รายงานพิเศษ เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด(ตอนที่ 1)

รายงานพิเศษ เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด(ตอนที่ 1)

- in Exclusive, เศรษฐกิจ

รายงานพิเศษ          เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด(ตอนที่ 1)

 

       ศุลกากรแม่สอดใช้ระบบบาร์โค๊ดมาช่วยในการบันทึกข้อมูล ลดการใช้เอกสาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการค้าชายแดน คาดด่านศุลกากรแห่งใหม่เสร็จทันเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2

      

เป็นเวลากว่า 10 ปีที่มีความพยายามพัฒนาพื้นที่ชายแดนที่เป็นเขตการค้าให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้มีการลงทุนภายในประเทศ โดยมีรูปแบบการบริหารและให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างไปจากที่ใช้บังคับปกติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นประตูการค้าในฐานการผลิต และระบายสินค้าของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยอาศัยวัตถุดิบและแรงงานจากพื้นที่โดยรอบทั้งภายในและประเทศเพื่อนบ้าน ผ่อนคลายกฎระเบียบที่กีดขวางทางการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ และปรับปรุงกฎหมายนโยบายสนับสนุนการลงทุนในประเทศ

นายกฤดิพรรธน์  สิงห์อุบลปิติกุล  ผู้อำนวยการส่วนบริการศุลกากร ด่านศุลกากรแม่สอด กล่าวว่า จากสถิติการค้าของด่านศุลกากรแม่สอดพบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปีพ.ศ. 2557 จาก 55,957.355 ล้านบาท เพิ่มเป็น 64,240.061,79,627.117,77,689.970 ล้านบาทในปี 2558-2560 ส่วนในปีงบประมาณ 2561 ตั้งแต่ต.ค.-ธ.ค.มูลค่าการส่งออก 18,273 ล้านบาท เหตุที่มูลค่าส่งออกในปี 2560 ลดลงเนื่องจากปลายปี 2559 ค่าเงินจ๊าดอ่อนตัว จากพันจ๊าดเท่ากับ 272 บาทเหลือเพียง 240 บาท ขณะที่การนำเข้าปี 2557 มีมูลค่า 3,519.018 ล้านบาท เพิ่มเป็น 4,073.554,4,179.126 และ 5,438.712 ล้านบาทในปี 2558-2560 และในปี 2561 มูลค่าการนำเข้าสินค้า 1,349 ล้านบาท           ในส่วนของรถบรรทุกสินค้าที่ผ่านด่านศุลากากรแม่สอดเมื่อ 6 ปีก่อนมีจำนวน 58 คัน แต่ในปี 2560 เพิ่มเป็น 316 คัน

“เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ทางกรมศุลกากรได้ใช้ระบบบาร์โค๊ดมาช่วยในการบันทึกข้อมูลและอำนวยความสะดวกให้กับการค้าชายแดน โดยเฉพาะเรื่องของเอกสารก็จะใช้ระบบอิเลคทรอนิกส์ให้มากขึ้น ส่วนสินค้าที่ส่งออกได้แก่ รถจักรยานยนต์ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง น้ำตาลทราย น้ำมันเบนซินและผ้าพิมพ์ฝ้ายร้อยเปอร์เซ็นต์ ยารักษาโรค ผ้าฝ้ายตัดเสื้อ เสื้อยืด ผ้าโพลีเอสเตอร์ เส้นด้ายควบย้อมสีและผ้าโสร่งไม่เย็บริม ขณะที่สินค้านำเข้ามูลค่าสูงสุดได้แก่ โคมีชีวิต สิ่งประดิษฐ์ทำด้วยไม้ ปลาเบญจพรรณ กระบือมีชีวิต ปูทะเลสด กุ้งสด เศษเหล็กเก่า”ผอ.ส่วนบริการศุลกากร กล่าวและว่า

ในส่วนของการสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษในระยะยาวนั้นได้มีการสร้างด่านศุลกากรแม่สอดแห่งที่ 2 ขึ้นที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2 โดยใช้งบประมาณก่อสร้าง 393 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจ้างนักวิชาการปรับปรุงแบบเดิม และคาดว่าจะสามารถทำอีออคชั่นและเริ่มก่อสร้างได้ในกลางปี 2561 ซึ่งก็คาดว่าจะเสร็จทันกับการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2 ที่จะเปิดใช้ในปี 2562

ผอ.ส่วนบริการศุลกากร ด่านศุลกากรแม่สอด กล่าวด้วยว่า เมื่อด่านศุลกากรแม่สอดเป็น 1 ในเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ถือเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้ได้รับการพัฒนาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และกรมศุลกากรก็มีประกาศหลายส่วนออกมาเพื่อสนับสนุนนโยบายนี้เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน และเชื่อว่าแนวโน้มการนำเข้าและส่งออกสินค้าผ่านด่านชายแดนแม่สอดจะเพิ่มสูงขึ้นด้วย.

 

 

ณัชชา  อุตตะมัง  รายงาน.

You may also like

SUN รุกตลาดต่างประเทศ มุ่ง Go West ร่วมงาน Americas Food & Beverage Show & Conference 2024

จำนวนผู้