ผู้ว่าฯออกคำสั่ง 4 ฉบับให้อปท.ระดมฉีดพ่นน้ำ สร้างความชุ่มชื้น ควบคุมรถควันดำหลังค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่มสูง

ผู้ว่าฯออกคำสั่ง 4 ฉบับให้อปท.ระดมฉีดพ่นน้ำ สร้างความชุ่มชื้น ควบคุมรถควันดำหลังค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่มสูง

พ่อเมืองเชียงใหม่ลงนามแจ้งอปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระดมทำความสะอาด ฉีดพ่นน้ำ สร้างความชุ่มชื้น เผยประกาศ 60 วันห้ามเผาเด็ดขาดเริ่ม 1 มี.ค.-30 เม.ย.แจ้งเบาะแสรับเงินรางวัล ยันเฝ้าระวังเต็มที่ ขณะที่สิ่งแวดล้อมภาควอนประชาชนอย่าตื่นตระหนก แจงการตรวจวัดและเกณฑ์ดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษอยู่ในระดับมาตรฐาน

               วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ห้องประชุม 4 อาคารอำนวยการศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ พร้อมชี้แจงถึงแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าของจังหวัดเชียงใหม่ว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดกิจกรรมคิกออฟในเรื่องนี้มานานแล้ว โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างการรับรู้และตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน และได้กำหนดช่วง 60 วันห้ามเผาเด็ดขาดตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม-30 เมษายน 2562 โดยในห้วงดังกล่าวหากพบเบาะแสและพบการเผาทั้งในที่โล่งหรือพื้นที่ป่า ข้างทางก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งจะดำเนินการจับกุมดำเนินคดี ขณะที่ผู้แจ้งเบาะแสไปจนสามารถจับกุมผู้ที่เผาได้จะมีรางวัลนำจับให้

ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ภายในวันนี้จะลงนามในคำสั่ง 4-5 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นล้างทำความสะอาดถนนสาธารณะต่างๆ รวมทั้งสร้างความชุ่มชื้น ให้ทางสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ไปดำเนินการตรวจเพื่อควบคุมรถที่ปล่อยควันดำ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูแลเขตที่มีการก่อสร้าง โรงงานต่างๆ ไม่ให้ปล่อยมลพิษฝุ่นละอองออกมา ซึ่งส่วนนี้ทางกอ.รมน.จังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกๆ วันๆ ละ 5-7 โรงทั้งที่เป็นโรงงานและโรงโม่หิน และให้อบต. เทศบาลกำหนดจุดปล่อยสเปรย์น้ำ เพื่อสร้างความชุ่มชื้น และประกาศจังหวัดเชียงใหม่เรื่องห้ามเผาขยะ วัชพืชในที่โล่งแจ้ง ซึ่งได้มีหนังสือสั่งการไปท้องถิ่นก่อนหน้านั้นแล้ว ส่วนวันนี้จะเป็นคำสั่งและประกาศสำหรับประชาชนทั่วไป

“ทางจังหวัดให้ความสำคัญอย่างมากกับเรื่องปัญหาหมอกควันและไฟป่า ซึ่งวันนี้จะเห็นว่ามีสภาพอากาศที่ฟ้าหลัว ก็รีบให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรวจเช็คว่ามีการเผาที่ไหน ซึ่งในดาวเทียมก็ไม่พบจุด Hot Spot ในจังหวัดเชียงใหม่แต่อย่างใด นอกจากนี้ยังให้ทางอำเภอเมืองเช็คกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ว่าในรัศมี 5 กิโลเมตรในเขตท้องที่ตนเองมีการเผาเกิดขึ้นหรือไม่ ก็พบว่าไม่มีการเผาเกิดขึ้น และเป็นไปได้ว่าหมอกควันที่พบมาจากจังหวัดใกล้เคียง แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าหมอกควันฝุ่นละอองขนาดเล็กจะมาจากไหนเราก็จะดูแลประชาชนของเราให้ดีที่สุด”นายศุภชัย กล่าวและชี้แจงอีกว่า

สิ่งที่ต้องดำเนินการทั้งในระยะกลางและระยะยาวคือลดปัญหาการเผาวัชพืชและเศษซากวัสดุทางการเกษตร ซึ่งชาวบ้านก็มีความจำเป็นที่จะต้องเผาในบางส่วน แต่ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ฝังกลบตอซังแทนการเผา รวมทั้งต้องปรับเปลี่ยนการผลิตให้กับเกษตรกร ให้เขามีรายได้ที่ดีขึ้นโดยลดการปลูกพืชเชิงเดียว แต่มาปลูกชนิดอื่นทดแทนและให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า โดยใช้แม่แจ่มโมเดลซึ่งดำเนินการไปได้ผลค่อนข้างดี และกำลังจะขับเคลื่อนอีกหลายจุดแต่เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลา ตั้งแต่ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันสภาพอากาศของเชียงใหม่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ยังไม่จำเป็นที่จะต้องประกาศให้ประชาชนต้องสวมหน้ากาก แต่หากช่วงไหนที่คุณภาพอากาศไม่ดีก็จะมีการแจ้งเตือนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ต้องสวมหน้ากากอนามัยป้องกันไว้ด้วย ซึ่งทางจังหวัดยืนยันว่าจะไม่มีการปกปิดข้อมูลแน่นอน

ทางด้านนายระพีศักดิ์ มาลัยรุ่งสกุล ผอ.สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1(เชียงใหม่) กล่าวว่า เนื่องจากมีการแชร์ข้อมูลแอพพลิเคชั่นตรวจวัดคุณภาพอากาศ และเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศของต่างประเทศออกไป ซึ่งทำให้ประชาชนตื่นตกใจและวิตกกังวล ทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 ร่วมกับสนง.สิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 และ 3 ได้ดำเนินการพัฒนาช่องทางเผยแพร่ข้อมูลฝุ่น PM2.5 PM10 และสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือรวมถึงข้อมูลข่าวสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องผ่านเฟสบุ๊คภายใต้ชื่อ “อากาศบ้านเฮา”ซึ่งมีการรายงานทุกวันในช่วงสถานการณ์เริ่มเข้าสู่ระดับรุนแรงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคมหรือจนกว่าสถานการณ์จะเบาบางลง และมีการแจ้งเตือนผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และแนวทางป้องกันตนเองในช่วงที่ฝุ่นมีค่าเกินมาตรฐาน โดยใช้ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง

“กรมควบคุมมลพิษได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศของเชียงใหม่แบบมาตรฐานซึ่งมีอยู่ 2 จุดคือที่ต.ช้างเผือกและต.ศรีภูมิ ซึ่งเครื่องมือนี้มีมูลค่า 8 ล้านกว่าบาท และยังมีโมบายเคลื่อนที่ ประจำอยู่ที่อ.แม่แจ่มและดอยสุเทพอีก ซึ่งโมบายนี้มีมูลค่า 3-4 ล้านบาท และหากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศพบว่าค่า AQI เกิน 100 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.ก็จะมีการแจ้งเตือนประชาชนทันที”

ผอ.สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 (เชียงใหม่) กล่าวอีกว่า สำหรับค่ามาตรฐานฝุ่นละอองในบรรยากาศของประเทศไทยค่า PM 2.5 จะต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร PM10 ต้องไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.ค่า AQIหรือดัชนีคุณภาพอากาศมาตรฐานต้องไม่เกิน 100 แต่ของสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปที่เอามาแชร์กัน PM 2.5 จะอยู่ที่  35.4 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.PM10 ต้องไม่เกิน 154 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.และAQI ต้องไม่เกิน 100 ซึ่งค่า PM2.5 ที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.ก็ได้มาจากงานวิจัย(ปี 2550ป 3-4 แห่งที่มีการเสนอมาตั้งแต่35,50 และ 75 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.และกรมควบคุมมลพิษใช้ค่ากลางคือ 50 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.ในปี 2553 ซึ่งขณะนี้ก็ประมาณ 10 ปีผ่านไป กระทั่งเมื่อเกิดปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานที่กรุงเทพฯเมื่อเร็วๆ นี้ ทางกรมฯก็จะมีการทบทวนถึงค่าเฉลี่ยดังกล่าวอีกครั้ง ก่อนที่จะมีประกาศออกมาว่าควรจะใช้ค่า PM2.5 ที่จำนวนเท่าใดแน่

“สำหรับการรายงานผลของ CCDC หรือศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้มีการพัฒนาเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศ PM2.5 และ PM10 ที่มีชื่อว่า DustBoy ซึ่งได้นำไปตรวจวัดในพื้นที่อำเภอต่างๆ ของจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง และยังได้พัฒนาระบบรายงานผลออนไลน์ผ่านเวบไซต์แต่จะเป็นเรียลไทม์ รายชั่วโมง ซึ่งหากประชาชนดูก็อยากจะให้ดูผลค่าเฉลี่ยราย 24 ชม.

 

You may also like

รมว.ท่องเที่ยวฯเตรียมเสนอรัฐบาลดันโครงการ”แอ่วเหนือคนละครึ่ง”จัดครม.สัญจรสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวหวังฟื้นฟูได้ทันพ.ย.นี้

จำนวนผู้