ให้บุคลากรทางการแพทย์ในภาคเหนือหมุนเวียนมาช่วยเชียงใหม่หลังทำงานหนักจนอ่อนล้า ห่วงประชาชนหย่อนยานไม่ป้องกันตนเองจนเกิดคลัสเตอร์ใหม่

ให้บุคลากรทางการแพทย์ในภาคเหนือหมุนเวียนมาช่วยเชียงใหม่หลังทำงานหนักจนอ่อนล้า ห่วงประชาชนหย่อนยานไม่ป้องกันตนเองจนเกิดคลัสเตอร์ใหม่

เตรียมเสริมทีมบุคลากรทางการแพทย์จากจังหวัดในภาคเหนือหมุนเวียน สับเปลี่ยนช่วยเชียงใหม่หลังรับศึกหนักดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิดฯจนอ่อนล้า ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่แจงออกคำสั่งปิดหลายกิจการเพื่อลดการเคลื่อนไหวควบคุมการแพร่ระบาด ย้ำขอความร่วมมือ แจงแพทย์ พยาบาล เตียงยังไม่น่าห่วงเท่าประชาชนหย่อนยานในการป้องกันโรคของประชาชน เกรงจะทำให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่

เมื่อวันที่ 27 เม.ย.64 นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รองผวจ.เชียงใหม่ พร้อมด้วยดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่และนายกวานเปา วัฒนาฟุ้งเจริญ ปลัดอำเภอ(เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) ที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันแถลงข่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยรองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดโควิดฯน่าเป็นห่วงมาก ทั้งห้องฉุกเฉิน ห้องไอซียูและเครื่องช่วยหายใจมีการใช้งานเต็มพิกัดแล้ว เพราะฉะนั้นมาตรการต่างๆ ที่คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งออกมาก็เพื่อลดการเคลื่อนที่ของประชาชนทั้งในพื้นที่และจากนอกพื้นที่เข้ามา เพื่อเป็นการลดการแพร่ระบาด และบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนคำสั่งมีความผิดจริงและถูกจับ ปรับจริงด้วย

รองผวจ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการควบคุมโรคฯมีการประชุมทุกวันและประเมินสถานการณ์ทุกระยะ อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ป่วยอาการหนักหรือสีแดงนั้น ในขณะนี้ทั้งรพ.นครพิงค์และรพ.มหาราชนครเชียงใหม่ยังมีศักยภาพเพียงพอในการรองรับผู้ป่วยที่มีอยู่ จะมีเพียงสีเหลืองที่ยังต้องเตรียมโรงพยาบาลรองรับกับจำนวนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ได้เพิ่มเตียงสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองคือมีอาการและต้องติดตามดูแลและได้ยาอีก 28 ห้อง ส่วนรพ.อื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน

สำหรับผู้ติดเชื้อที่เป็นกลุ่มสีเขียวคือติดแต่อาการเล็กน้อยจะอยู่ในโรงพยาบาลสนามและรพ.เอกชน ซึ่งหากจำนวนผู้ติดเชื้อทรงตัวหรือลดลงก็จะไม่มีปัญหาเรื่องเตียง โดยตอนนี้รพ.สนามของม.แม่โจ้ก็ได้รับผู้ป่วยสีเหลืองอ่อน อาการไม่มากและจะมีการปักธงไว้เป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นผู้ป่วยติดเชื้อกลุ่มไหน ซึ่งหากรักษาและอาการดีขึ้นก็จะถามความสมัครใจถ้าหากไป hospital แสดงว่าสมัครใจ แต่ก็ไม่ได้บังคับ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหนักก็จะส่งต่อในรพ.รัฐที่มีอยู่และยังบริหารจัดการได้ ไม่ให้เกิดปัญหา

ด้านดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้(27 เม.ย.)มี 57 ราย ผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่รวม 3,359 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 2,044 ราย และรักษาหายกลับบ้านแล้ว 1,315 ราย ทั้งนี้จากการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงพบว่าติดเชื้อจากสถานบันเทิงลดลง แต่ที่เป็นห่วงคือการไปสัมผัสกับครอบครัวทำให้ได้รับเชื้อมากขึ้นจนตัวเลขกระโดด

“ในเดือนพ.ค.นี้จะมีทีมแพทย์และพยาบาลจากต่างจังหวัดที่สถานการณ์ดีกว่าจังหวัดเชียงใหม่เข้ามาช่วย อย่างน้อยก็จะมีแพทย์ 1 พยาบาล 2 และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพราะขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ของเชียงใหม่เหนื่อยล้ามาก นอกจากนี้ก็จะมีการออกตรวจเชิงรุก สำหรับผู้ที่มีประวัติเสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้อไปตรวจหาเชื้อได้ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านาชาติฯ โดยให้เข้าประตู 1 หรือโรงพยาบาลอำเภอทุกแห่ง ส่วนรถชีวนิรภัยพระราชทานจะไปตรวจเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงจากการสอบสวนโรคโดยจะไม่ประชาสัมพันธ์หรือรับตรวจทั่วไปแต่จะค้นหาในชุมชนหรือบุคลากรในพื้นที่นั้นๆ ว่าได้รับเชื้อหรือไม่ รวมถึงตลาดซึ่งก็ยังพบผู้ติดเชื้ออยู่ 2-3 คน”ดร.ทรงยศ กล่าวและว่า

สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากในการทำงาน บุคลากรทางการแพทย์ เตียงยังไม่น่าห่วงเท่ากับวินัย การหย่อนยานในการป้องกันโรคของประชาชน ซึ่งจะทำให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นมาได้และยังมีการแพร่เชื้อเข้าไปสู่ระดับครอบครัวและสถานที่ทำงานด้วย ดังนั้นจึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่างด้วย

ขณะที่นายนายกวานเปา วัฒนาฟุ้งเจริญ ปลัดอำเภอ(เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) ที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่มีมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีคำสั่งปิดกิจการเป็นการชั่วคราวในหลายกิจการ ซึ่งก็มีเจตนาในการออกคำสั่งโดยอาศัยหลักวิชาการของหมอระบาดวิทยา เพื่อลดการติดเชื้อของพี่น้องประชาชนและลดการเคลื่อนไหวด้วย

นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ประเด็นคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่เกี่ยวกับการปิดตลาดนัดเปิดท้ายขายของ หรือตลาดที่มีลักษณะคล้ายกันนั้น เป็นคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 41/2564 เรื่องปิดสถานที่เสี่ยงเป็นการชั่วคราว ซึ่งสาระสำคัญของคำสั่งระบุว่า “ห้ามใช้สถานที่ใดๆ เพื่อการจำหน่ายสินค้าที่มีลักษณะเป็นครั้งคราว (อาทิ ตลาดนัดเปิดท้ายขายของ ฯลฯ) เว้นแต่เป็นการดำเนินการของส่วนราชการที่มีผู้รับผิดชอบชัดเจน” ซึ่งคำสั่งนี้มีผลบังคับ 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2564

“ต้องพูดถึงเจตนารมณ์ของคำสั่งฉบับนี้ก่อนว่าต้องการอะไร คำสั่งนี้ต้องการที่จะจำกัดการเคลื่อนย้ายคน ซึ่งกลุ่มหนึ่งก็คือ ผู้ค้ารถเร่ ซึ่งจะตระเวนรถบรรทุกสินค้าไปขายตามตลาดต่างๆ ซึ่งเปิดเป็นครั้งคราว อย่างเช่น วันจันทร์ไปขายอำเภอจอมทอง วันอังคารไปขายที่ฮอด วันพุธข้ามไปขายที่แม่ริม วันอาทิตย์ขับเร่ไปขายที่หางดง ตลาดที่ผู้ค้าแบบนี้ต้องปิดตามคำสั่งที่ 41/2564 มีที่ไหนบ้าง ผู้จัดตลาดและ ศปก.พื้นที่จะทราบดี ซึ่งต้องปิด ตลาดแบบนี้ก็อาจเรียกได้ว่า ตลาดนัดรวมรถเร่ ซึ่งยังมีอีกอย่างคือ ตลาดเปิดท้ายขายของ ผู้ค้าส่วนใหญ่ก็จะตระเวนไปตามที่ต่างๆ เพื่อขายสินค้าของตนเช่นกัน ตลาดประเภทนี้ก็ต้องปิดด้วย” รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวและชี้แจงอีกว่า

ในส่วนที่เป็นตลาดนัดกลางคืน ในเชียงใหม่ที่เห็นได้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น ตลาดไนท์บาร์ซ่า ตลาดริมถนนบริเวณตลาดวโรรส-ต้นลำไย ตลาดเหล่านี้ ผู้ค้าในตลาดจะเป็นคนๆ เดิม มาขายเป็นประจำ ซึ่งคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ฉบับที่ 44/2564 ระบุไว้ในข้อ 3.3 ว่า ตลาดนัดกลางคืน ถนนคนเดิน ฯลฯ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ แต่ไม่เกินเวลา 23.00 น. ในข้อนี้ของคำสั่งฯ เป็นการออกคำสั่งตาม “ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 20)” แต่ทั้งนี้ตลาดนัดกลางคืน หรือถนนคนเดิน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการผ่อนผันการใช้พื้นที่ หรือบริหารจัดการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ขึ้นอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นอาจสั่งให้ปิดได้เพื่อการควบคุม ป้องกันการระบาดโรคโควิด-19.

You may also like

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือลั่นสู้ พร้อมรวมพลังทวงคืนความมั่งคั่งจากนายทุน

จำนวนผู้