คณะวิจิตรศิลป์ มช. ขอเชิญร่วมพิธี “อุทิศถวายสะเปาและถวายสลากภัต เป็นราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9” โดยจัดเป็นรูปขบวนแห่สะเปาหรือเรือสำเภา บรรจุเครื่องสูง เครื่องราชูปโภค เครื่องสักการะและต้นสลากภัต แบบล้านนา จากหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มช. ผ่านถ.นิมมานเหมินทร์ จนถึงวัดเจ็ดยอด พร้อมเชิญชวนผู้มีจิตศัทธาออกโรงทาน ในวันเสาร์ที่ 14 ต.ค. 2560 เวลา 8.30 น. เป็นต้นไป ณ วัดเจ็ดยอด
ผศ.เธียรชาย อักษรดิษฐ์ ผู้รับผิดชอบในขบวนแห่ครั้งนี้กล่าวว่า จากการที่เมื่อวันที่ 13 ต.ค. ปีที่ผ่านมา ปวงชนชาวไทยเได้สูญเสียครั้งยิ่งใหญ่คือการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และในเดือนต.ค.ปีนี้ ก็ครบรอบปีพอดี ดังนั้นทางคณะสงฆ์จ.เชียงใหม่ โดยพระเดชพระคุณท่านเจ้าคณะจ.เชียงใหม่เป็นประธาน ก็มีดำริในการจัดพิธีนี้ขึ้นมาเพื่ออุทิศถวายแด่พระองค์ท่านอันเป็นวาระสำคัญอีกครั้ง
ความหมายของคำว่า “สะเปา” นั้นก็คือเรือสำเภา ซึ่งจะเป็นความหมายในเชิงสัญลักษณ์ หมายถึงการเดินทางเข้าสู่ภพภูมิที่ไกลโพ้น เป็นความหมายที่ดีงามสำหรับพุทธศาสนิกชน ซึ่งเป็นการเดินทางของชีวิตหลังความตายภายหลังจากล่วงลับดับขันธ์แล้ว ในพุทธศาสนาจึงเป็นการเดินทางครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งเพื่อไปสู่ภพภูมิ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการจัดสร้างและสะสมบุญมาตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบัน อันจะเป็นพาหนะที่จะหนุนนำทำให้ดวงวิญญาณไปสู่ภพภูมิที่สูงส่งตามที่ตนเองมุ่งมั่นปรารถนาหรือที่ตนเองสะสมบารมีเอาไว้ สิ่งนี้จึงเป็นคติความเชื่อทางพุทธศาสนาโดยเฉพาะสายล้านนา อันได้คำนึงถึงการที่จะอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับผู้วายชนม์ล่วงลับดับขันธ์ไป และได้มีการสร้างเป็นสัญลักษณ์แทนพาหนะในการเดินทางไกล โดยอาจจะเป็นการเดินทางทางน้ำหรือทางอากาศก็ได้ แต่จะต้องมีพาหนะทั้งสิ้น
“สะเปา” จึงได้ถูกสร้างขึ้นเป็นรูปสัญลักษณ์แทนเรือสำเภา ภายในบรรจุข้าวของเครื่องใช้ เครื่องอุปโภคต่าง ๆ โดยอาจเปรียบเทียบได้กับการทำพิธีกงเต็กของวัฒนธรรมจีนก็ได้ เพราะใช้แนวคิดคล้ายกัน เช่นเดียวกับพุทธศาสนาสายมหายาน ที่จะมีการจำลองสิ่งของต่าง ๆ เพื่อทำบุญให้กับคนตาย เช่น บ้าน ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้าเครื่องใช้ต่าง ๆ คล้ายกับตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังจะเห็นได้จากข่าวในพระราชสำนักช่วงนั้นก็จะมีการจัดพิธีกงเต็กแบบจีนให้กับในหลวงรัชการที่ 9 ด้วย แต่เมื่อเป็นวัฒนธรรมล้านนาจึงใช้แนวคิดเดียวกัน พร้อมกับในช่วงเดือนเดือนก.ย.-ต.ค.ของทุกปี ทางเหนือก็จะเป็นช่วงถวายสลากภัตด้วย ดังนั้น 2 งานจึงมาบรรจบกันในครั้งนี้
ในส่วนของคณะวิจิตรศิลป์ได้รับผิดชอบดูแลในส่วนของสะเปา ซึ่งได้จัดทำขึ้น 2 ลำ ด้วยกัน ลำแรกทำด้วยไม้จริงในรูปแบบเป็นทางการประดับตกแต่งสวยงาม และเมื่อจัดพิธีเสร็จแล้ว สะเปาลำนี้ก็จะถูกตั้งไว้เป็นอนุสรณ์ ให้เป็นที่ระลึกของพระองค์ท่าน ณ วัดเจ็ดยอด ส่วนอีกลำหนึ่งทางคณะวิจิตรศิลป์จะจัดสร้างเป็นสะเปาไม้ไผ่จะมีการบรรจุข้าวของเครื่องใช้แบบพื้นเมือง ทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคและประดับตกแต่งให้สวยงาม ซึ่งตรงนี้วิจิตรศิลป์เริ่มลงมือทำกันแล้วในเรื่องของการเตรียมคำพร้อมของรูปทรงต่าง ๆ ในส่วนของผู้ออกแบบสะเปานั้นคืออ.ดร. สืบศักดิ์ แสนยาเกียรติคุณ เป็นผู้ออกแบบ โดยสะเปาจะมีขนาดกว้าง 2×4 เมตร สูง 3 เมตร ซึ่งจำเป็นต้องใช้กำลังคนในการแบก โดยได้รับความร่วมมือจากกำลังทหาร ที่มาร่วมขบวนยกเสลี่ยงเครื่องสักการะ และต้นสลากคัวตานที่จะไปเข้าร่วมงานพิธี พร้อมทั้งบุคลากรและนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมมช. รวมกว่า 200 ชีวิต มีการฟ้อนเล็บนำหน้าขบวนเป็นแบบแผนของธรรมเนียมล้านนาที่มา อิงกับวัฒนธรรมพื้นบ้านที่จะอุทิศถวายแด่พระองค์เป็นครั้งสุดท้าย จึงนับว่าเป็นความยิ่งใหญ่แบบวัฒนธรรมล้านนา อันจะทำให้ขบวนมีความสมพระเกียรติ
สำหรับริ้วขบวนจะเริ่มตั้งขบวนที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มช. หน้าตลาดต้นพะยอม ในช่วงเช้าของวันเสาร์ที่ 14 ต.ค. เวลาประมาณ 9 โมง และจะแห่ไปตามเส้นทางถ.นิมมานเหมินท์ ผ่านสี่แยกรินคำไปจนถึงวัดเจ็ดยอด ซึ่งเป็นริ้วขบวนที่สวยงามแบบวิจิตรศิลป์ที่เราเคยได้ทำมา ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ดังนั้นช่วงเวลา 9- 10 น. จึงจะมีการปิดเส้นทางสัญจรตั้งแต่แยกสาธารณะสุข ถนนนิมมานเหมินท์ สี่แยกรินคำ ไปจนถึงวัดเจ็ดยอด จึงควรหลีกเลี่ยงเดินทางในวัน-เวลาดังกล่าวด้วย
สำหรับท่านที่ต้องการร่วมทำบุญในพิธีนี้ รวมถึงการออกโรงทาน สามารถติดต่อสอบถามไปที่วัดเจ็ดยอด โดยช่วงเช้าหลังจากขบวนแห่งไปถึงที่วัดก็จะเป็นพิธีทางสงฆ์ และพิธีการจะเริ่มในตอนบ่าย นอกจากนั้นยังมีมหกรรมปอยหลวง มหรสพ ซอพื้นเมืองในเรื่องพระราชประวัติหรือพระราชกรณีกิจ โดยความร่วมมือของชมรมขับขานซอพื้นเมืองล้านนา ให้ชมด้วย ในส่วนของการแต่งกายเนื่องจากยังเป็นช่วงไว้ทุกข์ และเป็นงานบุญ ทางคณะกรรมการจัดงานจึงมีมติสมควรให้เป็นชุดพื้นเมืองสีขาว หรือถ้าเป็นสีสุภาพก็ควรมีแถบริบบิ้นสีดำติดด้วย ไม่ควรเป็นเสื้อผ้าที่มีสีสันเพราะเป็นช่วงเวลาสำคัญในการครบหนึ่งรอบปีแห่งการสวรรคต
จึงก็ขอเรียนเชิญบอกบุญมายังผู้มีจิตศรัทธา พุทธศาสนิกชนและพสกนิกรชาวไทยทุกท่านที่มีใจอันเป็นกุศลให้ไปร่วมในพิธีครั้งนี้ วันเสาร์ที่ 14 ต.ค. เวลา 9.00 น. เริ่มขบวนแห่จากหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มช. ไป ณ วัดเจ็ดยอด โดยพิธีจะมีไปจนถึงเวลาประมาณ 15.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คณะวิจิตรศิลป์ มช. โทร.053-944805 หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/FINEARTSCMU
ขอบพระคุณมากค่ะ
ฉฬภิญญา ตรีวิทย์
081-7469772 / e-mail : radiofofa@gmail.com
ผู้ฝากข่าวประชาสัมพันธ์