กองทัพภาคที่ 3 เปิดเวทีระดมความเห็นทุกภาคส่วน วางแผนรับมือสถานการณ์หมอกควันไฟป่าในปีหน้า มทภ. 3 ชี้ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันก่อนสถานการณ์วิกฤตชี้การยกป้ายประท้วงไม่ใช่ทางออก ยันคนเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบนไม่อาจย้ายหนีได้หากไม่แก้ไขจริงจังย่อมรับชะตากรรมเดียวกัน ขณะที่พล.ต.บัญชาผุดไอเดียเสนอรัฐบาลตั้งคลังข้อมูลรวบรวมทุกแอพพลิเคชั่น เพื่อง่ายต่อการวางแผนและปฏิบัติ
วันนี้ (19 มิ.ย.62) ที่ที่โรงแรมคุ้มภูคำ อ.เมืองเชียงใหม่ พลโท ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ระดับภาค เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ โดยมี พล.ต.บัญชา ดุริยพันธ์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคเหนือร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทบทวนแนวทางการปฏิบัติและนำสรุปเป็นแผนปฏิบัติการในครั้งต่อไป
แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคมทางกองทัพภาคที่ 3 ได้บูรณาการทุกหน่วยงานใน 9 จังหวัดภาคเหนือร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ซึ่งปีนี้มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ปัญหาหมอกควันส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก ในด้านของสุขภาพ ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยถึง 404,943 ราย พื้นที่ป่าถูกทำลาย 5,478,013 ไร่ ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไข ทุ่มเทกำลังพล เครื่องมือ ยุทโธปกรณ์ และงบประมาณ และได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชน ช่วยกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในทุกจังหวัดอย่างเต็มความสามารถ จนสถานการณ์ดีขึ้นและเข้าสู่ภาวะปกติ
“ในวันนี้ได้เชิญทุกหน่วยงานทั้งทางมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข ท่องเที่ยวและกีฬา สมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา คณะทำงานแก้ไขปัญหาฝุ่นภาคเอกชน และทางตัวแทนของพรรคการเมืองก็เชิญไปทุกพรรคมาร่วมกันหารือ ซึ่งวันนี้ถือเป็นการมาทบทวนแนวทางแก้ไขเพื่อเตรียมการรับมือในปีหน้าที่จะถึง ตอนนี้ขอให้มองแค่ปีหน้าก่อนเพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติอีก เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เราไม่ควรลืมง่ายๆ คนไทยมักลืมง่ายพอเกิดฝนตกอากาศดีแล้วก็ลืม อยากเห็นนักศึกษาออกมาช่วยกันคิดวิธีการแก้ไขมากกว่าที่จะออกมาชูป้ายประท้วงหรือโจมตีกัน เพราะพวกเราทุกคนเป็นผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกัน เนื่องจากไม่สามารถย้ายจังหวัดเชียงใหม่และอีก 8 จังหวัดไปไหนได้ แต่ด้วยภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะ ดังนั้นต้องมาระดมความคิดเห็นกันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดวิกฤตได้อีก วันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นแต่ละหน่วยงานแต่ละกระทรวงมีงบประมาณของตัวเอง ทางกองทัพฯเป็นหน่วยสนับสนุน โดยเฉพาะกอ.รมน.ภาค ซึ่งต่อไปก็ยังจะเป็นผู้สนับสนุนเช่นเดิม”พลโทฉลองชัย กล่าวและให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมอีกว่า
สำหรับเรื่องปัญหาที่เกิดจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น ทางบริษัทเองก็ได้ทำ CSR แต่ก็ต้องเลือกวิธีที่เหมาะสมคือ จัดซื้อเครื่องมือย่อยสลาย นำซังข้าวโพดไปอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงหรือไปทำอาหารสัตว์โดยไม่ต้องเผา แบบที่อำเภอแม่แจ่ม หรือสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างการรับรู้ เพราะการปลูกป่าหรือทำระบบนิเวศมันเห็นผลช้า
พลโทฉลองชัย กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ยังมีเวลาอีก 5-6 เดือน เพื่อที่ปีหน้าจะได้ไม่ต้องมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุซึ่งแก้ยาก ส่วนนวัตกรรมสมัยใหม่ที่หลายประเทศเสนอมาเป็นเรื่องที่ดี เพราะแสดงถึงความห่วงใยและการรับรู้ แต่ไม่อยากให้เชียงใหม่เป็นสนามทดลองนวัตกรรม หรือสนามเชิงการค้า เพราะเราต้องพึ่งพาการนำเข้าทั้งหมด และเป็นช่วงปลายของปัญหา ทั้งเครื่องจับหรือฟอกอากาศ แต่เราจะทำอย่างไรให้แก้ต้นเหตุได้อย่างไรให้ยั่งยืนจะดีกว่า ตัวนายอำเภอน่าจะเป็นแกนหลักในการพูดคุยกับแกนนำชาวบ้านได้ เพราะไฟเกิดในเขตป่า 70-80 % ซึ่งเขตป่าแบบนี้มีคนเข้าไปอยู่อาศัยทำมาหากินเราจะทำอย่างไรให้เขาเข้าใจ เพราะเป็นวิถีชีวิตและกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่กันมากจะทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันได้ กำนันผู้ใหญ่บ้านจะทราบดีว่าปีหน้าใครจะไปหาเห็ดถอบหาของป่าล่าสัตว์ หรือทำแปลงข้าวโพดและเผา เขารู้หมด เราต้องแก้จุดนี้ให้ได้ และจัดเวลาการเผาให้ดีจัดระเบียบ การไปหาของป่าไม้เผาได้หรือไม่ ให้ความรู้ว่าไม่ใช่ว่าเผาแล้วเห็ดจะขึ้น แค่จัดการเป่าเอาใบไม้ออกเห็ดก็ขึ้นแล้ว”
ทางด้านพลตรีบัญชา ดุริยพันธ์ รองแม่ทัพภาค 3 กล่าวว่า เหตุการณ์หมอกควันไฟป่าวิกฤตทุกปี ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีจุด Hotspot แตกต่างกัน การประชุมในวันนี้เป็นการหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาในปีต่อไปได้อย่างตรงจุด และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งตนเห็นว่ารัฐบาลควรจะมี Data Warehouse หรือคลังข้อมูลที่รวบรวมเอาทุกแอพพลิเคชั่นมาไว้ที่เดียวกัน เพราะตอนนี้รัฐบาลประกาศให้ปัญหาหมอกควันไฟป่าเป็นวาระแห่งชาติแล้ว การแก้ไขปัญหา การแจ้งเตือนประชาชนจะต้องมีแผนที่ชัดเจน ที่ผ่านมาประชาชนก็มีการแจ้งเบาะแสไฟป่าผ่านทางเฟสบุ๊คบ้าง ไลน์บ้าง แต่บางทีพิกัดก็ไม่ชัดเจน แต่หากมีคลังข้อมูลซึ่งรวบรวมทั้งพื้นที่ สถานที่ ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไว้แล้วก็จะทำให้ง่ายต่อการสั่งการและการปฏิบัติงาน.