สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยหรือ sacit จับมือห้างในดูไบจัดแสดงสินค้าและจำหน่ายงานหัตถกรรมไทยบุกตลาดต่างประเทศ เพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงและมีชื่อเสียง หวังกระตุ้นคนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรียนรู้เพื่อสืบสานต่อยอดก่อนสูญหาย ชี้เป็น soft power ที่คนรุ่นใหม่ยังไม่เห็นความสำคัญ ขณะที่ครูศิลป์แผ่นดินทั้งดุนโลหะและแกะสลักไม้เห็นด้วยกับแนวคิด ขณะที่วัดศรีสุพรรณเตรียมจัดงาน19 ปีอุโบสถเงิน 522 ปีอร่าม อนุรักษ์ สืบสาน วัฒนธรรมและสร้างเศรษฐกิจฐานรากต่อยอดงานศิลป์พ่อครู
นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย(sacit) กล่าวถึงการจัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรลงพื้นที่ ครั้งที่ 2 เพื่อเรียนรู้หัตถศิลป์ภูมิปัญญาชาวล้านนา ในระหว่างวันที่ 15-16 ก.ย.65 ที่ผ่านมาว่า การนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ก็มีทั้งสื่อมวลชนจากส่วนกลางและในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญางานศิลป์หัตถกรรมไทยที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งงานน้ำต้น,งานดุนโลหะและงานแกะสลักไม้
พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ กล่าวว่า วัดศรีสุพรรณสร้างขึ้นสมัยพระเมืองแก้ว ซึ่งพระมารดาที่มาดูแลพระเมืองแก้วได้จัดสร้างขึ้นจึงเป็นวัดที่ผู้หญิงสร้างเมื่อสร้างเสร็จก็ให้คนในชุมชนดูแลและนำช่างสิบหมู่มาช่วยสอนคนโดยรอบ ซึ่งก็จะมีที่วัดหมื่นสารเกี่ยวกับเครื่องเขิน วัดศรีสุพรรณจะเป็นเครื่องเงิน ปัจจุบันเครื่องเขินที่มีทำกันในชุมชนก็เหลือไม่มาก ช่างหล่อพระก็ไม่เหลือแล้ว เช่นเดียวกับช่างตีมีด ในส่วนของชุมชนวัดศรีสุพรรณเองก็พยายามที่จะรักษาไว้โดยรวบรวมพ่อครูมาช่วยกันสร้างอุโบสถเงิน ซึ่งก็รวบรวมครูช่าง 3 คนมาทำงานด้วยกันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
สำหรับครูช่างที่ริเริ่มอุโบสถเงินก็คือพ่อครูดิเรก สิทธิการ ซึ่งเป็นครูศิลป์ของแผ่นดินปี 54 แต่อุโบสถเงินหลังที่เห็นในปัจจุบันกว่าจะสำเร็จได้ก็เป็นรุ่นที่ 5 อุโบสถเงินหลังนี้สร้างบนฐานเดิม สีมาเดิม พระประธานองค์เดิมคือพระเจ้าเจ็ดตื้อ ซึ่งสร้างในปีพ.ศ.2043 ปัจจุบันอายุ 500 กว่าปี โครงสร้างก่ออิฐถือปูนรูปทรงสถาปัตยกรรมล้านนา ประดับตกแต่งด้วยช่างฝีมือภูมิปัญญาชาวบ้านหัตถกรรมเครื่องเงินชุมชนวัวลายที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เลือกใช้วัสดุเงินบริสุทธิ์ประดับส่วนสำคัญและปลอดภัย วัสดุอลูมิเนียมใช้เป็นวัสดุแทนเงินประดับทุกส่วนรวมทั้งหลัง เนื้อหาเรื่องราวแฝงในงานหัตถศิลป์ประดับภายในอุโบสถแสดงถึงพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ ประวัติพระเจ้าเลียบโลก พระเจ้าโปรดโลก รอยพระพุทธบาทGPSสู่ความสุขตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
ส่วนภายนอกเป็นศิลปกรรมที่แสดงถึงสัญลักษณ์สถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ดอกบัวสี่เหล่า บุคลาธิษฐานนำการเปลี่ยนแปลง สัญลักษณ์อาเซียนและเมืองสำคัญของโลก บทพระราชนิพนธ์พระมหาชนก ทะเลสีทันดร 12 ราศีในวัฏฏสังสารเป็นสื่อสอนธรรมสำหรับผู้มาเยี่ยมชมให้เห็นคุณค่าพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น อุโบสถเงินเป็นหลังแรกที่ช่างภูมิปัญญาชาวบ้านหัตถกรรมเครื่องเงินโดยกลุ่มหัตถศิลป์ล้านนารังสรรค์เป็นสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2547 รวมระยะเวลาสร้าง 12 ปี ใช้เงินกว่า 35 ล้านบาท
พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ กล่าวว่า อยากให้ชมอุโบสถเงินแบบฝรั่งบวกกับไทย คือฝรั่งจะชมแล้วได้ปัญญาเพราะดูทุกรายละเอียดรอบๆ ส่วนคนไทยจะเน้นทำบุญ ซึ่งการสร้างอุโบสถเงินมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อคือเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระพุทธปาฏิหาร์ย์ แสดงถึงภูมิปัญญาเครื่องเงินและช่างสิบหมู่ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอุโบสถเงินแห่งนี้จะอยู่ได้ถึง 500-1,000 ปีและเป็นสื่อสอนธรรมซึ่งข้อนี้จนถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่บรรลุผลสำเร็จ
“ปัจจุบันชุมชนวัวลายได้จดทะเบียนเป็นวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งพ่อครูดิเรก สิทธิการ เป็น 1 ใน 5 ของประเทศที่ได้รับเก้าอี้แสนดอก และในวันที่ 2-7 พ.ย.65 นี้วัดศรีสุพรรณได้จัดงาน 19 ปีอุโบสถเงิน 522 ปีอร่าม อนุรักษ์ สืบสาน วัฒนธรรมและสร้างเศรษฐกิจฐานราก เป็นการจัดงานนิทรรศการเพื่อต่อยอดที่พ่อครูดิเรกได้ทำไว้ เป็นซอฟพาวเวอร์ที่มีครูบาอาจารย์และลูกหลานคนรุ่นใหม่ที่ได้ทำตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วย”เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ กล่าว
จากนั้นสื่อมวลชนได้เดินทางไปที่พิพิธภัณฑ์บ้านจ๊างนัก อ.สันกำแพงเพื่อเรียนรู้งานหัตถกรรมแกะสลักไม้ ซึ่งครูเพชร วิริยะ ครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2564 ได้เล่าให้ฟังว่า บ้านจ๊างนักปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกระทรวงวัฒนธรรมได้เลือกให้เป็นพิพิธภัณฑ์ประเภทหัตถกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นเมื่อปี 2546 โดยปีๆ หนึ่งจะมีนักเรียน นักศึกษามาศึกษาดูงาน รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง และชิ้นงานที่ผลิตนั้นส่งออกจำหน่ายไปทั่วโลก แต่ในช่วงที่มีการระบาดของโควิดฯ 2-3 ปีที่ผ่านมาการส่งออกก็ชะงักไปเพราะมีการชะลอการสั่งซื้อ
“บ้านจ๊างนักเป็นชื่อเฉพาะที่อ.ประยูร จันตาวงศ์ตั้งให้ การแกะสลักไม้ในยุคแรกจะเป็นการแกะสลักเกี่ยวกับช้างล้อ ยุคต่อมาก็จะเป็นช้างเชียงใหม่ แต่เดิมเชียงใหม่มีช่างแกะสลักนับหมื่นคนและที่บ้านจ๊างนักปัจจุบันนี้ถือเป็นยุคที่ 3 เป็นการแกะสลักช้างในรูปแบบเสมือนจริง เลียนแบบอริยะบทต่างๆ ของช้างแท้ๆ ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดยเริ่มทำตั้งแต่ปี 28 แต่ในปัจจุบันก็มีคนเลียนแบบการแกะสลักแบบนี้ไปทั่วแล้ว”ครูเพชร กล่าวและว่า
ภูมิปัญญาที่ตนและทีมงานได้สร้างสรรค์ขึ้นมาหากไม่มีคนสืบทอดก็จะเป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก อย่างที่บ้านจ๊างนักเดิมมีทีมงานกว่า 20 คนเดี๋ยวนี้ลดลงเหลือไม่ถึงแล้ว และปัจจุบันก็พบว่าเด็กรุ่นใหม่เริ่มไม่ให้ความสนใจ แต่คนที่ยังทำอยู่เป็นคนที่ทำด้วยใจรักและชื่นชอบ ซึ่งก็ดีใจที่สถาบันส่งเสริมศิลปหัตกรรมไทยยังให้การสนับสนุน สำหรับผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์บ้านจ๊างนักเคยมีผู้เสนอซื้อมูลค่าหลายสิบล้านแต่ตนก็ไม่อยากขาย เพราะอยากเก็บไว้ให้เป็นสมบัติของชาติ ในทุกปีแม้จะมีคนมาศึกษาดูงาน ฝึกงานแต่ก็หายไปในช่วงที่มีโควิด และยอมรับว่ามีคนสนใจเรียนน้อยลง ยิ่งการแกะสลักไม้ไม่เหมือนงานหัตถกรรมแบบอื่นที่เมื่อทำผิดรูปแบบยังพอแก้ไขได้ แต่หัตถกรรมแกะสลักไม้ถ้าทำผิดรูปแบบต้องทิ้งอย่างเดียว จึงเป็นที่น่าเสียดาย เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยอดทนด้วย จริงๆ วัตถุดิบอย่างไม้ที่ใช้ในการแกะสลักไม่ได้หายาก แต่ที่ยากคือคนที่จะสืบทอดและรักงานนี้จริงๆ
“ผมเป็นครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 7 ยังพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ให้คนรุ่นใหม่ที่มีใจรักและชื่นชอบจริงๆแต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่านักศึกษา นักเรียนที่มาฝึกงานมาเพราะถูกครูบังคับ ไม่ได้สมัครใจ พอฝึกเสร็จก็ไม่ทำต่อเพราะไม่ได้มีใจรักจริงๆ แต่ก็ยังพบว่ามีครูสอนศิลปะในสถานศึกษาที่เป็นครูและมีรายได้ประจำแล้ว มาเรียนแล้วนำความรู้ไปต่อยอดในการสอนในสถาบันการศึกษา อันนี้เห็นผลในหลายรอบ ซึ่งการฝึกสอนของครูศิลป์เหล่านี้ก็ใช้ระยะเวลาในการฝึกไม่นานด้วย ซึ่งก็น่าจะเป็นประโยชน์มากพอควร”ครูเพชร กล่าว
ทางด้านนายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวว่า ตอนร่างกฤษฏีกาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสถาบันฯ ได้มีเรื่องเกี่ยวกับการให้ทุนสำหรับผู้ที่สนใจและมีใจรักในการหัตถกรรมไทย เพราะได้เห็นว่างานหัตถกรรมไทยกำลังเริ่มสูญหายและหาคนที่สืบทอดต่อยาก แต่คนที่มีใจรักและสืบทอดต่อที่ยังมีอยู่ก็มักขาดทุนทรัพย์ เพราะฉะนั้นต่อไปจะมีการจัดหาทุนให้กับคนที่มีใจรักจริงๆ ได้มาเรียนรู้ในหลายๆ สาขางานหัตถกรรไทยเพื่อสืบทอดให้คงอยู่ต่อไปได้
รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวอีกว่า การจัดกิจกรรมสื่อสัญจรในครั้งนี้สื่อมวลชนจะได้ช่วยเผรแพร่และกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวด้วยหลังจากสถานการณ์โควิดฯคลี่คลาย ซึ่งเป็นการช่วยเสริมจุดอ่อนในช่วงที่งานของครูช่างศิลป์ดรอปลงจากสถานการณ์โควิดฯ โดยสถาบันฯมีการบูรณาการกับทุกหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ของศิลปินเพื่อให้งานหัตถกรรมต่อยอดและอยู่ได้อย่างยั่งยืน
“ตอนนี้ได้มีการพูดคุยกับห้างสรรพสินค้าที่ดูไบ เราจะนำเอางานหัตถกรรมไทยไปบุกตลาดที่นั่นในช่วงต้นเดือนธันวาคม-31 ม.ค.66 รวมระยะเวลาประมาณ 2 เดือน โดยจะนำสินค้าหัตถกรรมจากทุกแขนงที่มีไปจัดแสดงและจำหน่ายเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้างานหัตถกรรมไทยด้วย และหากงานหัตถกรรมขายได้แพงและคุ้มค่าก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจและสืบสานต่อยอดงานหัตกรรมไทยให้คงอยู่ เป็น soft power อีกแขนงหนึ่งที่จะทำให้คนรุ่นใหม่มีชื่อเสียง โด่งดังเป็นที่ชื่นชอบไปทั่วโลกไม่น้อยกว่าการเป็นนักร้อง นักแสดง”นายพรพล กล่าวชี้แจง.
ณัชชา อุตตะมัง เขียน/ถ่ายภาพ