จากโรงเรียนปลูกผักปลอดสาร สู่ชุมชนกินผักปลอดภัย

จากโรงเรียนปลูกผักปลอดสาร สู่ชุมชนกินผักปลอดภัย

ผักใบสวย ไร้หนอนแมลงเจาะ ดูงดงามโดดเด่นบนแคร่ หรือโต๊ะที่ใช้จัดวาง และเป็นที่ต้องการของลูกค้า โดยไม่ได้คำนึงถึงอันตรายที่มาจากสารเคมีป้องกันและกำจัดแมลง ซึ่งเมื่อสะสมในร่างกายปริมาณมาก ก็จะก่อให้เกิดโรคภัยได้ ตั้งแต่อาการที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน เช่น ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บหน้าอก ปวดกล้ามเนื้อ เหงื่อออกมาก ท้องร่วง เป็นตะคริว หายใจติดขัด มองเห็นไม่ชัด และร้ายแรงที่สุดคือเสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีอาการที่เรียกว่าตายผ่อนส่ง เมื่อได้รับพิษของสารเคมีจำนวนไม่มากแต่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น เป็นหมัน อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็ง เป็นต้นเพื่อเป็นการป้องกันก่อนสายเกินแก้ ที่โรงเรียนบ้านแบ่ง ต.งิม อ.ปง จ.พะเยา จึงทำการปลูกผักปลอดสาร โดยนำวิธีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชหลายวิธีมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน ทดแทนการใช้สารเคมี เพื่อนำพืชผักมาใช้ในโครงการอาหารกลางวัน หากยังไม่เพียงพอ เพราะเด็กได้รับประทานผักปลอดภัย เฉพาะตอนอยู่ในโรงเรียน เมื่อกลับไปบ้านก็รับประทานผักและผลไม้ที่ทางชุมชนปลูก หรือซื้อจากตลาดซ้ำในการสำรวจครัวเรือนในชุมชนทั้งหมด 190 หลังคา ก็ยังพบว่ามีการปลูกผักสำหรับบริโภค 20 หลังคา ปลูกผักเพื่อการค้า เช่น ข้าวโพด จำนวน 160 หลังคา ไม่ปลูกผัก จำนวน 10 หลังคา แต่ที่สำคัญคือทุกหลังคาเรือนมีการใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทั้งต่อตัวเกษตรกร และผู้บริโภค ทางโรงเรียนจึงได้ขอรับการสนับสนุนจาก สสส. จัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกผัก ผลไม้ปลอดสารพิษจากโรงเรียนสู่ชุมชนบ้านแบ่ง เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชาวบ้าน และเพิ่มจำนวนการปลูกผัก ผลไม้ ปลอดสารพิษให้มากขึ้น เพียงพอต่อการบริโภคทั้งในโรงเรียนและชุมชน อันจะส่งผลถึงสุขภาพที่ดีของนักเรียน และคนในชุมชนในระยะยาวต่อไปปุณยนุช จันทะวัง ครูสาวจากโรงเรียนบ้านแบ่ง ผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าว่าเริ่มต้นจากการที่โรงเรียนพบว่าเด็กขาดภาวะโภชนาการ มีทั้งอ้วน ผอม เพราะส่วนใหญ่ไม่ยอมกินผัก ประกอบกับผู้ปกครองเองก็ยังเข้าใจผิด คิดว่าอาหารที่ดี มีคุณค่า คือประเภทเนื้อ หมู ไก่ ดังนั้นเมื่อมาโรงเรียนก็จะไม่ยอมกินผัก ในมื้อกลางวันถ้าเมนูใดมีผักเป็นส่วนประกอบจะถูกเขี่ยออกจนกองพูนอยู่ในจานอย่างเห็นได้ชัดในปีแรกโรงเรียนจึงเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการบริโภคผัก ผลไม้ในโรงเรียน ให้นักเรียนปลูกผักปลอดสารเคมีที่โรงเรียน เมื่อกลับไปบ้านเด็กก็นำไปเล่าให้ผู้ปกครองฟัง โรงเรียนจึงแจกกล้าผักที่เพาะชำไว้ให้เด็กนำไปปลูกร่วมกับผู้ปกครองที่บ้าน เมื่อผักโตเด็กก็ได้กินผักที่พวกเขาปลูกเอง แถมยังแบ่งพืชผักที่นำกล้าพันธุ์ไปปลูกบริเวณบ้านมาให้โรงครัวของโรงเรียนด้วย มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่าใครปลูกผักอะไร และกินผักอะไรบ้าง

แม้จะปลูกผักเองในโรงเรียน และผู้ปกครองนำไปปลูกที่บ้านด้วย แต่อาหารกลางวันบางมื้อก็ยังต้องซื้อผักจากตลาด เพราะผลผลิตไม่เพียงพอ  จึงขอรับการสนับสนุนจาก สสส.อีกครั้ง และมีการขยายผลให้ใหญ่ขึ้นจากผู้ปกครองสู่ชุมชน เพื่อให้เด็กๆ รวมถึงคนในชุมชนได้รับประทานผักปลอดภัยทุกมื้ออย่างเพียงพอ และผลผลิตส่วนหนึ่งยังป้อนให้กับโรงครัวของโรงเรียนได้อีกด้วยเริ่มจากการดึงผู้ปกครอง และแกนนำชุมชนเข้ามาเป็นคณะกรรมการ จากนั้นทางแกนนำและผู้ใหญ่บ้านก็เข้าไปพูดคุยกับลูกบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้สูงอายุ คือตายายของเด็กๆ ส่วนพ่อแม่มักจะออกไปทำงานนอกชุมชน ปรากฏว่าช่วงแรกยังไม่ค่อยได้ผล ชาวบ้านอาศัยผักที่ขึ้นตามริมรั้วเป็นหลัก แต่พอทางโรงเรียน และผู้นำชุมชนช่วยกันประชาสัมพันธ์ว่าจะซื้อผลผลิตเข้าโรงเรียน พร้อมทั้งแจกกล้าพันธุ์ฟรี และสอนทำปุ๋ย น้ำหมักไล่แมลงแทนการใช้สารเคมี ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี ทุกครัวเรือนหันมาปลูกผักปลอดสาร ที่เป็นผักตามฤดูกาล เช่น ผักกาด ผักบุ้ง คะน้า ต้นหอม กะหล่ำ ฯลฯกุศโลบายหนึ่งที่ใช้ได้ผล คือการให้เด็กกับผู้ปกครองทำบัญชีครัวเรือน คอยตรวจเช็คร่วมกันว่าแต่ละวันทำเมนูอะไร ได้ผักมาจากไหน ซื้อ ปลูกเอง หรือแลกเปลี่ยนกับใคร ประหยัดค่าใช้จ่ายลงเท่าไหร่ ทำให้เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนว่าจากที่ต้องซื้อผักจากตลาด เมื่อหันมาปลูกเอง เลี้ยงไก่เอง แต่ละมื้อก็แทบไม่มีค่าใช้จ่าย หรือมีน้อย แตกต่างจากเดิมที่ต้องจ่ายทุกอย่างภานุชนารถ ใจตรง แม่ครัวโรงเรียนบ้านแบ่ง ย้ำว่าตอนนี้เด็กๆ ชอบรับประทานผักมากขึ้น เพราะไม่เพียงแค่ได้ปลูกเอง กินเอง แต่ในส่วนของแม่ครัวก็ปรับวิธีการทำอาหารด้วย เดิมสังเกตว่าเด็กเขี่ยถั่วงอก กับคะน้าทิ้งมากที่สุด ก็ใช้วิธีนำถั่วงอกมาลวกน้ำทิ้ง 1 รอบให้สุก แก้เหม็นเขียวก่อนนำไปผัด หรือคะน้า ก็หั่นให้ชิ้นเล็กลง และทำให้สุกมากขึ้น พอเด็กเริ่มกินได้ จึงลดความสุกให้เหลือแค่กรอบ เพื่อคงคุณค่าของสารอาหาร เช่นเดียวกับขิง ที่เด็กไม่กิน ก็ซอยให้เล็กลง คุยถึงประโยชน์ของขิงให้เด็กรับรู้ จนยอมกินกันมากขึ้นบัวนาค จันทะวัง ชาวบ้านที่ปลูกผักส่งขายให้โรงครัวของโรงเรียน บอกว่า เมื่อก่อนปลูกข้าวโพดในป่า และใช้สารเคมีมาตลอด จนเริ่มรู้สึกว่าสุขภาพแย่ลง ไม่แข็งแรงกระฉับกระเฉงเหมือนเดิม โชคดีที่โรงเรียนมีโครงการส่งเสริมการปลูกผัก ผลไม้ปลอดสารพิษจากโรงเรียนสู่ชุมชน จึงเลิกปลูกข้าวโพด หันมาปลูกผักสวนครัวแบบปลอดสารภายในบริเวณบ้านแทน ทุกวันนี้สามารถเก็บส่งโรงครัวของโรงเรียน และถ้ามีมากก็วางขายในตลาดของหมู่บ้าน กิจวัตรประจำวันไม่ลำบากเหมือนตอนทำไร่ข้าวโพด ตอนเช้าเก็บผักไปส่งโรงเรียนตามที่แม่ครัวแจ้งไว้ล่วงหน้า จากนั้นจะใช้เวลาว่างอาสาช่วยตักข้าวให้เด็กๆ ตอนกลางวัน บ่ายก็มีเวลาพักผ่อน เย็นถึงรดน้ำ เก็บหญ้า สุขภาพดี ชีวิตก็มีความสุขมากขึ้นมองในภาพรวม จะเห็นได้ว่าเด็กๆ และชาวบ้านมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น เด็กอ้วน ผอมลดลง เด็กที่เคยเป็นภูมิแพ้ หอบเหนื่อย จากที่เคยมีอาการกำเริบทุกเดือน ก็มีอาการกำเริบห่างออกไปเป็น 3-4 เดือน/ครั้ง หรือเด็กที่เคยมีอาการท้องอืดประจำ ก็กลับมาขับถ่ายได้ตามปกติ ส่วนผู้สูงอายุได้ปลูกผัก ดูแลรดน้ำร่วมกับหลานๆ เป็นการออกกำลังกาย แถมสานสัมพันธ์ที่ดีกันไปด้วย.

You may also like

อบจ.เชียงใหม่จับมือภาคีเครือข่าย จัดงาน “วันสิ่งแวดล้อมไทย ประจำปี ภายใต้แนวคิด “รักษ์ป่า รักษ์ดิน รักษ์สิ่งแวดล้อม”

จำนวนผู้