ดัน 10 แผนงานแก้ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือสู่ความยั่งยืน “ลุงป้อม”กำชับทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์

ดัน 10 แผนงานแก้ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือสู่ความยั่งยืน “ลุงป้อม”กำชับทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์

กระทรวงทรัพย์เร่งสรุปแผนแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันให้เสร็จภายในเดือนก.ย.ก่อนนำเข้าครม. เผย 10 แผนงานสู่การแก้ไขไฟป่าและหมอกควันอย่างยั่งยืน “ลุงป้อม”สั่งผู้ว่าฯ 9 จังหวัดทำงานร่วมกับกระทรวงทรัพย์ และทหารอย่างสร้างสรรค์ สร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน

เมื่อวันที่ 21 พ.ค.63 ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมารับฟังสรุปการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปผลและถอดบทเรียน (After Action Review : AAR) ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤษภาคม 2563

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กล่าวรายงานว่า ปัญหาหมอกควันภาคเหนือเกิดขึ้นยาวนานและรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ปี 2554 กระทรวงทรัพย์ฯได้ให้ 9 จังหวัดภาคเหนือออกประกาศห้ามเผาเด็ดขาด และปี 2558 ได้เริ่มใช้ระบบ Single Command   อย่างไรก็ตามปี 2562-2563 สถานการณ์กลับรุนแรงต่อเนื่องแม้จะระดมสรรพกำลังแก้ปัญหา ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีได้เดินทางมามอบนโยบายและติดตามเร่งรัดแก้ปัญหา 2 ครั้ง ทั้งนี้ห้วงที่เกิดวิกฤตสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้มีการระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนเพื่อดับไฟและเฝ้าระวัง มีการจับตาลงไประดับตำบล หมู่บ้านในกลุ่มเสี่ยง ทั้งกลุ่มหาของป่าและผู้ได้รับสิทธิทำกิน และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ กระทรวงฯได้หารือกับเลขาธิการอาเซียนมาตลอด ในเรื่องของปัญหาหมอกควันข้ามแดน จนทำให้จุดความร้อนลดลงต่ำกว่าปีที่ผ่านมา แต่คุณภาพอากาศยังมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เมื่อสิ้นสุดสถานการณ์กระทรวงฯจึงได้จัดถอดบทเรียน เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด วิเคราะห์สาเหตุให้ตรง ซึ่งการประชุมถอดบทเรียนปีนี้แบ่งเป็นกลุ่มย่อย 3 กลุ่มๆ แรกเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวง กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายและจิตอาสา และกลุ่มสุดท้ายเป็น กลุ่มทหารและ 9 จังหวัดภาคเหนือ

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตั้งแต่มีไฟป่ายังไม่เคยมีการจับกุมและดำเนินคดีได้มากเท่าปีนี้ แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ปีนี้หนักหนากว่าหลายปีที่ผ่านมา เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนกระทรวงฯจึงให้ความสำคัญในการฟื้นฟูป่าและถอดบทเรียน เพื่อรับฟังความคิดเห็น หารือ ข้อเสนอแนะ ปัญหาอุปสรรคเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดและยั่งยืน

สำหรับการถอดบทเรียนครั้งนี้แยกตามกลุ่ม ซึ่งสรุปได้ว่า สาเหตุของการเกิดไฟป่าฯ กลุ่มจนท.กระทรวงฯมองว่าสาเหตุมาจากการเข้าป่า หาของป่า ล่าสัตว์ เผาพื้นที่เกษตร ซึ่งเป็นการเผานอกพื้นที่ป่าและไม่สามารถควบคุมได้จึงลามเข้าพื้นที่ป่า ในขณะที่ภาคประชาชนมองว่าเป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ประชาชนไม่มีรายได้ทำให้ประชาชนต้องเข้าไปหาของป่า และอีกสาเหตุคือความขัดแย้งระหว่างจนท.กับประชาชน ประชาชนขัดแย้งกันเอง การกลั่นแกล้ง และอีกสาเหตุคือเรื่องของการจัดการที่ดินป่าไม้ ซึ่งเชื่อว่าเมื่อประชาชนไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดินจึงไม่หวงแหนและรักษา

ในส่วนของปัญหาอุปสรรคในการทำงาน กลุ่มจนท.กระทรวงฯมองว่าอุปสรรคคือกำลังพลและเครื่องมือที่ไม่เพียงพอและไม่ทันสมัย ที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานมีศักยภาพมากขึ้น เช่น ฮ.ดับไฟ โดรนและเครื่องเป่าลม ซึ่งเมื่อเกิดไฟลุกลามต้องโยกจนท.จากส่วนอื่น ภาคอื่นมาช่วย การจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ไม่ทันตามกำหนดและไม่สอดคล้องกับตารางห้ามเผาของจังหวัด และการจัดการจุดความร้อนไม่ทันกับการดำเนินการ

ทางภาคประชาขนมองปัญหาว่าขาดความรู้และขาดสวัสดิการ ทำให้เครือข่ายเกิดความสูญเสียและไม่ได้รับค่าตอบแทน ขาดการมีส่วนร่วมตั้งแต่วางแผนไปจนถึงการปฏิบัติ มีความขัดแย้งจากมาตรการห้ามเผา ซึ่งกลุ่มชาติพันธ์มีความจำเป็นต้องเผา และสุดท้ายคือข้อจำกัดด้านข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการเชื้อเพลิงที่เหมาะสม การจัดการฝุ่นละออง

ส่วนหน่วยภาครัฐมองว่าการสั่งการช่วงวิกฤตขาดหน่วยงานกลาง  แบบศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด(ศบค.) หากสถานการณ์ไฟป่าสามารถใช้โครงสร้างแบบเดียวกับ ศบค.ได้จะดี นอกจากนี้ประชาชนยังขาดความรู้ มีการแชร์ข้อมูลเท็จและแสดงความเห็นที่ทำให้เกิดการแตกแยก ขาดแคลนอุปกรณ์และกำลังคน รวมถึงปัญหาหมอกควันข้ามแดน

รมว.ทรัพย์ฯ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จและแก้ไขอย่างยั่งยืนได้ต้องใช้พรบ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยเป็นหลัก โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหลัก ,มีการสั่งการแบบซิงเกิ้ลคอมมานตั้งแต่ระดับชาติลงมาระดับจังหวัด อำเภอและตำบล การให้ความสำคัญของผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่นายกรัฐมนตรีที่ประสานกับอาเซียนในเรื่องหมอกควันข้ามแดน รองนายกรัฐมนตรี(ประวิตร)ติดตาม สั่งการสถานการณ์เอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริหารระดับสูงของประเทศให้ความสำคัญกับสถานการณ์ไฟป่าเป็นอย่างยิ่ง แม่ทัพภาคที่ 3 ผู้ว่าฯและรองผู้ว่าทั้ง 9 จังหวัดมีการติดตาม สั่งการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง การบูรณาการกำลังพลทั้งไฟป่า ปกครอง ทหาร ตำรวจ เครือข่ายจิตอาสาในการเข้าไปทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่จะมีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของจนท.เช่น  โดรน

“มาตรการสร้างแรงจูงใจจะเป็นปัจจัยหนึ่งลดการเผาป่า การมีส่วนร่วมของชุมชนในการเฝ้าระวัง ซึ่งประชาชนจะมีบทบาทในการดูแลและเฝ้าระวัง การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนโดยเฉพาะ CSR ซึ่งปัจจุบันได้เข้ามาทำงานร่วมกับรัฐมากขึ้น ภาควิชาการก็เข้ามาสนับสนุนและมีความสำคัญอย่างยิ่ง การจัดระเบียบการเผา การวางตารางและกำหนดการเผาในแต่ละพื้นที่ตามวิถีชีวิตของชาวบ้านก็สามารถลดปัญหาลงได้”นายวราวุธ กล่าวและชี้แจงอีกว่า

กระทรวงฯได้ยกร่างเป็นแผนงานแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันออกเป็น 10 แผน โดยตั้งคณะกรราการบริหารจัดการไฟป่าและหมอกควัน ระดับชาติมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ เป็นประธาน ระดับจังหวัดมีผู้ว่าฯเป็นประธาน และระดับอำเภอนายอำเภอเป็นประธาน มีการจัดหางบประมาณ บริหารจัดการเชื้อเพลิง จัดระเบียบการเผา สร้างการรับรู้ในพื้นที่เสี่ยง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย การผลักดันการถ่ายโอนภารกิจการดับไฟป่าให้มีการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ตั้งงบฯให้ตรง และตัวชี้วัดที่จะกำหนดให้เป็นประสิทธิภาพ การฟื้นฟูป่าที่ได้รับความเสียหายจากไฟไหม้ และแนวทางแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนจากนี้กระทรวงฯจะประชุมกับทุกหน่วยงานเพื่อจัดทำรายละเอียด แนวทาง กิจกรรม กรอบระยะเวลา ก่อนที่จะเสนอครม.เพื่อขอความเห็นชอบและให้หน่วยงานนำไปปฏิบัติต่อไป

จากนั้นพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในที่ประชุมว่า สิ่งที่ขอเน้นย้ำเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันต้องมีความต่อเนื่อง แม้สถานการณ์จะผ่านไปแต่ต้องมีมาตรการทั้งระยะสั้นไปถึงระยะยาว โดยกระทรวงทรัพย์ฯต้องประชุมหารือในการจัดทำแผนให้เกิดเป็นรูปธรรมและนำเสนอครม. โดยในเดือนกันยายนนี้แผนงานต่างๆ กระทรวงทรัพย์ฯต้องสรุปและนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี และในช่วงกลางเดือนธันวาคมแผนต่างๆ ก็จะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

“ฝากไว้ขอให้ก.มหาดไทยร่วมมือกับกระทรวงทรัพย์โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน จัดอบรมผู้พิทักษ์ป่าประจำหมู่บ้านในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าและให้ส่วนร่วมมีส่วนดูแลรักษาและดับไฟป่า โดยกระทรวงทรัพย์ กระทรวงมหาดไทยและทหารในพื้นที่จัดอบรมให้ความรู้ชุดพิทักษ์ป่าและจิตอาสาพระราชทานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย”รองนายกรัฐมนตรี กล่าวและว่า

จัดหาเครื่องมือที่ทันสมัยและเพียงพอ ให้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงและติดตามสถานการณ์ทุกหน่วยต้องให้ความสำคัญ ทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วม ให้ผู้ว่าฯเป็นผู้รับผิดชอบหลักให้ก.มหาดไทย กระทรวงทรัพย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันและการสื่อสารสร้างความรับรู้ให้เข้าถึงระดับหมู่บ้าน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเผาและบุกรุกโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย กระทรัพย์ ทหารต้องทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ สร้างการรับรู้ให้เข้าถึงระดับหมู่บ้าน ให้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บุกรุกและหาของป่าเป็นผู้พิทักษ์ป่า เป็นเครือข่าย สร้างความไว้ใจและส่งเสริมเกษตรที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมบทบาทการเป็นจิตอาสาและเครือข่ายดูแลป่าเฝ้าระวังและดับไฟป่า ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ ร่วมมือกับอาเซียน แก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนอย่างยั่งยืน โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการต่างประเทศ หารือกับประเทศอาเซียน ให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน และผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม และให้กองทัพภาคที่ 3 และจังหวัดชายแดน สร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

พลเอกประวิตรได้ย้ำให้ทุกหน่วยงานให้ทำงานร่วมกัน สร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน ฝากผู้ว่าฯทั้งหมดไปดำเนินการเพื่อไม่ให้ไฟป่าลุกลามต่อไป โดยเฉพาะการนำพรบ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยมาบังคับใช้ ซึ่งต่อไปปัญหาหมอกควันและไฟป่าจะต้องไม่มี โดยสถานการณ์ปีหน้าและปีถัดไปไฟป่าและหมอกควันจะต้องดีขึ้นและหมดไปให้ได้.

You may also like

รมว.ท่องเที่ยวฯเตรียมเสนอรัฐบาลดันโครงการ”แอ่วเหนือคนละครึ่ง”จัดครม.สัญจรสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวหวังฟื้นฟูได้ทันพ.ย.นี้

จำนวนผู้