แอ่วลำพูน เมืองบุญแห่งล้านนา ตามรอยครูบาเจ้าฯ

แอ่วลำพูน เมืองบุญแห่งล้านนา ตามรอยครูบาเจ้าฯ

หรรษาหน้าร้อนเที่ยวชมเลือกซื้อผ้าฝ้ายดอนหลวง กราบรอยพระพุทธบาท เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บริขารพระครูบาเจ้าศรีวิชัยที่วัดบ้านปาง ชมทิวทัศน์อันงดงามของอำเภอลี้ ดูประวัติที่มาแห่งศรัทธาครูบาขาวปี ชมความงดงามของน้ำตกก้อหลวง ก่อนเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปี๋ใหม่เมืองในเดือนเมษายน และยังเป็นช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนอยากจะเชิญชวนไปแอ่วเมืองหละปูน หรือจังหวัดลำพูน(เมืองหริภุญไชย)ซึ่งเป็นเมืองโบราณ ที่มีอายุประมาณ 1,343 ปี ทริปครั้งนี้เดินทางด้วยรถตู้ปรับอากาศออกจากเชียงใหม่เกือบเก้าโมงเช้า โดยใช้เส้นทางถนนเลียบคลองชลประทานแล้วผ่านไปทางดอยหล่อข้ามเข้าลำพูน เป้าหมายคือบ้านดอนหลวง อ.ป่าซางแหล่งผลิตผ้าฝ้ายทอมือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

บ้านดอนหลวงเป็นชุมชนชาวยองดั้งเดิม ที่มีความภาคภูมิใจในความเป็นชาวยอง และได้นำเอาความเป็นชาวยองนี้ ออกมาเผยแพร่และแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของคนบ้านดอนหลวง ทั้งภาษายอง วิธีทางการดำเนินชีวิต ผู้คนในหมู่บ้านช่วยกันอนุรักษ์ความเป็นตัวตนของท้องถิ่นเอาไว้อย่างมั่นคง ด้วยความสามารถด้านฝีมือโดดเด่น จึงทำให้บ้านดอนหลวง มีผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้าฝ้ายทอมือ ผ้าบาติก ไม้แกะสลัก และเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งนี้การเริ่มต้นเกี่ยวกับการทอผ้าเกิดขึ้นจากที่ชาวบ้านได้เข้ารับจ้างทอผ้าในตัวอำเภอป่าซาง ต่อมาโรงงานทอผ้าในตัวอำเภอเริ่มเปิดตัวลง จึงมีการทอผ้าออกจำหน่ายเองของช่างทอในหมู่บ้าน และตามมาด้วยการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นโดยการสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอป่าซาง รวมทั้งมีการตั้งศูนย์รวมผลิตภัณฑ์เครือข่ายกลุ่มทอผ้าหัตถกรรมพื้นบ้านอำเภอป่าซาง ขึ้นในหมู่บ้าน

หลังจากเดินเที่ยวชมการทอผ้าและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือเพื่อเอามาเป็นของดำหัว และสวมใส่ในช่วงปี๋ใหม่เมืองแล้ว คณะก็เดินทางต่อ เป้าหมายคือวัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง โดยได้ขึ้นไปนมัสการพระธาตุเจดีย์สี่ครูบาที่ประดิษฐานรูปหล่อบรรจุอัฐิของครูบา 4 องค์คือ ครูบาพรหมา พรหมจกโก ครูบาพ่อเป็ง โพธิโก ครูบาอินจักรรักษาและครูบาคัมภีระ จากนั้นก็เดินเที่ยวชมพระวิหารจตุรมุขที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทและหอสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ

วัดพระพุทธบาทตากผ้า เดิมเป็นวัดราษฎร์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และได้รับการยกฐานะเป็นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2521 ตั้งอยู่ในเนื้อที่ประมาณ 175 ไร่ ซึ่งเป็นเนินเขาเตี้ยๆ อยู่ใกล้ดอย (เขา) 2 ลูกคือ ดอยช้างและดอยเครือ เป็น     ปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลำพูนหรือของภาคเหนือ

ออกจากวัดพระพุทธบาทตากผ้ารถเรามุ่งหน้าไปอ.ลี้ แต่ก่อนจะถึงลี้ก็แวะทานอาหารกลางวันที่ลาบไก่บ้านโฮ่งของแท้แน่นอน เมื่ออิ่มสำราญก็เดินทางต่อเส้นทางจากอ.ป่าซาง ผ่านมาทางอ.บ้านโฮ่งยอมรับว่าเป็นครั้งแรกที่เดินทางมาแถวนี้ โดยเฉพาะที่บ้านโฮ่งนั้นขึ้นชื่อว่าเมืองเกษตรกรรม มีทั้งหอม กระเทียมและลำไยและดูจะเจริญยิ่งกว่าบางอำเภอของเชียงใหม่ซะอีก

รถวิ่งมาสักพักผ่านสวนลำไยและเขตป่าสักระยะหนึ่งก็ถึงวัดบ้านปาง บ้านเกิดของครูบาศรีวิชัย พระนักพัฒนาแห่งล้านนา และช่างประจวบเหมาะยิ่งนักที่วัดกำลังจะมีงานปอยหลวงแต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บริขารพระครูบาเจ้าศรีวิชัย ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีของเก่าที่เกี่ยวข้องกับครูบาเจ้าฯหลายอย่าง ได้เห็นรถยนต์คันแรกที่บุกเบิกทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ที่นี่ยังมีเตียงนอน เก้าอี้ ของใช้แม้กระทั่งรถส่งเสบียงที่หลวงอนุสารสุนทรใช้ด้วย

จากวัดบ้านบางก็มาแวะที่วัดพระพุทธบาทผาหนาม ที่นี่มีจุดชมทัศนียภาพที่สวยงามของอ.ลี้ด้วย สำหรับวัดพระพุทธบาทผาหนามนั้นมีที่เล่ามาว่า วัดพระพุทธบาทผาหนามเคยเป็น วัดร้างก่อนการบูรณะขึ้นใหม่กว่า 300 ปี ประกอบด้วยจารึกถึงพระครูบามหารัตนาคร ครูบินใจ ครูบาพุทธิมา ครูบาสุนันทะ ครูบาจันทร์แก้ง ครูบาก๋า ครูบาอินตุ้ยและครูบาสุยะ ทิ้งให้เป็นป่ารกร้างแต่มีซากปรักหักพังของสิ่งก่อสร้าง และรอยพระพุทธบาทผาหนาม ต่อมาครูบาอภิชัยขาวปีซึ่งมีอายุ 76 ปี ได้ร่วมกับชาวบ้านผาหนามที่อพยพหนีน้ำท่วมจากเขื่อนภูมิพล โดยยึดเอาการบูรณะ วัดร้างบนดอยผาหนาม เป็นวัดที่เจริญรุ่งเรื่องด้วยศรัทธาและสิ่งก่อสร้างมากมาย เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ โดยเฉพาะรูปปั้นปูนขนาดใหญ่ของครูบาอภิชัยขาวปีในเครื่องนุ่งห่มแบบชีปะขาวอยู่เชิงดอยผาหนาม  ในวันที่ 13 -17 เดือนเมษายน ของทุกปีจะมีงานนมัสการสรงน้ำเป็นประจำ โดยจะมีประชาชนทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลกันมาทำบุญเป็นจำนวนมาก

วัดพระพุทธบาทผาหนามมี 2 จุด ให้แวะชมคือ ตัววัดที่ตั้งอยู่ด้านล่างมีรูปปั้นขนาดใหญ่ของ ครูบาอภิชัย (ขาวปี) ศิษย์ของครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นจุดเด่นตรงหน้าวัด และอีกหนึ่งจุดคือองค์พระธาตุที่ตั้งอยู่บนยอดดอย 2 องค์ โดยมีสะพานเชื่อมถึงกันและเป็น จุดชมวิวซึ่งสามารมองเห็นเมืองลี้ได้ในมุมสูงแบบ 360 องศา หากเดินทางในช่วงเช้าประมาณ 6 โมง ก็จะได้พบกับทะเลหมอกอีกด้วย

ครูบาเจ้าอภิชัย (ขาวปี) เดิมชื่อ “จำปี” เกิดเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2443 เป็นบุตรของพ่อเม่า และแม่จันตา ท่านกำพร้าบิดาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ต่อมาเมื่ออายุได้ 16 ปี มารดาได้นำไปฝากให้เป็นศิษย์ของครูบาเจ้าศรีวิชัย ณ วัดบ้านปาง ท่านจึงได้เริ่มเรียนหนังสือ โดยท่านเป็นผู้มีนิสัยขยัน เล่าเรียนอย่างจริงจัง อ่อนโยน ว่านอนสอนง่าย นอบน้อม ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงมักใช้เวลาที่ท่านรับใช้ใกล้ชิดอบรมกล่อมเกลา ถ่ายทอดความรู้ให้ด้วยความเมตตา จนท่านครูบาอภิชัยมีความรู้เป็นลำดับ สามารถอ่านออกเขียนได้ และมีทักษะในการสวดมนต์ได้ดี

นอกจากนี้ในงานก่อสร้าง ท่านก็มิได้นิ่งดูดาย ได้หมั่นสังเกตพิจารณาในการช่างและเข้าไปช่วยทำงานนั้นๆ อย่างตั้งอกตั้งใจ จนมีความรู้ ความชำนาญในการช่างเมื่อถึงเวลาอันสมควร ท่านจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุได้ 22 ปี ได้รับฉายาว่า “อภิชัยขาวปี”เมื่อถึงพรรษาที่ 13 ท่านถูกกลั่นแกล้ง และถูกจับดำเนินคดีในข้อหาหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร จนต้องถูกบังคับให้สึกและครองผ้าขาวเป็นครั้งแรก ในขณะที่ท่านติดคุกท่านได้ริเริ่มสร้างโรงพยาบาลลำพูนจนแล้วเสร็จ เมื่อออกจากคุกแล้ว ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ทำการอุปสมบทให้แก่ท่านเป็นครั้งที่สอง เมื่อบวชแล้วท่านได้กราบลาพระอุปัชฌาย์ไปบูรณะวัดวาอารามต่างๆ ต่อมาท่านได้ถูกกลั่นแกล้งกล่าวหาว่าเรี่ยไรเงินสร้างโบสถ์ จนถูกจับสึกนุ่งผ้าขาวอีกเป็นครั้งที่สอง

เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยได้สร้างถนนขึ้นวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ ท่านได้พาชาวกะเหรี่ยง 500 คน ไปช่วยทำถนนจนแล้วเสร็จ และได้กลับมาพำนักกับครูบาเจ้าศรีวิชัย ณ วัดพระสิงห์ ต่อมาได้มีผู้ขอร้องให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยทำการอุปสมบทให้แก่ท่านเพื่อเป็นภิกษุอีกครั้งหนึ่ง ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงยินยอมอุปสมบทให้ ณ วัดศรีโสดา ซึ่งในการอุปสมบทครั้งนี้เป็นเหตุให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยต้องอธิกรณ์อีกครั้ง ครูบาเจ้าอภิชัยจึงต้องสึกนุ่งผ้าขาวอีกครั้ง และได้กลับไปที่วัดพระพุทธบาทตะเมาะ ถึงแม้ครูบาเจ้าอภิชัยจะนุ่งผ้าขาว แต่ท่านก็มีวัตรปฏิบัติและถือศีลเหมือนพระภิกษุทุกประการ วัตรปฏิบัติอันเคร่งครัดของท่านทำให้มีศรัทธาสาธุชนเลื่อมใส เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพแล้ว ท่านจึงเปรียบเสมือนทายาทธรรมที่มีผู้มาขอความเมตตาไปเป็นประธานในการบูรณะวัดวาอารามต่างๆ

ในปี พ.ศ. 2514 คณะศรัทธาวัดสันทุ่งแฮ่ม จังหวัดลำปาง ได้มานิมนต์ท่านไปนั่งเป็นประธานในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ต่อมาคณะศรัทธาวัดต้นธงชัย จังหวัดสุโขทัย มานิมนต์ท่านเพื่อขอความเมตตาไปเป็นประธานในการสร้างพระวิหาร ท่านเดินทางไปเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2520 และเมื่อไปถึงวัดท่าต้นธงชัยได้เพียงวันเดียว ท่านก็ได้มรณภาพในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2520 โดยอาการสงบ

อิ่มบุญ อิ่มใจ อิ่มตากับทัศนียภาพอันสวยงามบนมุมสูงจากวัดพระพุทธบาทผาหนามแล้ว คณะเราเข้าพักที่บ้านไพลิน อ.ลี้ที่ตัวเองไม่เคยคิดจะมาเพราะแค่ได้ยินชื่อก็คิดว่าคงไกลลี้ลับ เดินทางยากลำบาก แต่พอได้มาเยือน ได้มาสัมผัสกลับเป็นอำเภอที่อยากจะเชิญชวนให้ทุกๆ ท่านได้มาด้วยตนเอง

ลี้เป็นอำเภอ 1 ใน 8 ของจังหวัดลำพูน เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาเก่าแก่ ได้ก่อตั้งเมืองมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ก่อนปี พ.ศ. 1800 มีพระนางจามะรีซึ่งเป็นราชธิดาของเจ้าเมืองหลวงพระบาง เป็นหัวหน้าในการอพยพผู้คนหลบหนีลี้ภัยข้าศึกและโรคระบาดจากเมืองหลวงพระบางลงมายังทางทิศใต้สู่แคว้นล้านนา และได้สร้างเมืองขึ้นที่บริเวณวัดพระธาตุดวงเดียว เนื่องจากมีลักษณะภูมิประเทศเหมาะสม เพราะมีสายน้ำ 3 สายมาบรรจบกัน ปัจจุบันเรียกว่า “แม่ลี้” “แม่แต๊ะ” และ “แม่ไป” จึงตั้งชื่อเมืองว่า เมืองลี้

ต่อมามีผู้คนอพยพมาจากเมืองเชียงใหม่ ลำพูน เถิน และตาก เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยจนถึงกลางสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าเมืองลำพูนหรือนครหริภุญไชยได้แต่งตั้งเจ้าเมืองมาปกครองและตั้งเป็นเมืองลี้ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และในปี พ.ศ. 2454 ได้เปลี่ยนแปลงฐานะเป็น อำเภอเมืองลี้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2460 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอลี้ โดยตั้งแต่ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอจนถึงปัจจุบันรวมเป็นเวลาเกือบร้อยปีแล้ว

นายวิวัฒน์ จันทร์โอภาส นายอำเภอลี้ บอกว่าอำเภอลี้มีพื้นที่กว้างเกือบจะครึ่งหนึ่งของจังหวัดลำพูนเป็นเมืองที่มีจุดเด่นในเรื่องของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เป็นถิ่นกำเนิดของเกจิอาจารย์ของล้านนาคือ ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ซึ่งได้บวชที่วัดบ้านปาง และยังมีศิษย์เอกอีก 2 ท่านที่เป็นครูบาด้วยเช่นกันคือครูบาชัยยะวงศาพัฒนาและครูบาเจ้าอภิชัย(ขาวปี)ที่อ.ลี้นอกจากมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามโดยเฉพาะน้ำตกแก่งก้อหลวง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิงเป็นน้ำตกที่สวยงาม มองเห็นน้ำเป็นสีเขียวมรกตแต่ค่อนข้างลึกซึ่งจะมีป้ายประกาศเตือนไม่ให้กระโดดน้ำและคนที่จะลงไปเล่นน้ำต้องใส่เสื้อชูชีพกันทุกคน อย่างไรก็ตามน้ำตกแห่งนี้ก็สวยงามจริงๆ แม้ช่วงนี้จะเข้าสู่ฤดูแล้งก็ตาม โดยแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมเล่นน้ำตกไม่น้อยกว่า 100 คน นอกจากนี้ในเขตอุทยานฯก็ยังมีเส้นทางเดินป่า ชมนกและสถานที่สำคัญๆ อีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นพระธาตุยันฮีที่คล้ายกับพระธาตุอินแขวนของพม่าที่ตั้งอยู่ติดหน้าผาริมแม่น้ำปิงด้วย

ลี้ ไม่ได้ลี้ลับและไกลลี้ แต่ลี้มีอะไรให้ค้นหาอีกมากมาย ตอนต่อไปจะเขียนถึงเขตเมืองเก่าหรือเมืองโบราณที่เทศบาลตำบลวังดินกำลังดำเนินการ แล้วมาติดตามกันนะค่ะ.

You may also like

กลุ่ม Chiang Mai Pride จับมือร่วมกับ Asset World Corporation (AWC) และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงาน “Chiang Mai Colourful Pride Month 2024” เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และเชื่อมโยงการท่องเที่ยว

จำนวนผู้