แม้จะมีนโยบายจากกระทรวงสาธารณสุข ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ส่งเสริมสุขภาพเด็กอายุ 0-5 ปีให้เติบโตสมวัย ปลอดภัยปลอดโรค แต่ในเขตเทศบาลตำบลบ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ที่มี รพ.สต. จำนวน 4 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านแม่หอย รพ.สต.บ้านเมืองกลาง รพ.สต.ดอยอินทนนท์ และ รพ.สต.บ้านใหม่ห้วยเฮี๊ยะ ซึ่งมีเด็กช่วงอายุ 0-5 ปี 1,275 คน กลับพบว่าผู้ปกครองไม่พาเด็กมารับบริการตามเกณฑ์ หรือตรวจแล้วพบความผิดปกติ พอเจ้าหน้าที่นัดซ้ำเพื่อติดตามอาการ หรือรักษาต่อเนื่อง กลับไม่พามา ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องคิดหาวิธีให้ผู้ปกครองพาลูกหลานมารับบริการ
เอกสิทธิ์ วงค์ธรหัส เจ้าพนักงานสาธารณสุข รพ.สต.บ้านเมืองกลาง เล่าว่า ผลการคัดกรองเบื้องต้น เด็กช่วงอายุ 0-3 ปีในพื้นที่ มีปัญหาภาวะสุขภาพด้านพัฒนาการสติปัญญาล่าช้า 13 คน ปัญหาด้านจิตใจ ถูกกระทำรุนแรง 2 คน ขาดสารอาหาร 9 คน มีปัญหาสุขภาพในช่องปากและฟัน 26 คน เจ็บป่วย 2 คน เป็นหอบหืด 2 คน น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ 22 คนเช่นเดียวกับเด็กช่วงอายุ 3-5 ปี ที่มีปัญหาสุขภาพ 20 คน พัฒนาการสติปัญญาล่าช้า 2 คน ถูกกระทำรุนแรง 2 คน มีปัญหาสุขภาพในช่องปากและฟัน 16 คน ป่วยด้วยโรคธาลัสซีเมีย 2 คน มีปัญหาทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 1 คน และเป็นเด็กไร้สัญชาติ 25 คน เด็กเหล่านี้มักจะถูกละเลยจากผู้ปกครอง ซึ่งอาจเพราะเป็นพื้นที่สูง และเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ คือ ม้ง ปกาเกอะญอ กับคนพื้นเมือง ที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แถมเด็ก 155 คน ยังไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ โดย 137 คน อยู่กับปู่ย่า หรือตายาย ส่วน 18 คน อยู่กับญาติ
แนวทางการดำเนินงานของรพ.สต.บ้านเมืองกลาง จึงอาศัยความร่วมมือจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้ช่วยกันดูแลระบบสุขภาพและติดตามกรณีคนไข้ไม่มารับบริการ รวมถึงการเฝ้าระวังโรค ซึ่ง อสม.1 คน รับผิดชอบ 10-15 หลังคาเรือน และในจำนวนนี้ก็จะมีเด็กปฐมวัยราว 1-3 คน โดย อสม. แต่ละคนที่จะเข้าไปทำหน้าที่ ต้องผ่านการอบรมจากโรงเรียน อสม. เพิ่มพูนความรู้ และศักยภาพในการดูแลเด็กเล็ก เช่น ตรวจฝากครรภ์ ตรวจเยี่ยมหญิงหลังคลอดเพื่อส่งเสริมให้นมแม่ สามารถคัดกรองเบื้องต้น และติดตามได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนอกจากการติดตามตรวจเยี่ยมโดยตรงแล้ว ยังมีการเพิ่มช่องทางติดต่อด้วยแอปพลิเคชั่นไลน์อีกด้วย
ขณะเดียวกันก็จัดคลินิกตรวจคัดกรองพัฒนาการเด็กในสถานบริการเดือนละ 1 ครั้ง โดยจัดสภาพแวดล้อมเพื่อให้เด็กแสดงพัฒนาการออกมาตามจริง พร้อมทั้งทำสมุดประจำตัวเด็ก และระบุประวัติการได้รับวัคซีนที่จำเป็น รวมทั้งจัดมุมส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในด้านต่างๆ ให้ผู้ปกครองทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก และให้ความรู้ผู้ปกครองเรื่องการดูแลบุตรหลาน เช่น แนวทางส่งเสริมพัฒนาการ การป้องกันโรคในเด็ก ให้คัดกรองโรคเด็กเบื้องต้นได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคหืดหอบ อีสุกอีใส ฯลฯ จะได้พามาโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที เอกสิทธิ์ เล่าถึงแผนที่จะทำในช่วงต่อไปว่า รพ.สต.ในเขต ต.บ้านหลวง ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงมีแผนจะสร้างเครือข่ายในชุมชน ให้ผู้ปกครองมีช่องทางสื่อสาร ปรึกษาเจ้าหน้าที่ได้แบบง่ายๆ และรวดเร็ว โดยใช้สื่อโซเชียลมีเดีย อย่างเฟสบุ๊ค หรือไลน์ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การดูแลเด็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเด็กช่วงวัย 0-5 ปี ได้รับการบริการด้านสุขภาพทั้งเชิงรุก-เชิงรับครบทุกคน ทั้งด้านการป้องกัน รักษา และส่งเสริมพัฒนาการ เพื่อสุขภาพที่ดีของเด็กอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังจะสร้างที่พักสำหรับเด็กที่มารอรับบริการที่ รพ.สต. เพราะปกติเด็กจะตื่นกลัว ถ้ามีสถานที่ระหว่างรอรับริการให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด ก็จะส่งผลดี เพิ่มประสิทธิภาพทั้งการให้บริการ และรับบริการได้.