รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ เปิดใช้อาคารหอพักจำนวน 129 ห้องเพื่อรองรับ-ดูแลรักษานักศึกษาและบุคลากร มช. ที่ติดเชื้อโควิด-19

รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ เปิดใช้อาคารหอพักจำนวน 129 ห้องเพื่อรองรับ-ดูแลรักษานักศึกษาและบุคลากร มช. ที่ติดเชื้อโควิด-19

มช. พร้อมทีมแพทย์ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ เปิดใช้อาคารหอพักจำนวน 129 ห้อง เป็นสถานที่แยกกักกันโรคของชุมชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “COMMUNITY ISOLATION CMU” เพื่อรองรับ-ดูแลรักษานักศึกษาและบุคลากร มช. ที่ติดเชื้อโควิด-19 ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข และจัดระบบการดูแลผ่านระบบแพทย์ทางไกล Telemedicine ตลอด 24 ชั่วโมง

ผศ.นพ. นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ นับเป็นระลอกที่ 6 ซึ่งเกิดจากการระบาดในร้านอาหารและสถานบันเทิงช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา จนกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่หลายแห่ง ลักษณะนี้เราเชื่อว่าจะมีผู้ป่วยจำนวนมากกว่าการระบาดในระลอกก่อนหน้านี้
“ปัจจุบันแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิดฯ จะมีการรักษา ประเมินตามอาการโดยโรงพยาบาลหลักทุกแห่งจะไม่รับผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งหมด เนื่องจากโรงพยาบาลต้องสงวนเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างหนัก (เคสอาการเหลือง ส้ม แดง) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงหรือกลุ่มอาการสีเขียว จะเน้นให้แยกกักตัว ดูแลตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) ตามแนวทางของทางจังหวัด โดยที่จะมีแพทย์พยาบาลคอยดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดผ่านระบบแพทย์ทางไกล แต่ทั้งนี้อาจมีบางกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรักษาตัวในบ้านได้ ด้วยเหตุจำเป็นบางประการเช่น อยู่บ้านร่วมกับผู้สูงอายุ ไม่สามารถแยกห้องน้ำได้ พื้นที่คับแคบ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้อยู่ร่วมบ้านเดียวกัน หรือมีข้อจำกัดที่ไม่อาจอยู่ในหอพัก คอนโด ด้วยเหตุที่เจ้าของหอพักไม่อนุญาตให้ผู้ป่วยอยู่ในหอ
กรณีเช่นนี้จำเป็นจะต้องให้การรักษาในสถานที่เฉพาะที่เรียกว่า “การแยกกักโรคของชุมชน” หรือ Community Isolation”
ผศ.นพ. นเรนทร์ เปิดเผยอีกว่า การระบาดของโควิดระลอกนี้ ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีบุคลากรและนักศึกษา มช. มีการติดเชื้อและมีอาการป่วยจำนวนหนี่ง หากเป็นช่วงกลางปีที่ผ่านมา ที่เรายังมีความเข้าใจโรคไม่มากนัก ผู้ป่วยจะได้รับรักษาตัวที่ รพ.สนาม แต่ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนแนวทางและ วิธีการรักษาแล้วจาก รพ.สนาม เปลี่ยนเป็นวิธีการที่เรียกว่า “การแยกกักตัวของชุมชน” แทน ซึ่งแนวคิดคือ การนำผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้านไม่ได้ มารวมตัวกัน ภายใต้การดูแลของชุมชน พร้อมกับมีทีมแพทย์พยาบาลคอยดูแลอย่างใกล้ชิดผ่านระบบแพทย์ทางไกล (telemedicine) มีการประสานงานทุกขั้นตอนของการรักษาโดยการส่งข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน ที่จะทำให้แพทย์และพยาบาลติดตามอาการผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากแนวโน้มการระบาดดังกล่าว ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) พร้อมทีมแพทย์ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ได้ทำการเปิดพื้นที่อาคารหอหญิง 11 ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อใช้เป็นสถานที่แยกกักฯ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “COMMUNITY ISOLATION CMU” เพื่อรองรับการดูแลรักษานักศึกษาและบุคลากร มช. ที่ติดเชื้อโควิด-19 ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับอาคารหอพักที่ใช้ในการดูแลรักษานี้ เป็นอาคาร 5 ชั้น การดูแลจะแบ่งเป็นชั้นของผู้ชาย และชั้นของผู้หญิง โดยที่บุคลากร และนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ป่วยด้วยโควิท 19 สามารถเข้ารับการรักษาได้ ทีมแพทย์และพยาบาลจะให้ผู้ป่วยเหล่านี้เข้ามาอยู่ในกลุ่มของการดูแลที่ใช้ LINE 0fficial Accountหรือ Line 0A
เมื่อเข้ามาในระบบแล้วจะมีการให้ความรู้ คำแนะนำ การรับประทานยาต่างๆ การดูแลขยะติดเชื้อ รวมไปถึงการส่งยา ส่งอาหารให้ผู้ป่วยถึงที่

ผู้อำนวยการ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยอีกว่า การรักษาลักษณะนี้จะมีการติดตามอาการทุกวันโดยผู้ป่วยจะต้องส่งข้อมูล จากการวัดออกซิเจนในเลือด วัดอุณหภูมิร่างกาย และส่งตัวเลขเหล่านี้เข้ามาในระบบ ทั้งแพทย์และพยาบาลจะดูข้อมูลในระบบและติดตามอาการโดยผ่านการส่งข้อคงาม หรือการทำวีดีโอคอล ทำลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องทุกวัน หากมีอาการหนักหรือมีการเปลี่ยนแปลง ทางโรงพยาบาลจะส่งทีมแพทย์ไปรับและนำเข้าสู่กระบวนการรักษาในโรงพยาบาล
หากอาการไม่มาก จะให้การรักษา 10 วัน ก็ถือว่ากระบวนการรักษาเสร็จสิ้น สามารถออกจาก COMMUNITY ISOLATION ได้

You may also like

กลุ่ม Chiang Mai Pride จับมือร่วมกับ Asset World Corporation (AWC) และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงาน “Chiang Mai Colourful Pride Month 2024” เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และเชื่อมโยงการท่องเที่ยว

จำนวนผู้