“จังหวัดลำปาง ร่วมกับ หอการค้าจังหวัดลำปาง และอุทยานวิทย์ มช. เดินหน้าเสริมสร้างศักยภาพผู้นำรุ่นใหม่ในภาครัฐและเอกชน ผ่านโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำคลื่นลูกใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดลำปางรุ่นที่ 3 (Young Public and Private Collaboration : YPC) ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อเตรียมความพร้อมแก่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม”
โครงการ YPC รุ่นที่ 3 ครั้งนี้ จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 28 -30 เมษายน พ.ศ. 2568 ณ ห้องประชุม Tara Ballroom ชั้น 1 โรงแรมทรีธารา จังหวัดลำปาง โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวสุดาทิพย์ มูลอ้าย หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำปาง เป็นประธานเปิดโครงการฯ พร้อมบรรยายพิเศษหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัด และความร่วมมือภาครัฐและเอกชน” และนายพีระรักษ์ พิชญกุล ประธานหอการค้าจังหวัดลำปาง กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร YPC รวมถึงกล่าวที่มาและความคาดหวังของหลักสูตร YPC ซึ่งมีรูปแบบกิจกรรมประกอบด้วยการอบรมเชิงบรรยายและเชิงปฏิบัติการ นำโดย ผศ.ดร.ชนม์เจริญ แสวงรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) อาจารย์ ดร.ณัฐธิดา เตชะบุญ ผู้จัดการโครงการ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่จากอุทยานวิทย์ มช. ร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมความเข้าใจในการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ การพัฒนาโครงการ และการขับเคลื่อนความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพให้แก่ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้าร่วม
นางสาวสุดาทิพย์ มูลอ้าย กล่าวว่า โครงการนี้มีบทบาทสำคัญในการสร้างผู้นำที่พร้อมปรับตัวต่อ
การเปลี่ยนแปลง ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนจังหวัดลำปางอย่างแท้จริง และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันจัดกิจกรรมนี้ขึ้น ในนามจังหวัดลำปาง หวังว่ากิจกรรมครั้งนี้จะช่วยสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัด ในการร่วมกันพัฒนาข้อเสนอโครงการที่มีประสิทธิภาพที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อน และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดต่อไป
นายกฤษฎา ทองจิบ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำคลื่นลูกใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดลำปาง รุ่นที่ 3 โดยมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำรุ่นใหม่ของภาครัฐและภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัด และพัฒนาขีดความสามารถ ความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้วยการพัฒนาจังหวัด ให้บรรลุเป้าหมายยตามแผนพัฒนาจังหวัด อันนำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวจังหวัดลำปาง
ขณะที่ นายพีระรักษ์ พิชญกุล กล่าวเสริมว่า โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำคลื่นลูกใหม่ฯ เกิดจากการ
เสนอโครงการเพื่อพัฒนาจังหวัดในด้านต่างๆ ต่อนายกรัฐมนตรีฯ โดย YEC ทั่วประเทศ ซึ่งมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นเวทีของคนรุ่นใหม่จากภาครัฐและเอกชน เพื่อทำความเข้าใจในกฏระเบียบ เรียนรู้แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัด และร่วมกันคิดข้อเสนอโครงการเพื่อพัฒนาจังหวัดในมุมมองของคนรุ่นใหม่ และขอขอบคุณจังหวัดลำปางที่ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดงานในครั้งนี้ และหวังว่าโครงการที่เกิดขึ้นนี้จะเป็น Project Tank ในการนำไปใช้ขับเคลื่อนในระดับจังหวัดต่อไป
ด้าน ผศ.ดร.ชนม์เจริญ แสวงรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดี มช. ในฐานะวิทยากรถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์
และแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน จึงมุ่งเน้นให้เกิดโครงการที่สามารถขับเคลื่อนประเด็นของการพัฒนาจังหวัดให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการและการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้มีส่วนร่วมในการกำหนดภาพอนาคตของจังหวัดลำปาง อันเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในจังหวัด โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดี ที่จังหวัดลำปางได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำคลื่นลูกใหม่ฯ รุ่นที่ 3 เพื่อพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำให้มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ซึ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์อนาคตของจังหวัดลำปางให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ นายกฤษณะ พินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้ให้เกียรติเข้าร่วมรับฟังแนวคิดโครงการพัฒนาลำปาง ในวันที่ 29 เมษายน 2568 พร้อมกล่าวสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ว่า “แนวคิดการพัฒนาลำปางในอนาคตของ YPC รุ่น 3 มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาพื้นที่ ขอชื่นชมในความมุ่งมั่นของผู้เข้าร่วมทุกท่าน และขอให้ใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน สร้างเครือข่ายผู้นำรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ความสามารถ และมีความเข้าใจร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพของตนเองให้พร้อมเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนจังหวัดลำปางสู่อนาคตที่ยั่งยืน
สำหรับการจัดกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำคลื่นลูกใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดลำปาง รุ่นที่ 3 (Young Public and Private Collaboration : YPC) ได้นำผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน จำนวน 43 คน เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการอย่างเข้มข้นตลอด 3 วัน 2 คืน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้พัฒนาทักษะองค์ความรู้ในการจัดทำข้อเสนอโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองต่อความต้องการและการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการประสานงาน ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ผ่านการเสริมสร้างทักษะและความรู้เชิงลึกในกิจกรรมอบรมเชิงบรรยายอย่างเข้มข้น ได้แก่ (1) ถอดบทเรียนหัวข้อ “ทิศทางยุทธศาสตร์จังหวัด” (2) CEO Talk การเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ และ (3) Northern CEO Talk : นวัตกรรมกับการพัฒนาจังหวัดลำปาง รวมถึงกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการและระดมสมอง ได้แก่ (1) ภาพอนาคตเมืองลำปาง (City Foresight) (2) กระบวนการออกแบบความคิดสู่การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ “Design Thinking” (3) เทคนิคการใช้เครื่องมือ AI ในการวิเคราะห์ปัญหา พัฒนาไอเดีย และขึ้นรูปโครงการ (4) การขึ้นรูปข้อเสนอโครงการเพื่อของบประมาณจากแหล่งทุนต่างๆ และ (5) เทคนิคการนำเสนองานอย่างมีประสิทธิภาพ : How to Pitch Like a Pro” และมีการนำเสนอโครงการในรูปแบบ Pitching เพื่อสร้างโอกาสพัฒนาจังหวัดลำปาง จำนวนทั้งหมด 6 โครงการ ได้แก่
1. Young Local Lab ห้องทดลองธุรกิจภูมิปัญญา มุ่งตอบประเด็นการพัฒนาคนและทักษะอนาคต (Human Capital for Future Economy)
2. Lampang Reconnect ปลุกเสน่ห์เมืองรองสู่ลำปางต้องลอง มุ่งตอบประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจสีเขียว (Creative Economy & BCG Economy)
3. โครงการพัฒนาระบบรถโดยสารอัจฉริยะในจังหวัดลำปาง มุ่งตอบประเด็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเมืองอัจฉริยะ (Smart Infrastructure & Smart Mobility)
4. Climate Change ข้าว Chang มุ่งตอบประเด็นการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change)
5. Lampang Wellness City มุ่งตอบประเด็นการพัฒนาเมืองสุขภาพ (Wellness City & Smart Health)
6. ลีโอนาร์ไดต์ Humic Showcase Lampang เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ลำปาง
“ทั้งนี้ โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำคลื่นลูกใหม่ฯ ถือเป็นกลไกสำคัญในการวางรากฐานสู่อนาคตของจังหวัดลำปางในฐานะ “เมืองสร้างสรรค์สีเขียว เชื่อมโยงเศรษฐกิจใหม่” ภายในปี 2578 โดยมีความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ที่ร่วมให้ข้อเสนอแนะและทิศทางการพัฒนาอย่างรอบด้าน อาทิ สำนักงานจังหวัดลำปาง หอการค้าจังหวัดลำปาง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ททท. สำนักงานลำปาง และอีกหลายภาคีหลัก หากสามารถขับเคลื่อนแนวคิดจากโครงการไปสู่แผนงานที่เป็นรูปธรรม และได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง จะสามารถก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ สร้างรายได้แก่ชุมชน และต่อยอดเป็นมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 89.2 ล้านบาท นับเป็นอีกหมุดหมายแห่งความหวังในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดยมีพลังของคนรุ่นใหม่เป็นแรงขับเคลื่อนที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงจังหวัดลำปางให้เติบโตอย่างมีคุณภาพในโลกอนาคตต่อไป”