ม.แม่โจ้ ร่วมกับภาคเอกชนจีน ทดสอบเทคโนโลยีฟิล์มคลุมดินที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพในการปลูกข้าวอินทรีย์ เผยเป็นโครงการทดสอบที่ต่อยอดจากความร่วมมือในการทำวิจัยร่วมระหว่างกรมการข้าวและบริษัท Dahe Technology Development (Nanjing) Co., Ltd และสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรเจียงซู สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ในโครงการ “การใช้ฟิล์มชีวภาพ Polylatic acid (PLA) คลุมดินสำหรับการผลิตข้าวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย
วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม 2568 รองศาสตราจารย์ ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นประธานเปิดตัวโครงการร่วมมือทดสอบการใช้เทคโนโลยีฟิล์มคลุมดินที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพในการปลูกข้าวอินทรีย์แบบยั่งยืน โดยมี Dr.Prakash Murgeppa Bhuyar ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยนานาชาติ กล่าวรายงาน ทั้งนี้ มี คณาจารย์คณะผลิตกรรมการเกษตร วิทยาลัยนานาชาติ, ผู้อำนวยการสถาบันบริการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และนักศึกษาเข้าร่วมการทดสอบ ณ แปลงนาสาธิตคณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่
สำหรับโครงการทดสอบในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดจากความร่วมมือในการทำวิจัยร่วมระหว่างกรมการข้าวและบริษัท Dahe Technology Development (Nanjing) Co., Ltd และสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรเจียงซู สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ในโครงการ “การใช้ฟิล์มชีวภาพ Polylatic acid (PLA) คลุมดินสำหรับการผลิตข้าวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย” ซึ่งฟิล์มชีวภาพ Polylatic acid (PLA) ผลิตจากวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร จากการทดสอบในประเทศจีน พบว่า ช่วยลดต้นทุนกำจัดวัชพืชได้กว่า 1,500 หยวนต่อเฮกตาร์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนขึ้น 18% ลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30% อีกทั้งเพิ่มผลผลิตข้าวขึ้น 5-15% และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดย วิทยาลัยนานาชาติ สาขาการจัดการเกษตรอินทรีย์และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ร่วมกับ คณะผลิตกรรมการเกษตร ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของการใช้ฟิล์มชีวภาพคลุมดินการในการปลูกข้าวอินทรีย์ จึงได้ลงนามความร่วมมือ กับ บริษัท Dahe Technology Development (Nanjing) Co., Ltd สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อทดสอบการใช้เทคโนโลยีฟิล์มคลุมดินที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพในการปลูกข้าวอินทรีย์ในแปลงนาของจังหวัดเชียงใหม่ โดยหวังว่าจะเป็นอีกทางเลือกในการช่วยเหลือชาวนาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตข้าวอินทรีย์ให้มีคุณภาพ
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ /ประธานหลักสูตรการจัดการเกษตรอินทรีย์และ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ม.แม่โจ้ กล่าวว่า “ความร่วมมือนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการพัฒนานวัตกรรมการจัดการเกษตรอินทรีย์ผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งโครงการทดสอบฟิล์มคลุมดิน PLA ในครั้งนี้ จะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน(ก.ค.-พ.ย.) หวังว่าจะสามารถช่วยกำจัดวัชพืชซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของการทำเกษตรอินทรีย์ ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวอินทรีย์ได้มากขึ้น ช่วยลดต้นทุนการผลิต และช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทน ทางโครงการคาดว่าการนำเทคโนโลยีฟิล์มคลุมดินที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพมาประยุกต์ใช้ในการปลูกข้าวอินทรีย์ในแปลงนาของประเทศไทย จะช่วยสนับสนุนภาคการเกษตรได้อย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
……………………………………………………….
#ฝ่ายสื่อสารองค์กร ม.แม่โจ้ // รายงาน