หมอกควันไฟป่าเริ่มวิกฤติ 6 จังหวัดภาคเหนือค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน มีผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะที่เอกชนตั้งเพจรวบรวม 1 หมื่นรายชื่อเสนอ “บิ๊กตู่”ขึ้นเหนือมานั่งหัวโต๊ะวางแผนแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่เริ่มส่อเค้าวิกฤติเมื่อผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศวันนี้(23 มี.ค.)ค่าฝุ่นละอองขนาะเล็กหรือ pm10 สูงสุดที่ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่(ศาลากลางจังหวัด)วัดได้ 103 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.ต.ศรีภูมิ อ.เมืองเชียงใหม่วัดได้ 95 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.ต.สุเทพวัดได้ 85 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.และที่ต.ข่างเคิ่ง อ.แม่แจ่มวัดได้ 98 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.
ส่วนค่า pm10 สูงสุดวัดได้ถึง 233 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.ที่ต.บ้านดอง อ.แม่เมาะ จังหวัดลำปาง รองลงมาที่ต.พระบาท อ.เมืองลำปาง 183 ไมโครกรัม ต.แม่เมาะ 151 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.ส่วนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนสูงสุดวัดได้ 155 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.ที่ต.จองคำ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน เชียงรายสูงสุดที่ต.เวียงพางคำ อ.แม่สายวัดได้ 122 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.ส่วนพะเยาสูงสุดวัดได้ 112 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.ที่ต.ในเวียง อ.เมืองพะเยา จังหวัดแพร่สูงสุดที่ต.นาจักร อ.เมืองแพร่ 126 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.และที่จังหวัดตากสูงสุดที่ต.แม่ปะ อ.แม่สอดวัดได้ 146 ไมโครกรัมต่อลบ.ม.ซึ่งแสดงให้เห็นว่าค่า pm10 เกินค่ามาตรฐานใน 6 จังหวัดจาก 9 จังหวัดภาคเหนือและมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ด้านการแพทย์และสาธารณสุขได้รายสถิติจำนวนผู้ป่วยกลุ่มโรคที่เฝ้าระวังในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจทุกชนิด โรคตาอักเสบและโรคผิวหนังอักเสบ ตั้งแต่ 5-11 มี.ค.2560 มีผู้ป่วยรวม 5,838 ราย สูงสุดคือกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด 3,705 ราย รองลงมาคือกลุ่มโรคทางเดินหายใจ 1,701 ราย และโรคตาอักเสบ 234 ราย โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดที่จังหวัดลำปาง 1,664 ราย รองลงมาคือเชียงใหม่ 1,198 รายและแพร่ 752 ราย
นอกจากนี้ในรายงานการดำเนินการด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับจังหวัดนั้น ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการพ่นละอองน้ำลดปัญหาหมอกควันในพื้นที่ทต.ยางเนิ้ง อ.สารภีและทต.หนองหาร อ.สันทราย ทางสนง.สาธารณสุขอ.สะเมิงสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ให้หน่วยควบคุมไฟป่าจัดกิจกรรมเฝ้าระวังและลดผลกระทบจากหมอกควันโดยให้อสม.เคาะประตูบ้านในอ.แม่ออน ส่วนที่จ.ลำปางได้มีการสื่อสารความเสี่ยงผ่านเสียงตามสายกระจายข่าว 131 แห่งตามสถานีวิทยุ เวบไซต์และไลน์และจัดเตรียมห้องสะอาดพร้อมให้บริการ 54 แห่งและเยี่ยมบ้านกลุ่มเสี่ยงในอ.แม่เมาะ เป็นต้น ขณะที่นายวิทยา ครองทรัพย์ อดีตเลขาธิการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้ตั้งเพจร่วมค้นหาต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาฝุ่นควันขึ้นมาให้ประชาชนร่วมลงรายชื่อให้ได้ 10,000 รายชื่อ เพื่อจะนำข้อเรียกร้อง และภาพที่ได้จากดาวเทียมที่ชี้ให้เห็นถึงจุดความร้อนหรือ Hot Spot เสนอแก่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณาดำเนินการแก้ไขต่อไป
ทั้งนี้เนื้อหาในเพจดังกล่าวระบุว่า ในช่วง 10 กว่าปีมานี้ ชาวภาคเหนือต้องผจญกับปัญหาฝุ่นควัน และดิ้นรนกันเองเพื่อเรียกร้องขออากาศบริสุทธิ์เพื่อหายใจ สาเหตุ พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน (ตาก พะเยา แพร่ ลำพูน เชียงราย น่าน เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน ) จะเกิดฝุ่นควันจำนวนมาก ในช่วงเดือน ก.พ. มี.ค.เม.ย. มากจนถึงวิกฤติ (มีปริมาณฝุ่นควันขนาดเล็ก pm10 และ pm2.5 สูงมาก ) ภาครัฐมักจะโทษชาวบ้านว่า เผาป่าเอาของป่า การเผาใบไม้แห้ง การเผาไล่ยุง แต่ฝุ่นควันที่เกิดไม่มากมายนัก ต่อมาเมื่อปี 2550 ฝุ่นควันก็มีมากจนวิกฤติซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ลามเข้าไปในป่าสงวน อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้ ได้ให้สัมภาษณ์ว่ามีการรุกป่าถึง 2.5 ล้านไร่ (2558) รวมทั้งปัจจุบัน (2560) มีการเข้าไปส่งเสริมการปลูกในประเทศเพื่อนบ้านอีกไม่ต่ำกว่า 3 ล้านไร่ ซึ่งก็ใช้การเผาเช่นกัน ฝุ่นควันก็ถูกกระแสลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดข้ามพรมแดนมาภาคเหนือตอนบนของไทย และเนื่องจากป่าสงวนเป็นพื้นที่ลาดชัดเมื่อต้องกำจัดซากจึงใช้วิธีเผา และต้องเผาในช่วง ก.พ., มี.ค. เม.ย. ก่อนที่จะเข้าหน้าฝน เพื่อให้ทันการปลูกในฤดูกาลต่อไป รัฐบาลที่ผ่านๆ มาก็รับทราบถึงวิกฤติ มีระดับระดับรัฐมนตรีมาประชุมวางแนวทางมากมาย มอบหมายให้แต่ละจังหวัดให้ดำเนินการในระบบ Single Command โดยแผนดังกล่าวได้ดำเนินในรูปแบบเดิมมาตลอด 10 ปีนี้ แต่ก็ยังมีปริมาณฝุ่นควันจนวิกฤติตลอดเช่นกัน ซึ่งสามารถสรุปได้ว่าแผนแบบเดิมนั้นไม่ได้ผล เพราะไม่ได้แก้ไขที่สาเหตุ
ผลกระทบ วิกฤตินี้ส่งผลกระทบทั้งด้านสุขภาพระยะยาวของประชาชนและผลกระทบทางเศรษฐกิจ หากยกตัวอย่างเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ วิกฤตินี้มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวนับหมื่นล้านบาทต่อปี (ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) แต่ชาวไร่ผู้ปลูกนั้นได้รับรายได้เพียง 186 ล้านต่อปี ดังนั้นด้วยความเคารพในความตั้งใจเข้ามาแก้ไขปัญหาให้ประชาชนของท่านนายกรัฐมนตรี หากมีคนลงชื่อถึง 10,000 คน พวกเราขอเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กรุณามาแอ่วเชียงใหม่ เพื่อประชุมร่วมประชาชนที่เดือดร้อนช่วยเหลือชาวภาคเหนือ 16.5 ล้านคนพ้นจากวังวนของความทุกข์จากวิกฤติฝุ่นควันนี้.