ธปท.เหนือแถลงไตรมาสแรกปี 68 ขยายตัวชะลอลงตามกลุ่มนักท่องเที่ยว จีนลดลงแต่คนไทยขยายตัวตามกิจกรรม เศรษฐกิจปรับดีขึ้นจากหมอกควันที่เบาบางกว่าปีก่อน การลงทุนชะลอ ก่อสร้าง-อสังหาฯหดตัว เงินเฟ้อเพิ่ม คาดไตรมาส 2 ยังทรงตัว
เมื่อวันอังคารที่ 6 พฤษภาคม 2568 ที่สำนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ (ธปท. สภน.) นางพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สำนักงานภาคเหนือเป็นประธานแถลงข่าว “ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 1 ปี 2568” โดยภาพรวมเศรษฐกิจภาคเหนือ ไตรมาส 1 ปี 2568 ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อน ตามการท่องเที่ยวที่ขยายตัวชะลอลงจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง โดยเฉพาะชาวจีน ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยยังขยายตัวตามการจัดกิจกรรมในพื้นที่
การบริโภคขยายตัวได้เล็กน้อยตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น และภาวะหมอกควันที่เบาบางกว่าปีก่อน ทำให้การบริโภคที่เกี่ยวเนื่องกับภาคบริการและสินค้าอุปโภคบริโภคปรับดีขึ้น เช่นเดียวกับ รายได้ภาคเกษตรขยายตัวเล็กน้อยตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นของอ้อยโรงงาน ข้าวนาปรัง และมันสำปะหลัง เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยมากกว่าปีก่อน การเบิกจ่ายภาครัฐดีต่อเนื่องทั้งรายจ่ายลงทุน และรายจ่ายประจำ การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเล็กน้อย ตามการเพิ่มขึ้นในหมวดเครื่องดื่มและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่หมวดอาหารแปรรูปปรับลดลงจากการเร่งผลิตในช่วงก่อน
อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวตามการขยายตัวของการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อการผลิต ขณะที่การลงทุนก่อสร้างยังหดตัวในกลุ่มที่อยู่อาศัย ภาคอสังหาริมทรัพย์หดตัวมากขึ้นหลังการเร่งซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงก่อนหน้า ด้านการจ้างงานทรงตัว โดยการจ้างงานภาครัฐและภาคการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่การจ้างงานภาคท่องเที่ยวชะลอลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ตามราคาหมวดพลังงานและเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น
แนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 2 ปี 2568 คาดว่าทรงตัวจากไตรมาสก่อน ภาคท่องเที่ยวคาดว่าขยายตัวเล็กน้อยจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐและเอกชน รวมทั้ง การเบิกจ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากงบประมาณปี 2568 เบิกจ่ายได้ปกติ และงบผูกพันปี 2567 ทยอยส่งมอบ รายได้เกษตรคาดว่าขยายตัวต่อเนื่องตามปริมาณผลผลิตพืช โดยเฉพาะข้าวนาปรังที่เพิ่มขึ้น ส่วนด้านราคายังหดตัวต่อเนื่อง ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมคาดว่าทรงตัวตามแรงกดดันด้านนโยบายการค้าของประเทศคู่ค้าต่อการผลิตและส่งออก เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าทรงตัวตามการลงทุนหมวดก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าหดตัวเล็กน้อยตามกำลังซื้อที่เปราะบางมากขึ้น.