ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มช.จัดรับฟังความเห็นของชาวบ้านในตำบลป่าป้อง หลังอบจ.เชียงใหม่ มีแนวคิดที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนให้มีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ศูนย์การจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เชียงใหม่ หมู่ที่ 1 บ้านป่าตึงน้อย ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ นายอรรถชา กัมปนาทแสนยากร นายอำเภอดอยสะเก็ด เป็นประธานกล่าวเปิดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต่อโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอย อบจ.เชียงใหม่ ที่ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฏิรูป ผลจันทร์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.)หัวหน้าโครงการฯ และคณะ โดยมี นายสมชาติ วัฒนากล้า ผอ.กองการช่าง เป็นตัวแทน อบจ.เชียงใหม่ เข้าร่วมประชุมกับชาวบ้านจำนวนกว่า 500 คน
นายอรรถชา กัมปนาทแสนยากร นายอำเภอดอยสะเก็ด กล่าวว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ทางเนื่องจากอบจ.เชียงใหม่ มีแนวคิดที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนจากเดิมด้วยการคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ การหมักปุ๋ยชีวภาพ การฝังกลบตามหลักสุขาภิบาล แต่เนื่องจากศูนย์การจัดการขยะมูลฝอยแห่งนี้ มีอายุการใช้งานมานานกว่า 10 ปี และมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ฝังกลบ ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการบริหารจัดการขยะมูลฝอย และให้สอดคล้องกับแผนแม่บทและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงมีความประสงค์ดำเนินโครงการ การบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องฝังกลบ รวมถึงนำกลับคืนวัสดุและพลังงานให้ได้มากที่สุด เป็นการัดการขยะมูลฝอยแบบเบ็ดเสร็จย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกันการดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นรูปแบบการดำเนินโครงการของภาครัฐ จึงจำเป็นต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ซึ่งกลุ่มเป้าหมายคือประชาชนที่อาศัยในรัศมี 1 กม.รอบโครงการ 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ 1 บ้านป่าตึงน้อย, หมู่ 8 บ้านทุ่งยาว และ หมู่ 11 บ้านกิ่วแล อ.ดอยสะเก็ด ทั้งหมด และหากการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้แล้ว ประชาชนยังมีข้อสงสัย ก็ขอให้มีการคัดเลือกหรือตั้งกรรมการมาหมู่บ้านละ 10-15 คน เพื่อจะได้มีการประชุมย่อยกับทางคณะอาจารย์ของมช. ซึ่งจะมีการดำเนินการต่อเนื่องในระยะ 6-8 เดือนจากนี้ และการเปิดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ไม่มีการกดดันหรือบังคับ ประชาชนสามารถสอบถามได้เต็มที่และหากใครยังติดใจสงสัยก็ขอให้มาร่วมเป็นกรรมการหมู่บ้านที่จะเข้าร่วมประชุมกับทางมช.ต่อไป
ด้านนายสมชาติ วัฒนากล้า ผอ.สำนักการช่าง อบจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่แห่งนี้ได้ดำเนินการจัดสร้างเป็นศูนย์จัดการขยะฯมากว่า 10 ปีใช้งบประมาณจากภาครัฐซึ่งเป็นภาษีของประชาชนมาดำเนินการก่อสร้างบนเนื้อที่ 160 ไร่ แต่เนื่องจากพื้นที่ที่มีจำกัดขณะเดียวกันทางอบจ.ก็ต้องมีระบบการบริหารจัดการศูนย์จัดการขยะมูลฝอยฯจึงได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยสุรนารีศึกษาและออกแบบว่าในพื้นที่แห่งเดิมนี้จะสามารถดำเนินการบริหารจัดการขยะอย่างไรได้ ซึ่งผลการศึกษาได้ออกมาแล้ว
“เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับต้นๆ ดังนั้นต้องพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่น่าท่องเที่ยวแบบยั่งยืน จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการจัดเก็บขยะที่ครบวงจร จึงต้องรับฟังความเห็นของชาวบ้านเพื่อจะนำไปพัฒนาในการดำเนินการกำจัดขยะที่ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมและอบจ.เชียงใหม่ได้ว่าจ้างให้ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มช.ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและเป็นมหาวิทยาลัยในพื้นที่ มารับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ส่วนปัญหาต่างๆ ในอดีตก็ขอให้เป็นอดีตแต่ในอนาคตอบจ.จะดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ”ผอ.กองช่าง อบจ.เชียงใหม่ กล่าว
ขณะที่ผศ.ดร.ปฏิรูป ผลจันทร์ หน.ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช.กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติและหลักเกณฑ์ และแนวทางการดำเนินโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ อบจ.เชียงใหม่ ซึ่งได้มอบหมายให้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ซึ่งเป็นหน่วยงานภาควิชาการ ที่ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโครงการ เป็นผู้ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่มีต่อโครงการ เพื่อประกอบรายละเอียดข้อมูลโครงการฯในการนำเสนอขอความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับศูนย์จัดการขยะมูลฝอย ของ อบจ.เชียงใหม่ปัจจุบันมีเอกชนดำเนินการกำจัดขยะแบบรีไซเคิล โดยนำขยะในพื้นที่ 13 เทศบาล และ 1 อบต. ขยะมีจำนวนมากถึง 20 ตันต่อวัน จากที่จะต้องมีขยะจาก 30 อปท.ในพื้นที่ อ.ดอยสะเก็ด อ.สันกำแพง อ.แม่อ่อน และ อ.สันทราย ที่ยังไม่สามารถนำขยะมาทิ้งที่ศูนย์ฯขยะ อบจ.เชียงใหม่ได้ เพราะสัญญาค้างเก่ากับเอกชนรายอื่นที่รับกำจัดขยะอยู่ และการประชุมเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ครั้งนี้เพื่อให้มีทางเลือกอื่น เช่นระบบกำจัดขยะของ อบจ.ควรปรับปรุงอะไรบ้าง และให้ชุมชนแสดงความคิดเห็นว่าชุมชนโดยรอบโครงการควรได้รับประโยชน์ หรือชดเชยจากโครงการอย่างไร.