ประชารัฐอ.แม่แจ่มร่วมกับหน่วยงานภาคีองค์กรเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ภาคธุรกิจ วิชาการและสถาบันการเงินรวมทั้งภาคประชาสังคมร่วมลงนามในบันทึกเจตนารมณ์ขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลพลัส สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หวัง 1 ปีเห็นผลเป็นรูปธรรม
ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีร่วมลงนามบันทึกเจตนารมณ์:ว่าด้วยการขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลพลัสสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) ระหว่างประชารัฐอำเภอแม่แจ่มกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ สถาบันวิชาการ สถาบันการเงิน และภาคประชาสังคม
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี ประธานคณะอนุกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้าง(ป.ย.ป.) กล่าวถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า มีอีกหลายพื้นที่ที่เป็นความหวังของการปฏิรูปที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการป่า ทั้งที่แม่แจ่ม น่านและภาคใต้ที่มีอยู่ 2 แง่มุมซึ่งสะท้อนว่าการปฏิรูปทำได้จริง มีความสำเร็จและก้าวหน้าที่จะเอามาเป็นแผนในการเดินไปข้างหน้าในอีก 5 ปี
ทั้งนี้จะต้องมีการถอดรูปแบบของแม่แจ่มโมเดลออกมา เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนว่าการปฏิรูปประเทศทำได้จริงและต้องเดินหน้ากันต่อไป และก็ไม่อยากเห็นแค่พื้นที่ตัวอย่างนำร่อง แต่อยากเห็นว่าสามารถนำไปขยายได้อีก เพราะฉะนั้นภายในระยะเวลา 1 ปีแรกจะต้องเห็นความชัดเจนที่จับต้องได้ ทางคณะกรรมการปฏิรูปประเทศจะเอาความสำเร็จของแม่แจ่มโมเดลนี้มาถอดบทเรียนออกมาในรูปของระเบียบ กติกา การแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งป่าไม้ ป่าชุมชน ท้องถิ่นและที่ทำกินไปจนถึงประมวลกฎหมายป่าไม้ต่างๆ ด้วย
“คนที่ไม่เคยมาสัมผัสกับเรื่องป่าไม้จะไม่เข้าใจ ยุทธศาสตร์ชาติจัดทำขึ้นก็เพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs เป็นสิ่งที่ผู้นำหลายประเทศได้ทำร่วมกัน โดยมีเป้าหมายว่าใน 15 ปีข้างหน้าจะเดินกันอย่างไร วิถีการพัฒนาจะเป็นอย่างไร และก็มียุทธศาสตร์ระดับพื้นที่ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ทำให้เกิดความยั่งยืนต่อไป”รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี ประธานคณะอนุกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้าง(ป.ย.ป.) กล่าว
สำหรับบันทึกเจตนารมณ์:ว่าด้วยการขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลพลัสสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) มีวัตถุประสงค์ที่จะสนับสนุนหยุดการบุกรุกพื้นที่ป่าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมทั้งการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สร้างป่า สร้างรายได้ สร้างพื้นที่สีเขียว และดำเนินการอนุรักษ์ คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืนต่อไป ด้วยบทบาทร่วมขององค์กรภาคีที่จะเข้ามาสนับสนุนภายใต้แผนงาน เป้าหมาย ยุทธศาสตร์การจัดการเชิงพื้นที่ร่วมกัน
ขอบเขตการดำเนินงานตามเจตนารมณ์
2.1 กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และคณะกรรมการหมู่บ้าน 104 หมู่บ้าน 7 ตำบล อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอยู่ใกล้ชิดกับชุมชน ใกล้ชิดกับปัญหาของชาวบ้านในระดับฐานราก จึงมีบทบาทสำคัญที่จะสนับสนุน เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนในพื้นที่ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติการให้เกิดการแก้ไขปัญหา พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เกิดขึ้นและนำไปสู่การปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมได้
2.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นองค์กรที่มี พรบ.การกระจายอำนาจท้องถิ่น ซึ่งให้อำนาจท้องถิ่นในการสนับสนุน ส่งเสริม ดำเนินการงานพัฒนาสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และอื่นๆ ที่มีแผนงาน (แผนพัฒนาตำบล 3 ปี แผนพัฒนาตำบล 5ปี) งบประมาณ บุคลากร สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ยินดีที่จะเข้าร่วมดำเนินการในการสนับสนุนให้เกิดการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้ง 7 ตำบล สนับสนุนงบประมาณตามแผนงานที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนในพื้นที่ รวมทั้งเป็นหน่วยประสานงานหลักในระดับท้องถิ่นที่จะเชื่อมโยงการสนับสนุนจากหน่วยงาน องค์กรภาคส่วนต่างๆ เข้ามาดำเนินการในพื้นที่ให้เกิดการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับจังหวัด อบจ. ยินดีสนับสนุนอุปกรณ์การดำเนินการในการพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาถนนตามแนวทางศาสตร์พระราชา
2.3 หน่วยงานราชการ
– ฝ่ายปกครอง ประกอบด้วย หน่วยงานราชการในระดับพื้นที่ (อำเภอแม่แจ่ม) เป็นหน่วยงาน ที่ทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการดำเนินการประสานงานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน ตั้งแต่ขออนุญาตดำเนินการ ตาม มาตรา 19 พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ การยกระดับพัฒนากลไกการทำงานเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์จังหวัด การประสานหน่วยงาน องค์กรภาคีเข้ามาสนับสนุนตามแผนงาน ยุทธศาสตร์เป้าหมายการขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลพลัสอย่างเป็นรูปธรรม และหน่วยงานราชการในระดับจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เชื่อมโยงแผน ยุทธศาสตร์พื้นที่ เชื่อมโยงประสานภาคีทุกภาคส่วนให้เกิดแผนงาน กิจกรรม โครงการ ที่จะไปสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติการอย่างยั่งยืน
– ส่วนราชการกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบพื้นที่ป่าตามกฎหมาย ทั้งการอนุรักษ์ ป้องกัน และฟื้นฟู ยินดีที่จะยกระดับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และภาคี ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการป่าให้เกิดประสิทธิภาพและยั่งยืน ทั้งนี้โดยจะพิจารณานำกรอบกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ มาตรา 19 ที่จะพิจารณาอนุมัติ อนุญาตตามความเหมาะสม
– กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และอุทยานแห่งชาติออบหลวง และพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติแม่โถ รวมทั้งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติอื่นๆที่ดำเนินการในพื้นที่ ยินดีที่จะเข้าร่วมดำเนินการในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างยั่งยืน ทั้งนี้โดยจะพิจารณาพัฒนาเป็นพื้นที่ดำเนินการนำร่อง ตามกรอบกฎหมาย ตามความเหมาะสมต่อไป
– ส่วนราชการอื่นๆที่เกี่ยงข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (เกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด) กระทรวงทรัพยากรน้ำ กรมประมง ฯลฯ เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาอาชีพ ระบบการผลิตการเกษตร ระบบการจัดการน้ำ ที่จะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้อยู่ดีกินดี และพัฒนาพื้นที่เกษตรให้สามารถเดินตามแนวทางศาสตร์พระราชา สร้างป่า สร้างรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนได้
- หน่วยงานองค์กรภาคีสนับสนุน
– ส่วนงานวิชาการ งานข้อมูล ทั้งสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และสถาบันการศึกษาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เป็นองค์กรทางการศึกษา ข้อมูล ความรู้ที่สามารถหนุนเสริม สนับสนุนงานวิชาการ งานวิจัย และเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของนักศึกษา คณาจารย์ ยินดีที่จะลงไปสนับสนุนชุมชนเป็นนักวิจัย ยกระดับงานวิจัยพื้นที่ ให้เกิดการปฏิบัติการการจัดการพื้นที่อย่างยั่งยืนได้ และการสนับสนุนงานข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ GIS เป็นเครื่องมือในการพัฒนาพื้นที่ การกำหนดขอบเขตพื้นที่ตามกรอบกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ มาตรา 19 ที่จะพิจารณาอนุมัติ อนุญาตตามความเหมาะสมโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน
– สถาบันทางการเงิน อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่มีทุนทางการเงินพร้อมที่จะดำเนินการในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง การจัดการปัญหาหนี้สินของเกษตรกรซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่สมควรได้รับการแก้ไข ทั้งนี้ยินดีที่จะนำเสนอเรื่องการพักชำระหนี้ การปลูกไผ่ชำระหนี้ การพัฒนาความเข้มแข็งกองทุนหมู่บ้านที่จะมาสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่อย่างเหมาะสม เพื่อพิจารณาอนุมัติ อนุญาตตามความเหมาะสมต่อไป
– หน่วยงานสนับสนุนความเข้มแข็งองค์กรชุมชนและกลไกเชิงสถาบัน อาทิ สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ภาคประชาสังคม กรมส่งเสริมคุณภาพคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการสนับสนุนความเข้มแข็งองค์กรชุมชน ในการพัฒนากลุ่ม องค์กรเครือข่ายให้มีสถานะกลไกเชิงสถาบัน ทั้งนี้ยินดีที่จะสนับสนุนให้เกิดการสร้างกลุ่ม องค์กรเครือข่าย ให้มีสถานะที่เป็นทางการ ให้เกิดสภาองค์กรชุมชนทุกตำบล มีอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.)ทุกหมู่บ้านที่จะดูแล ฟื้นฟูป่าอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรทุกหมู่บ้านเป็นสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติและเชื่อมโยงพัฒนาข้อเสนอนโยบายสาธารณะในระดับชาติมาสนับสนุนการปฏิบัติการขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลพลัสอย่างมีพลังร่วมกับภาคีเครือข่ายอื่นๆในพื้นที่
– หน่วยงานสนับสนุนระบบการตลาด การแปรรูป อาทิ บริษัทประชารัฐรักสามัคคีเชียงใหม่ บริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มเชียงใหม่เมืองกาแฟ เป็นองค์กรภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบการตลาด การแปรรูป เชื่อมโยงการผลิตของเกษตรกรสู่กลไกทางการตลาดในเมือง ทั้งนี้ยินดีจะสนับสนุน ส่งเสริมการตลาดให้กับเกษตรกรทั้งระบบการขายตรง และระบบการตลาดออนไลน์ และเชื่อมโยงการแปรรูปผลผลิตสู่การตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ
– หน่วยงานสนับสนุนการเชื่อมโยงนโยบาย กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะอนุกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้างฯ (ภายใต้กลไก ป.ย.ป.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เป็นหน่วยงานองค์กรที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงประเด็นปัญหา สถานการณ์ กระบวนการทำงานในพื้นที่ ยกระดับพัฒนาให้เป็นข้อเสนอทางนโยบาย ยินดีที่จะสนับสนุนให้เป็นพื้นที่รูปธรรม โมเดลการขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลพลัสสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและยุทธศาสตร์ชาติ
- การดำเนินการ
บันทึกเจตนารมณ์นี้ ในการดำเนินการขั้นตอนต่อไป หน่วยงานองค์กรภาคีเครือข่ายจะร่วมกันกำหนดรายละเอียดเฉพาะเรื่องภายใต้ขอบเขตนี้ และต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่าย
- 4. บันทึกเจตนารมณ์ฉบับนี้ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของหน่วยงานองค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนให้การขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลพลัสสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่เป็นจริง และนำไปสู่การปฏิบัติการในพื้นที่ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอำเภอแม่แจ่มต่อไป
- 5. บันทึกเจตนารมณ์นี้มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามร่วมกัน หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความประสงค์ที่จะยกเลิกความผูกพันตามบันทึกเจตนารมณ์นี้ ให้ฝ่ายที่มีความประสงค์ดังกล่าวแจ้งยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทุกฝ่ายทราบไม่น้อยกว่า 30 วัน