โพลเผยคนเชียงใหม่ส่วนใหญ่ยังไม่สนใจป้องกันตนเองจากหมอกควัน ชี้เกิดปัญหาซ้ำซากจากความไม่ร่วมมือและเห็นแก่ตัว

โพลเผยคนเชียงใหม่ส่วนใหญ่ยังไม่สนใจป้องกันตนเองจากหมอกควัน ชี้เกิดปัญหาซ้ำซากจากความไม่ร่วมมือและเห็นแก่ตัว

สคร.1 เชียงใหม่เผยผลสำรวจความเห็นประชาชนกลุ่มตัวอย่าง 4 อำเภอประชาชนยังไม่สนใจป้องกันตนเองจากหมอกควัน แต่เห็นว่าปัญหาหมอกควันเกิดขึ้นซ้ำซากจากความไม่ร่วมมือของประชาชนและความเห็นแก่ตัวของบางกลุ่ม

นายแพทย์วิทยา หลิวเสรี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัญหาหมอกควัน ในเครือข่ายบริการสุขภาพที่ 1 (8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน)       ผลการตรวจค่าฝุ่นละอองในอากาศจากกรมควบคุมมลพิษพบค่า PM10 อยู่ระหว่าง 38-176 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินมาตรฐานที่มีผลกระทบต่อสุขภาพใน 3 พื้นที่ คือ ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง , ต.นาจักร อ.เมือง จ.แพร่ และ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 17 มีนาคม 2560 มีรายงานพบผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคใน 8 จังหวัดภาคเหนือ รวม 2,948 ราย ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด 2,119 ราย   โรคทางเดินหายใจ 621 ราย โรคตาอักเสบ 109 ราย และโรคผิวหนังอักเสบ 99 ราย ซึ่งผู้ป่วยรวมใน           4  กลุ่มโรคที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุดคือ จังหวัดลำปาง 933 ราย, จังหวัดพะเยา 772 ราย และ จังหวัดเชียงใหม่ 733 รายตามลำดับ

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ โดยกลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “มุมมองคนเมืองเรื่องปัญหาหมอกควัน” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27 – 28 กุมภาพันธ์ 2560 กรณีศึกษาประชาชนที่อาศัยอยู่ใน         อำเภอสันทราย, อำเภอสันกำแพง, อำเภอหางดง และ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 115 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความคิดเห็น เรื่องสาเหตุการเกิดปัญหาหมอกควัน การป้องกันตนเอง  การเลือกใช้หน้ากากอนามัย กลุ่มเสี่ยงที่ควรดูแลเป็นพิเศษ การปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการผิดปกติ สาเหตุสำคัญที่เกิดปัญหาหมอกควันในทุกปี ขนาดฝุ่นละอองที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตลอดจนอาการในระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากฝุ่นละอองในอากาศ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยไม่ใช้ความน่าจะเป็น (Nonprobability sampling) ด้วย วิธีเลือกสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ (Accidental sampling) ในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าปัญหาหมอกควันเกิดจากสาเหตุ ไฟป่า รองลงมาคือการเผาเศษพืชและวัสดุการเกษตร และการเผาขยะมูลฝอยจากชุมชน คิดเป็นร้อยละ 26.9, 22.0 และร้อยละ 19.4 ตามลำดับ ขณะที่คำถามเกี่ยวกับการป้องกันตนเองหากอยู่ในบริเวณที่มีควันไฟหรือหมอกควัน ส่วนใหญ่เห็นว่า        ควรสวมหน้ากากอนามัย รองลงมา คือใช้ผ้าชุบหมาด ๆ ปิดปากและจมูก คิดเป็นร้อยละ 85.2 และ 12.2 ตามลำดับ และที่น่าสนใจพบว่าประชาชน มีความเห็นว่า เฉย ๆ ไม่ทำอะไร  คิดเป็นร้อยละ 2.6 (3 คน) 

ประชาชนส่วนใหญ่ยังเห็นว่าการเลือกใช้หน้ากากอนามัยในการป้องกันหมอกควัน ใช้หน้ากากอนามัยกระดาษแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งมากที่สุด รองลงมา คือหน้ากากอนามัยแบบผ้า คิดเป็นร้อยละ 49.6  , 43.5 และหน้ากากอนามัย N 95 ร้อยละ 7.0 ตามลำดับ ส่วนการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดอาการผิดปกติ ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรรีบไปพบแพทย์ รองลงมา คือออกจากพื้นที่ที่มีหมอกควัน และซื้อยารักษาตามอาการ คิดเป็นร้อยละ 86.1 , 9.6, 4.3 ตามลำดับ

ประชาชนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นต่อสาเหตุสำคัญที่เกิดปัญหาหมอกควันในทุกปีว่า เกิดจากความไม่ร่วมมือของประชาชน รองลงมา ไม่ตระหนักถึงสาเหตุปัญหาหมอกควัน คิดเป็นร้อยละ 53.0, 45.2 ตามลำดับและ    มีความเห็น อื่น ๆ เช่นความเห็นแก่ตัวของบุคคลบางกลุ่มในการเผาหญ้าเพื่อใช้เป็นพื้นที่ทางการเกษตร      คิดเป็นร้อยละ 1.7  เมื่อถามว่าขนาดฝุ่นละอองที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ส่วนใหญ่ไม่ทราบขนาดของฝุ่นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากถึง 50 คน คิดเป็นร้อยละ 43.5 รองลงมามีความเห็นว่าขนาดฝุ่นมากกว่า 10 ไมครอนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ คิดเป็นร้อยละ 34.8 และมีความเห็นว่าขนาดฝุ่นน้อยกว่า 10 ไมครอนเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ ร้อยละ 21.7    

เมื่อถามถึงอาการในระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากฝุ่นละอองในอากาศ ส่วนใหญ่เห็นว่าเกิดอาการ ไอ หอบหืด หลอดลมอักเสบ คิดเป็นร้อยละ 42.5 รองลงมา ในระยะยาวเสี่ยงต่อการเกิด        มะเร็งปอด คิดเป็นร้อยละ  28.8  และระคายเคืองและอักเสบได้  คิดเป็นร้อยละ 28.3 ตามลำดับ ทั้งนี้ประชาชนกลุ่มตัวอย่าง เป็นเพศชายร้อยละ 33.0 และเป็นเพศหญิงร้อยละ 67.0 ส่วนใหญ่อายุอยู่ระหว่าง 25 – 34  ปี คิดเป็นร้อยละ 49.6 รองลงมาคือ อายุ 35 – 44  ปี คิดเป็นร้อยละ 22.6 ตามลำดับ มีการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าเป็นส่วนใหญ่      คิดเป็นร้อยละ 64.3 รองลงมา อนุปริญญา/ปวส. คิดเป็นร้อยละ 13.0 และ ประถมศึกษา คิดเป็นร้อยละ 8.7  ตามลำดับ มีอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน คิดเป็นร้อยละ 53.9 รองลงมา ธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย คิดเป็น        ร้อยละ 14.8 และ ข้าราชการ, รับจ้างทั่วไป คิดเป็นร้อยละ 11.3 เท่ากัน ตามลำดับ

ผอ.สำนักป้องกันควบคุมโรคที่ 1 กล่าวด้วยว่า ผลการสำรวจพบว่า ถึงแม้ประชาชนส่วนใหญ่จะมีความรู้ความตระหนักและพฤติกรรมป้องกันปัญหาหมอกควันค่อนข้างดี แต่ยังพบว่ามีประชาชนส่วนน้อยที่ยังไม่มีความรู้ ดังจะเห็นได้จากบางข้อคำถาม   เมื่อถามถึงการป้องกันตนเองหากอยู่ในบริเวณที่มีควันไฟหรือหมอกควัน พบว่ามีประชาชนกลุ่มตัวอย่างถึง 3 คนที่ตอบเฉย ๆ ไม่ทำอะไร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนกลุ่มนี้ยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหา     หมอกควัน ควรจะมีการจัดทำสื่อ เช่น โปสเตอร์, Info graphic เผยแพร่ผ่าน Social

นอกจากนี้ยังพบว่ามีประชาชนกลุ่มตัวอย่างถึง 50 คน ที่ไม่ทราบขนาดของฝุ่นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และ ประชาชนกลุ่มตัวอย่าง 40 คน ที่เห็นว่า ขนาดฝุ่นมากกว่า 10 ไมครอนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นความรู้ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง และมีประชาชนกลุ่มตัวอย่างเพียงแค่ 25 คนที่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับขนาดฝุ่นละอองที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพคือ มีขนาดน้อยกว่า 10 ไมครอน แสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ดังนั้น ควรมีการสื่อสารในประเด็นนี้โดยการเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อออนไลน์ เช่น Line, Face book รวมทั้งสื่อที่เหมาะสมในบริบทของพื้นที่และบุคคล เป็นต้น.

You may also like

บสย. จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา โครงการ “บสย. ร่วมใจ ทำดี เพื่อสังคม” ครั้งที่ 2 ร่วมซ่อมแซม ทาสี เครื่องเล่นเด็ก ปลูกต้นไม้ ณ สวนสมเด็จสราญราษฎร์มณีรมย์

จำนวนผู้