ชาวสวนโวยรัฐจัดการ 5 เสือผู้มีอิทธิพล-ล้งกดราคาลำไยดิ่งเหว ครวญรัฐบาลไม่เหลียวแล

ชาวสวนโวยรัฐจัดการ 5 เสือผู้มีอิทธิพล-ล้งกดราคาลำไยดิ่งเหว ครวญรัฐบาลไม่เหลียวแล

ผู้นำท้องถิ่นพร้าวพร้อมตัวแทนชาวสวนลำไยสารภีบุกศาลากลาง ยื่นหนังสือขอผู้ว่าฯ เชียงใหม่และรัฐบาลช่วยหลังราคาร่วมลงกว่า 10 บาททั้งๆที่ยังอยู่ช่วงต้นฤดู ปลัดจว.วอนทหารจัดการผู้มีอิทธิพลและล้งที่กดราคา หลังได้ข้อมูลจากชาวสวนโวยรัฐรู้ดี 5 เสือกุมคือใคร  ขณะที่นายอำเภอดอยหล่อเชิญผู้ประกอบการมาเจรจาพร้อมยอมเปิดโรงงานรับซื้อAA14 บาท ขณะที่จังหวัดจะเชิญกุงสุลจีนหารือร่วมอีกรอบ

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 24 ก.ค. 60 ที่ด้านหน้าอาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มตัวแทนเกษตรกรชาวสวนผู้ปลูกลำไยในพื้นที่ อ.สารภีนำโดยนายวิทยา กันธวงศ์ ตัวแทนเกษตรกร และกลุ่มผู้นำท้องถิ่นอ.พร้าว จ.เชียงใหม่ นำโดยนายสุรพงษ์ รุ่งเรือง ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน.พร้าวได้รวมตัวกว่า 50 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวสวนลำไยเนื่องจากราคาตกต่ำ ต่อมาได้มีนายชัชวาลย์ พุทธโธ ป้องกันจังหวัดเชียงใหม่ ได้เดินทางมาพบกลุ่มผู้ชุมนุม และนำตัวกลุ่มแทน 20 คน ขึ้นไปหารือที่ห้องประชุมป้องกันจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายมนัส ขันใส ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วย พ.อ.ไพโรจน์ ยะวิญชาญ รองหัวหน้าส่วนประสานงาน กกล.รส.จ.เชียงใหม่ นางนิยดา หมื่นอนันต์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ และนายประมวล เครือมณี หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

นายสุรพงษ์ รุ่งเรือง ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.พร้าว ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มลำไยพร้าว กล่าวว่า อ.พร้าวมีชาวสวนลำไยทุกหมู่บ้านและตำบลประมาณ 4,500 ครอบครัวมีพื้นที่ปลูกลำไย 33,200 ไร่ ผลผลิตที่ได้ในแต่ละปีประมาณ 29,000 ตัน ปีนี้มีปัญหาราคาตำต่ำมากจึงอยากให้ทางจังหวัดดำเนินการกับกลุ่ม 5 เสือ ซึ่งเป็นล้งรายใหญ่ชาวจีนที่รับซื้อด้วย เนื่องจากล้งรายใหญ่กลุ่มนี้เป็นผู้กุมราคาและกำหนดว่าจะขึ้นลงเท่าไหร่ ทำให้เกิดผลกระทบด้านราคาที่ตกต่ำอย่างรวดเร็ว  นอกจากนี้ก็อยากขอให้ทางรัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลำไยที่ขึ้นทะเบียนเกษตรไว้ที่ประสบปัญหาขายในราคาขาดทุนชดเชยให้ กก.ละ 5 บาททุกราย โดยให้เก็บบิลที่ขายให้กับล้งแต่ละล้งมาเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาชดเชยให้ เพื่อครอบครัวเกษตรกรชาวสวนลำไย พอจะอยู่รอดได้

ขณะที่นายวิทยา กันธวงศ์ ตัวแทนเกษตรกร ต.หนองแฝก อ.สารภี จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ผลผลิตลำไยออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ผลผลิตปีนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ประสบปัญหาเรื่องของราคาลำไยตกต่ำ ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไยได้รับผลกระทบ เพราะได้ลงทุนกู้เงินจากแหล่งเงินกู้มาเพื่อซื้อปุ๋ยและจ้างแรงงาน แต่เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตกลับไม่สามารถขายผลผลิตได้เงินตามที่คาดหวัง จึงทำให้ต้องแบกรับภาระมากมาย ทั้งค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ต้องหาเงินจ่ายค่าเงินกู้ รวมถึง ธกส.ที่กู้เงินมา ต้องหาเงินส่งให้กับลูกหลานได้เรียนหนังสือ และค่าแรงงานที่ต้องจ้างมาให้เก็บเกี่ยวลำไย

“ราคาร่วงลงทุกวัน 10 วันร่วงลงกว่า 10 บาทจากช่วงแรกๆ ราคาอยู่ที่ 19 บาทได้พ่อค้าคนไทยซื้อแต่ตอนนี้ราคาลงอยู่ที่ 13 บาทเกรดเอเอซึ่งคนที่รับซื้อตอนแรกก็ขาดทุนแถมเงินทุนก็หมด แต่ล้งจีนรายใหญ่ไม่เปิดตลาด โครงการประชารัฐจะมาใช้กับลำไยทั้งหมดไม่ได้เพราะลำไยสารภีเป็นต้นกำเนิดลำไยของเชียงใหม่ ชาวสวนทำมานานต้นสูงใหญ่จะให้ตัดแต่งกิ่ง แล้วทำลำไยคุณภาพไม่ทัน แต่ที่จ่ายไปแล้วคือค่าปุ๋ย ค่ายา และค่าแรงที่ต้องออกมาเรียกร้องตอนนี้ก็เพื่อความอยู่รอด เราไม่ได้หวังกำไรแต่ขออย่าให้ถึงกับหมดตัวขาดทุนไม่เหลืออะไร ลำไยออกมาแค่เดือนเดียวจะมารอไม่ได้แล้ว เราอยู่เมืองไทยแต่กลับมาอยู่ภายใต้การกำหนดราคาที่ไม่เป็นธรรมจากใครไม่รู้ ตอนนี้ชาวสวนโดนพ่อค้ากดราคาอย่างหนัก”นายวิทยา กล่าว

นายสวัสดิ์ คำอ้าย กำนันอ.พร้าว กล่าวว่า รู้สึกอึดอัด ชาวบ้านถูกกดราคาไม่มีหน่วยงานรัฐเข้าไปช่วยแก้ไข อยากให้รู้ปัญหาความทุกข์ยากลำบากใจ บางวันชาวสวนเก็บลำไยพอไปถึงหน้าโรงงานรับซื้อมีการเปลี่ยนป้ายราคารับซื้อต่อหน้าก็มี ตอนนี้อยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯมาพื้นที่มาดูแลกันบ้าง เพราะเหมือนรัฐบาลไม่สนใจปัญหาทั้งๆ ที่ลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจตอนแรกชาวสวนจะมารวมตัวกันที่ศาลากลาง ทางผู้นำก็ขอไว้ก่อน วันนี้ก็เลยมายื่นหนังสือเพื่อขอให้ทางจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงขอให้ทางรัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรด้วย เพราะเกษตรกรผู้ปลูกลำไยไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเลย ไม่เหมือนข้าว ยางพารา หรือผลผลิตอื่น ทั้งที่เป็นเกษตรกรชาวไทยเหมือนกัน

“ข้อเรียกร้องของเราก็อยากให้มีการประชุมกลุ่มผู้ประกอบการรับซื้อลำไย หรือล้ง ทุกเจ้าให้เปิดรับซื้อลำไย เพราะว่ามีล้งที่เปิดรับซื้อเพียงไม่กี่แห่งจึงถูกกดราคา อีกทั้งเกษตรกรต้องเก็บผลผลิตในตอนเช้า และนำไปจำหน่ายที่ล้ง แต่พอไปถึงก็จำหน่ายไม่ได้ เนื่องจากล้งไม่รับซื้อแต่ต้องรอเวลาจนถึง 16.00 น. เนื่องจากต้องรอทางล้งจีนเปิดรับซื้อก่อนจึงจะประกาศราคาและรับซื้อได้ เมื่อผลผลิตถึงจุดส่งที่ล้งทางเกษตรกรก็ไม่มีทางเลือก เพราะเก็บผลผลิตมาแล้วจำเป็นต้องขาย แม้จะได้ราคาต่ำแต่หากเก็บไว้ก็เสียหายอีก จึงขอร้องให้มีราคากลางที่ล้งรับซื้อ เพราะทุกวันนี้ไม่มีราคากลางเลย”นายสวัสดิ์ กล่าว

ด้านนายวิชาญ  บอกว่า สิ่งที่อยากให้ล้งรับซื้อในราคาที่เกษตรกรอยู่ได้คือ เกรด AA ราคา 20 บาท เกรด A ราคา 15 บาท เกรด B ราคา 10 บาท และเกรด C ราคา 3 บาท แต่ปัจจุบันเกรด AA เหลือเพียงแค่ 13 – 15 บาท แค่ค่าต้นทุนกับค่าแรงงานที่เก็บก็ไม่พอแล้ว และอยากให้ช่วยหาตลาดรับซื้อผลผลิตลำไยทุกรูปแบบทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงไม่ให้เกษตรกรถูกกดขี่จากล้งที่รับซื้อด้วย

ทางด้านนายประมวล เครือมณี หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สาเหตุที่ราคาตกต่ำเพราะล้งทางจีนไม่ประกาศราคาทันที แต่กว่าจะประกาศก็ช่วงเย็น เกษตรกรถูกบีบให้ต้องขายเพราะผลผลิตถูกเก็บเกี่ยวถึงล้งรับซื้อแล้ว ดังนั้นก็ต้องประสานขอความร่วมมือทางสถานทูตจีนขอให้มีการเรียกประชุมผู้ประกอบการล้งทางจีนให้เปิดเร็วขึ้นและแจ้งราคาให้เร็วขึ้น เพราะหากเปิดราคาช้า ล้งที่อยู่จังหวัดรับซื้อก็ไม่กล้าซื้อ เพราะกลัวราคาตกต่ำเหมือนกัน และกลัวขายขาดทุน

ตอนนี้ก็ยอมรับว่าฤดูนี้ทางจีนมีสภาพอากาศที่ร้อน 38 – 40 องศา ทำให้คนจีนบริโภคลำไยลดลง เนื่องจากกินแล้วร้อนใน แต่เขาจะบริโภคมากในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงลำไยนอกฤดูทำให้ทางจันทบุรีไม่มีปัญหา ส่วนประเทศอินโดนีเซียแม้เป็นตลาดใหญ่ แต่เนื่องจากขณะนี้ผลไม้ในประเทศอินโดฯกำลังออกผลผลิตเขาก็ต้องขายผลผลิตเขาให้หมดก่อนถึงจะรับผลผลิตของเราไปจำหน่าย ส่วนมาตรการจำหน่ายผ่านทางโมเดิร์นเทรด ก็เป็นเรื่องดีเพราะราคาจะสูงถึง 37 บาทได้ และประสานไปทางหอการค้าวางแผนการจัดการผลผลิตส่งไปขายแบบของฝากร่วมด้วย และสิ่งสำคัญต้องหาตัว “ไอ้โม่ง” หรือกลุ่มผู้มีอิทธิพล หรือล้งที่มีอิทธิพลในการประกาศราคามาพูดคุยให้ได้ ทั้งที่ปีนี้ผลผลิตลำไยมีแค่ 130,000 กว่าตัน น้อยกว่าปี 57 ที่มีสูงถึง 200,000 กว่าตัน แต่ก็ประสบปัญหา

นางนิตยา หมื่นอนันต์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาเรื่องตลาดในการส่งออกลำไยนั้นตลาดใหญ่อยู่ที่อินโดนีเซีย แต่ขณะนี้ประเทศอินโดนีเซียยังไม่ยอมเปิดให้ผลผลิตลำไยเข้าสู่ประเทศ ทางสำนักงานการค้าระหว่างประเทศ ได้ติดตามมา 2 สัปดาห์แล้ว คาดว่าภายในสัปดาห์นี้น่าจะมีความคืบหน้า นอกจากนี้ก็ได้ประสานเอกอัครราชทูต เพื่อขอให้เข้าไปหารือกับรัฐมนตรีการค้าของอินโดนีเซีย เพื่อช่วยเหลือในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งทราบและเข้าใจว่าขณะนี้สถานการณ์นั้นไม่ดีและอาจแย่ลงด้วย

สำหรับการจำหน่ายต่างประเทศ เมื่อไปไม่ได้ก็ต้องเร่งจำหน่ายในประเทศให้ได้มากที่สุดก่อน โดยล่าสุดท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้ประสานไปยังจังหวัดต่างๆ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อจะส่งไปจำหน่ายในแต่ละจังหวัด เพื่อกระจายผลผลิต และประสานไปยังปลัดกระทรวงทุกกระทรวงฯ เพื่อจะจัดส่งไปจำหน่ายด้วยเช่นกันโดยคาดหวังในการจำหน่ายเกรด AA ราคา 20 – 25 บาท ซึ่งเป็นราคาลำไยสดมัดช่อ เพื่อให้ถึงมือผู้บริโภคในท้องถิ่นที่ไม่ใช่จังหวัดที่ปลูกลำไย รวมถึงประสานท่านกงสุลจีน ให้ประสานผู้ประกอบการที่จีนยูนาน ให้เปิดล้งรับซื้อลำไย ก็จะเป็นการช่วยเหลือการส่งออก และลำไยอบเนื้อสีทอง ก็อยากให้มีมากขึ้น เพราะตลาดยังคงต้องการอีกมาก โดยเฉพาะจีนและทางยุโรป แต่ก็ต้องมีกลุ่มที่สามารถทำได้ ซึ่งราคานั้นปกติก็ 250 บาท หากขายก็ 500 – 800 บาท และก็จัดการส่งไปจำหน่ายในรูปแบบของงานโมเดิร์นเทรด โดยหาตัวแทนเกษตรกรไปร่วมจำหน่ายด้วย เพราะจะทำให้ผลผลิตกระจายได้เร็วขึ้น

ขณะที่พ.อ.ไพโรจน์ ยะวิญชาญ รองหัวหน้าส่วนประสานงาน กกล.รส.จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มผู้มีอิทธิพลในการตั้งราคานั้น ก็จะได้เร่งหาข้อมูลเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ จะได้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้ และทางทหารก็ยินดีลงไปช่วยเหลือเกษตรกรด้วย โดยจะมีการนำเรียนท่านแม่ทัพภาคที่ 3 ให้ทราบเรื่องนี้และอาจจะมีการนำผลผลิตไปจำหน่ายให้กับครอบครัวของทหารด้วยเช่นกัน

นายมนัส ขันใส ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวปิดท้ายว่า ด้านการกระจายสินค้าก็มอบหมายให้ทางพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ และเกษตรจังหวัดเชียงใหม่รับไปดำเนินการ รวมถึงจัดการหามาตรการดำเนินการกับล้งที่รับซื้ออย่างไม่เป็นธรรมด้วย ส่วนการหาตัวล้งที่มีอิทธิพลก็ได้มอบหมายให้ทาง กอ.รมน.จังหวัด เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ นอกจากนี้ก็ทราบว่าล้งรับซื้อรายใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ มี 2 อำเภอคือ ดอยหล่อ และจอมทอง โดยที่อำเภอดอยหล่อมี 4 ล้งใหญ่เป็นชาวจีน ก็จะได้เข้าไปพูดคุยในเรื่องนี้เช่นกัน เพื่อให้เกิดราคาที่เป็นธรรมและมีราคากลางในการรับซื้อ

และเมื่อเวลา 14.00 น.นายอำเภอดอยหล่อพร้อมด้วย พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนเกษตรจังหวัด ผู้แทน มทบ 33 หน่วยทหาร ป้องกันจังหวัด ผู้แทน ตร.ภ.จว.เชียงใหม่และผู้แทนผู้ประกอบการ ได้แก่ 1) บจ.ฟู่เซิง 2) บจ.ชิ่งเฟิง อุตสาหกรรมอาหาร 3) บจ.เทียนเฉิน 4) นายสมเดช อุปโย ซึ่งเป็นผู้รับซื้อลำไยรายใหญ่ในพื้นที่อ.ดอยหล่อได้ประชุมหารือร่วมกัน โดยได้ข้อสรุปว่าผู้ประกอบการจะรับซื้อลำไย  AA ในราคาหน้าโรงงานไม่น้อยกว่า 14 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะทำให้พ่อค้ารายย่อย สามารถรับซื้อจากเกษตรกร จากลำไยที่ผ่านเครื่องร่อนได้ในราคาไม่น้อยกว่า 13 บาทต่อกิโลกรัม (ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกรที่มายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงเช้า)และจะมีการเร่งรัดการจัดประชุมผู้ประกอบการระดับจังหวัดโดยพาณิชย์จัวหวัดเชียงใหม่และผู้เกี่ยวข้องต่อไป.

You may also like

รมว.ท่องเที่ยวฯเตรียมเสนอรัฐบาลดันโครงการ”แอ่วเหนือคนละครึ่ง”จัดครม.สัญจรสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวหวังฟื้นฟูได้ทันพ.ย.นี้

จำนวนผู้