คณะทำงานเร่งรัดการขับเคลื่อนนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลกใช้โดรนบินเก็บภาพมุมสูง 7 วัด พร้อมแนวคูเมือง, กำแพงเมือง, แจ่ง 4 แห่ง, และประตูเมือง 5 แห่ง ประกอบการจัดทำเอกสารให้แล้วเสร็จภายในเวลา 120 วัน เผยนำเสนอเชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมในฐานะที่เชียงใหม่เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิต เพียงแต่การอยู่ร่วมกันแบบมีกฎกติกาในการปกป้องเมืองมรดกโลก
เมื่อวันที่ 9 พ.ค.68 ที่วัดเจดีย์หลวง พระราชวชิรสิทธิ รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน-แม่ฮ่องสอน (ธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง วรวิหาร พร้อมด้วยนายบวรเวท รุ่งรุจี ประธานคณะทำงานเร่งรัดการขับเคลื่อนนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลก ,นายศุภฤกษ์ ภาวิไล คณะทำงานเร่งรัดการขับเคลื่อนนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลก และนายธีรพัฒน์ ตันพิริยะกุล รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันแถลงข่าวการขับเคลื่อนนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลก
นายศุภฤกษ์ ภาวิไล คณะทำงานเร่งรัดการขับเคลื่อนนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลก กล่าวว่า ปัจจุบันมี 1,223 แห่งทั่วโลกที่ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ซึ่งทุกปีจะมีประเทศที่นำเสนอขอขึ้นทะเบียน โดยเฉพาะจีนและอิตาลีซึ่งเสนอขอขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ขณะที่ประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมอยู่ 5 แห่งที่ขึ้นทะเบียนกับยูเนสโกแล้วคือ สุโขทัย อยุธยา บ้านเชียงจ.อุดรธานีและศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ โดยทุกประเทศก็อยากขึ้นทะเบียนมรดกโลกเพราะส่งผลดีในหลายๆ ด้าน
“เชียงใหม่เป็นเมืองหลวงของล้านนาแต่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ขณะที่หลวงพระบาง ของสปป.ลาวกำลังจะฉลองครบรอบ 30 ปีเมืองมรดกโลก อย่างไรก็ตามขณะนี้เหลือเวลาอีก 120 วันเท่านั้นในการจัดทำเอกสารเสนอขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมของชาติในจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยวัดสำคัญ 7 แห่ง วัดเชียงมั่น, วัดอุโมงค์, วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร,วัดสวนดอก, วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร, วัดเจดีย์หลวง, และวัดเจ็ดยอด พร้อมทั้งแนวคูเมือง, กำแพงเมือง, แจ่ง 4 แห่ง, และประตูเมือง 5 แห่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากอบจ.เชียงใหม่”คณะทำงานกล่าวชี้แจง
ทางด้านนายบวรเวท รุ่งรุจี ประธานคณะทำงานเร่งรัดการขับเคลื่อนนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลก กล่าวว่า ในพื้นที่ 4 เหลี่ยมคูเมืองมีวัดอยู่ 44 วัด 37 วัดเป็นวัดที่มีพระภิกษุ สงฆ์จำวัดอีก 7 วัดเป็นวัดร้าง การที่จะเสนอเป็นมรดกโลกจะต้องเขียนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเพื่อให้คณะกรรมการที่เป็นชาวต่างชาติได้อ่าน สิ่งสำคัญคือบางคนอาจจะไม่เคยมาหรืออาจจะไม่รู้จักเชียงใหม่เลย ไม่เข้าใจว่าล้านนาคืออะไรดังนั้นขึ้นตอนการจัดทำเอกสารจึงสำคัญ
“อบจ.เชียงใหม่จะสนับสนุนใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เพื่อเก็บภาพถ่ายมุมสูงเพื่อจัดทำเอกสาร Nomination Dossier ให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยกรมศิลปากรและ องค์การยูเนสโก (UNESCO) ซึ่ง อบจ.เชียงใหม่ ได้รับมอบหมายจากจังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานการบินสำรวจด้วยโดรนจะช่วยให้ได้ภาพมุมสูงที่ครอบคลุมพื้นที่ได้อย่างละเอียด ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการจัดทำเอกสารประกอบการเสนอขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ แม้จะมีอุปสรรคที่วิทยุการบินจำกัดความสูงของโดรนให้ไม่เกิน 60 เมตรก็ตาม”ประธานคณะทำงานเร่งรัดการขับเคลื่อนนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลก กล่าวและว่า
เรานำเสนอเชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมในฐานะที่เชียงใหม่เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิต เพียงแต่การอยู่ร่วมกันต้องมีกติกา โดยจะเขียนกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องควบคุมพื้นที่ให้เป็นอัตลักษณ์ในระดับสากล และทำให้คณะกรรมการฯเห็นว่าเชียงใหม่มีมาตรการปกป้องเพียงพอต่อการเป็นมรดกโลกหรือไม่ โดยเฉพาะเทศบัญญัติการควบคุมอาคารสูง และเขตกันชนต่างๆ
ด้านนายธีรพัฒน์ ตันพิริยะกุล รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า อบจ.เชียงใหม่ คาดหวังว่าการดำเนินงานในครั้งนี้ จะนำไปสู่การขึ้นทะเบียนพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ให้ยั่งยืนต่อไป การที่เชียงใหม่มุ่งมั่นผลักดัน 8 แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมสู่การเป็นมรดกโลกนั้น เปรียบเสมือนการเปิดประตูสู่โอกาสอันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูมรดก อันล้ำค่าให้คงอยู่สืบไป การดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาสัมผัสเสน่ห์แห่งล้านนา ซึ่งจะนำมาซึ่ง การเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับชุมชน
นอกจากนี้ การได้รับการยกย่องในระดับสากล ยังก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในมรดกของตนเอง และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ให้แก่คนรุ่นหลัง แหล่งมรดกโลกเหล่านี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ และเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม กับนานาชาติ การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนจะช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และส่งเสริมการพัฒนาในด้านต่างๆ อย่างรอบด้าน ทั้งการศึกษา สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้จะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของเชียงใหม่ให้เป็นที่ประจักษ์ในสายตาชาวโลกในฐานะเมืองที่มีมรดก ทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าอย่างแท้จริง.