บมจ.ซันสวีท เดินหน้าเครื่องจักรรุ่นใหม่เต็มกำลัง รับผลผลิตข้าวโพดหวานช่วงไฮซีซั่นพร้อมปรับกลยุทธ์ครึ่งปีหลัง 2562 เพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ดันสัดส่วนขายในประเทศ ตั้งเป้ายอดขายโต 10%
ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวาน ภายใต้ตราสินค้า KC เปิดเผยว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง 2562 บริษัทฯได้ปรับปรุง และติดตั้งเครื่องจักรใหม่ในสายการผลิตต่างๆ แล้วเสร็จครบทั้งกระบวนการผลิต อาทิ เครื่องคัดแยกด้วยสีที่ผิวของวัตถุ (Color sorter)โดยใช้การถ่ายภาพและวิเคราะห์ภาพถ่าย (Image processing) และเครื่องจักรผลิตสินค้าพร้อมรับประทานในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อรองรับออเดอร์ที่มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นจากลูกค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ พร้อมลงพื้นที่แก้ไขปัญหาภัยแล้งและโรคแมลงให้กับเกษตรกรใน Contract Farming อีกทั้งยังมีการเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกไปยังเขตภาคเหนือตอนล่าง เพื่อเพิ่มปริมาณวัตถุดิบข้าวโพดหวานช่วงไฮซีซั่น ให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตของบริษัทฯที่คาดว่าจะโตไม่ต่ำกว่า10% หรือประมาณ 150,000 ตัน
“แม้ว่าในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกข้าวโพดหวานปีนี้ จะได้รับผลกระทบกับปัญหาภัยแล้ง และ ศัตรูพืชอย่างหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดเข้ามาระบาดบ้าง แต่ทางเราไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการลงพื้นที่สร้างการรับรู้แก่เกษตรกรในการควบคุมป้องกัน และ เฝ้าระวังตามหลักสมาร์ทฟาร์ม ควบคู่ไปกับการใช้ชีวภัณฑ์ตามหลักกรมวิชาการเกษตรอย่างเคร่งครัด รวมไปถึงการขยายพื้นที่การเพาะปลูกในเขตพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตและคุณภาพตามมาตรฐานบริษัท” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบ.ซันสวีทฯ กล่าวและชี้แจงอีกว่า
สำหรับแผนการดำเนินงาน บริษัทฯได้ขยายฐานลูกค้าบริษัทฯ ที่ยังเน้นการรักษากลุ่มลูกค้าเดิมจำนวน 60 ประเทศทั่วโลก อาทิ ประเทศญี่ปุ่นเกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง และ กลุ่มทวีปยุโรป รวมไปถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จากศักยภาพของตลาดที่มีความต้องการข้าวโพดหวานปริมาณมาก โดยขยายฐานลูกค้าใหม่ผ่านวิธีการนำผลิตภัณฑ์ออกงานแสดงสินค้าและอาหารในประเทศต่างๆอาทิ ประเทศเยอรมนี, ไต้หวัน และ ประเทศออสเตรเลีย
นอกจากนี้ บริษัทฯมีแผนขยายตลาดทั้งผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานและผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานเพื่อสุขภาพ โดยการเพิ่มประเภทสินค้าใหม่ภายในประเทศให้ครอบคลุมทุกความต้องการของผู้บริโภค เช่น มันหวานพร้อมรับประทาน , ข้าวโพดหวาน 2 สี รวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมทางอาหาร โดยปรับสัดส่วนการจำหน่ายสินค้าในประเทศขึ้นเป็น 30% จากเดิม 20% เพิ่มช่องทางขายในกลุ่มค้าปลีก และ การทำโปรโมชั่นผ่านทางออนไลน์ เพื่อรองรับความต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพในประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น อีกทั้งยังป้องกันความเสี่ยงในด้านค่าเงินที่จะเกิดขึ้นกับสัดส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดต่างประเทศ และ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการแถลงว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.75% เป็น 1.50% จากการที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ อาจส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนลงซึ่งถือว่าเป็นผลดีกับบริษัทฯ โดยคาดว่ายอดขายทั้งหมดจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 10% จากปี 2561 ที่มียอดขาย 1,800 ล้านบาท
“ซันสวีทยังคงปรับตัวให้ทันสถานการณ์โลกอยู่เสมอ และ พร้อมรุกตลาดผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานและสินค้าเพื่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่ายอดขายในช่วงที่ผ่านมาจะเพิ่มขึ้นไม่มาก จากผลกระทบของเปลี่ยนแปลงค่าเงิน แต่เราจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้น เพื่อสะท้อนถึงกำลังการผลิตของเราที่เพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่เราได้วางไว้” ดร.องอาจกล่าวในที่สุด.