ชลประทานเชียงใหม่เผยน้ำในเขื่อนฯและอ่างเก็บน้ำบางพื้นที่ยังต่ำขอความร่วมมืองดปลูกข้าวนาปรังและพืชฤดูแล้ง

ชลประทานเชียงใหม่เผยน้ำในเขื่อนฯและอ่างเก็บน้ำบางพื้นที่ยังต่ำขอความร่วมมืองดปลูกข้าวนาปรังและพืชฤดูแล้ง

ปลายฝนชลประทานเชียงใหม่เผยน้ำในเขื่อนฯและอ่างเก็บน้ำบางพื้นที่ยังต่ำ ลุ่มน้ำปิง-แม่แตงขอความร่วมมืองดปลูกข้าวนาปรังและพืชฤดูแล้ง ขณะที่แม่กวงฯรอคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำประชุมสรุปช่วงต้นเดือนธ.ค.อีกรอบ

วันที่ 20 ต.ค.63 ที่ห้องประชุมสำนักชลประทานเชียงใหม่ นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในขณะนี้อยู่ในช่วงปลายฤดูฝนแล้ว และปีนี้ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ค่อนข้างน้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยน้ำจากลำน้ำปิง ซึ่งทางชลประทานเชียงใหม่ได้กันน้ำไว้ 40 ล้านลบ.ม. สำหรับอุปโภคและบริโภค(ผลิตน้ำประปา) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนตลอดทั้งปี 20 ล้านลบ.ม. โดยขณะนี้ในลำน้ำปิงมีน้ำกักเก็บอยู่ 21 ล้านลบ.ม.ซึ่งประตูระบายน้ำและฝายเก็บกักน้ำได้เก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะถึง

“ปีนี้ทางกรมชลประทานได้ขอความร่วมมือเกษตรกรที่ใช้น้ำในการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ให้งดไปก่อน และขอให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยทดแทน ซึ่งจะมีการจัดสรรน้ำออกเป็นรอบเวร สำหรับพื้นที่รับน้ำของเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เมื่อปีที่ผ่านมาทางคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำได้งดการปลูกข้าวนาปรังและพืชฤดูแล้ง และจัดสรรน้ำตามรอบเวรสำหรับไม้ผล ไม้ยืนต้นเท่านั้น แต่ปีนี้เขื่อนแม่กวงฯ สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มจากปีก่อนถึง 30 ล้านลบ.ม.และเชื่อว่าในปีนี้แม้จะมีน้ำเพิ่มแต่ก็น่าจะยังขอความร่วมมือให้งดปลูกข้าวนาปรังไปก่อน ส่วนพื้นที่อื่นที่มีอ่างเก็บน้ำในพื้นที่เกิน 80% อย่างเช่นอ่างแม่ตะไคร้ อ.แม่ออ ซึ่งสามารถเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ ซึ่งชลประทานเชียงใหม่จะได้ร่วมบริหารจัดการน้ำร่วมกับทางคณะกรรมการฯต่อไป”ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวและว่า

สำหรับการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งปีหน้าคงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้รับทราบข้อมูลว่าจะต้องขอความร่วมมืองดการปลูกข้าวนาปรังและพืชฤดูแล้งในบางพื้นที่ ทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ซึ่งมีเกษตรกรที่ปลูกทั้งนาปรังและไม้ผลประมาณ 1.5 แสนไร่ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง โดยเฉพาะโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง ซึ่งช่วงแล้งจะไม่มีน้ำต้นทุน และปีนี้น้ำท่าก็ยังน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ยถึงร้อยละ 50 จึง มีเกษตรกรที่ปลูกพืชฤดูแล้งและนาปรังประมาณ 2 หมื่นไร่ ต้องขอความร่วมมือไปก่อน

ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ปีนี้มีพายุเข้ามาก็จริง แต่เข้าเขื่อนและสามารถกักเก็บน้ำได้จริงเฉพาะช่วงต้นฤดูฝนเท่านั้น อย่างของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลปัจจุบันมีน้ำกักเก็บประมาณ 140 ล้านลบ.ม.จากค่าเฉลี่ยที่น่าจะต้องกักเก็บได้ 200 กว่าล้านลบ.ม.เช่นเดียวกับเขื่อนแม่กวงฯที่ความจุสามารถกักเก็บได้ 200 กว่าล้านลบ.ม.แต่ตอนนี้น้ำที่กักเก็บได้เกิน 100 ล้านลบ.ม.ซึ่งก็ถือว่าดีหากเทียบกับพื้นที่รับน้ำเหนือเขื่อนฯ ทั้งนี้คาดว่าในช่วงต้นเดือนธันวาคมทางคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจะมีการจัดประชุมและมีมติว่าจะให้มีการปลูกข้าวนาปรังหรือแบ่งรอบเวรกันอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามน้ำสำหรับผลิตน้ำประปาทั้งในพื้นที่เชียงใหม่และลำพูนในฤดูแล้งปีหน้ามีเพียงพออย่างแน่นอน.

You may also like

อบจ.เชียงใหม่จับมือภาคีเครือข่าย จัดงาน “วันสิ่งแวดล้อมไทย ประจำปี ภายใต้แนวคิด “รักษ์ป่า รักษ์ดิน รักษ์สิ่งแวดล้อม”

จำนวนผู้