สสจ.แจงการแพร่ระบาดรอบนี้เกิดจากคนนำเชื้อจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้ามา ทำให้เชื้อแพร่กระจายลงสู่ชุมชนและครอบครัว เผยคลัสเตอร์โรงงานขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ครบ 14 วัน พบ 1 พันกว่าแห่งเหลือเพียงจุดเดียว ด้านผอ.รพ.นครพิงค์ระบุเชียงใหม่เตรียมพร้อมทั้งเวชภัณฑ์และเตียงรองรับผู้ป่วยหนัก 400 กว่า วอนประชาชนอย่าตระหนกต้องตระหนักป้องกันตนเอง
เมื่อวันที่ 20 ก.ค.64 ที่ห้องประชุม 3 อาคารอำนวยการศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่พร้อมด้วยนายชัชวาลย์ ฉายะบุตร รองผวจ.เชียงใหม่,นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รองผวจ.เชียงใหม่และนายรัฐพล นราดิศร รองผวจ.เชียงใหม่ นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ นพ.วรเชษฐ์ เต๋ชะรักษ์ ผอ.รพ.นครพิงค์ ได้ร่วมกันแถลงข่าวสื่อมวลชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดและการควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 และการบริหารจัดการวัคซีนในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์
นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ได้ประชุมติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดทุกวัน เพื่อที่จะเร่งควบคุมสถานการณ์ให้เร็วที่สุด และได้มีการยกระดับมาตรการคัดกรองการเข้ามาจังหวัดเชียงใหม่ จากเดิมให้มีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการตรวจหาเชื้อ(SWAP)จากเดิมที่จะตรวจผู้ที่เดินทางจากจังหวัดสีแดงเข้มที่มาโดยรถยนต์ส่วนตัว รถขนาดเล็ก แต่ขณะนี้ได้มีการตรวจคนขับรถบรรทุกทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการตรวจหาเชื้อทั้งที่ผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่ สถานีรถไฟและสถานีขนส่งเชียงใหม่อาเขตด้วย
ด้านนพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การระบาดรอบนี้เกิดจากการนำเชื้อมาจากพื้นที่ระบาดหรือพื้นที่เข้มงวดสูงสุดและส่งผลต่อการแพร่ระบาดสู่ชุมชน โดยคลัสเตอร์ใหญ่ๆคือคลัสเตอร์บ้านกองแหะ ได้มีการตรวจกลุ่มเสี่ยงไปประมาณ 2 พันกว่าคน และตรวจพบเชื้อประมาณ 2% โดยที่บ้านกองแหะได้ตรวจหาเชื้อไป 300-400 คนผลรอบแรกเป็นลบประมาณร้อยละ 28 คลัสเตอร์เก็บลำไยบ้านแม่สอย อ.จอมทอง ขุนแปะ การตรวจหาเชื้อลอตแรกพบการติดเชื้อร้อยละ 29
ซึ่งข้อมูลจากกลุ่มงานระบาดวิทยาที่รวบรวมปัจจัยเสี่ยงของการระบาดรอบนี้พบว่าผู้ป่วยนำเชื้อเข้ามา 1 คน และกระจายเชื้อไปยังคนในครอบครัว คูณ 2-คูณ 3 นอกจากนี้ยังพบกระจายไปที่ทำงานตามบริษัทต่างๆ อย่างโรงงานขนมปังที่คูณ 10 และกระจายลงไปสู่ชุมชนทำให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นคูณ 20 อย่างไรก็ตามสำหรับคลัสเตอร์โรงงานขนมปังครบ 14 วันในวันนี้แล้ว ส่วนร้านค้าต่างๆ ที่โรงงานขนมปังจัดส่งนั้นทางจังหวัดได้มีประกาศให้กลุ่มเสี่ยงมาตรวจหาเชื้อก็ยังไม่พบการติดเชื้อใหม่เกิดขึ้น จากพันกว่าสาขามีเพียงจุดเดียวคือร้านสะดวกซื้อที่โปลิเทคนิคลานนาที่ผู้ติดเชื้อรักษาอยู่ซึ่งยังไม่ครบวงรอบ สำหรับโรงงานก็น่าจะเปิดได้แล้ว สำหรับโอกาสการแพร่เชื้อในวงกว้างหรือซุปเปอร์สเปรดเดอร์นั้น อาชีพที่มีโอกาสสูงคือครู นักเรียน คนทำงานขนส่งและคนเก็บลำไย
ขณะที่นพ.วรเชษฐ์ เต๋ชะรักษ์ ผอ.รพ.นครพิงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ได้เปิดโรงพยาบาลสนามซึ่งมีเตียงสำหรับผู้ป่วยสีเขียว 1,300 เตียง แต่ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อที่อยู่โรงพยาบาลสนามยังมีสองร้อยกว่าราย นอกจากนี้ผู้ว่าฯยังสั่งให้ทุกอำเภอเตรียมความพร้อมสำหรับโรงพยาบาลสนามไว้ด้วย ส่วนเตียงสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงตามโรงพยาบาลต่างๆ ที่รองรับผู้ป่วยหนักประมาณ 400 กว่าเตียง
“ในเรื่องของเวชภัณฑ์ต่างๆ ได้มีการเตรียมพร้อมไว้หมด เพราะเชียงใหม่เป็นเหมือนศูนย์กระจายเวชภัณฑ์ทั้งยากิน ยาฉีดของภาคเหนือไว้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน มีการเตรียมการไว้หมดแล้ว ขอย้ำว่าเป็นการเตรียมการเท่านั้นไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก แต่ขอให้ทุกคนป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด”ผอ.รพ.นครพิงค์กล่าว
ส่วนทางด้านนายรัฐพล นราดิศร รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ต้องการให้คนเชียงใหม่ได้รับวัคซีนโดยเร็ว จึงมีการจัดสถานที่ฉีดวัคซีนกระจายไปทุกแห่งรวม 46 แห่งซึ่งสามารถฉีดวัคซีนได้วันละ 26,000 คน แต่ตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นมาทางศบค.ได้บริหารจัดการวัคซีนใหม่ การจัดสรรวัคซีนของจังหวัดจึงทำได้ไม่เต็มศักยภาพที่มีและไม่เป็นไปตามความคาดหมาย อย่างไรก็ตามคาดว่าในเดือนสิงหาคมจะสามารถเร่งการฉีดวัคซีนได้มากยิ่งขึ้น
รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า จังหวัดกำหนดเป้าหมายให้คนเชียงใหม่ได้ฉีดวัคซีน 1.2 ล้านคนหรือร้อยละ 70 โดยมีผู้ประสงค์จะฉีดวัคซีนที่ลงทะเบียนไว้ 815,837 คนหรือร้อยละ 68 และมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 204,490 คนซึ่งก็ยังไม่ถึงร้อยละ 20 นอกจากนี้ทางคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้กำหนดให้ฉีดวัคซีนไขว้เข็มแรกซิโนแวคและเข็ม 2 แอสตร้าเซนิก้าซึ่งได้แจ้งให้ทุกศูนย์ฉีดปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวตั้งแต่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมาซึ่งเบื้องต้นเรื่องผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนไขว้ยังไม่มีรายงานเข้ามา.