำหรับสถานการณ์ โรคไข้หวัดใหญ่ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 25 มิถุนายน 2560 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ จำนวน 3,214 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 191.46 ต่อแสนประชากร ยังไม่พบเสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 5 – 9 อำเภอที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด คือ สันทราย ดอยสะเก็ด สันกำแพง.