แบงก์ชาติเหนือชี้เศรษฐกิจหดตัว หนี้ครัวเรือนพุ่งห่วงปัจจัยเสี่ยงรอบด้านส่งผลต่อเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

แบงก์ชาติเหนือชี้เศรษฐกิจหดตัว หนี้ครัวเรือนพุ่งห่วงปัจจัยเสี่ยงรอบด้านส่งผลต่อเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

แบงก์ชาติเหนือแถลงภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือหดตัวมาก ตลาดแรงงานเปราะบางยิ่งขึ้น ห่วงการเลิกจ้าง หนี้ครัวเรือนพุ่งพรวด โดยเฉพาะแม่ฮ่องสอนและน่านซึ่งมีอัตรา GPP ต่ำ ชี้เศรษฐกิจครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งปัญหาโควิดฯ ภัยแล้ง หนี้ครัวเรือนและการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน

วันที่ 4 ส.ค.63 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคเหนือ นายโอสร เพชรเจริญ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ แถลงถึงภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 2 ปี 2563 ว่า เศรษฐกิจภาคเหนือหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 โดยเฉพาะมาตรการที่เข้มงวดทำให้กำลังซื้อหดตัวและเปราะบาง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ในระดับต่ำ ท่องเที่ยวหดตัวมาก รายได้เกษตรกรหดตัวจากผลกระทบของภัยแล้ง ภาคอุตสาหกรรมหมวดอาหารยังเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ การลงทุนภาคเอกชนหดตัว เอกชนชะลอแผนการลงทุนออกไป มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัว อัตราเงินเฟ้อก็ติดลบซึ่งเกิดจากผลพวงของราคาพลังงานที่ลดลง

ในส่วนของสินค้าคงทน โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ลดลงถึงร้อยละ 18 สถาบันการเงินมีการระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ และภายหลังจากที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการ การบริโภคของเอกชนเริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามภาคการท่องเที่ยวของภาคเหนือได้รับผลกระทบมากสุด นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศลดลงจากการจำกัดการเดินทาง สะท้อนจากสถิติผู้โดยสารที่ผ่านสนามบินพาณิชย์ในภาคเหนือ 5 แห่งซึ่งไตรมาส 2 จำนวนผู้โดยสารลดลงถึง 92.7

“ภายหลังคลายล๊อคดาวน์การเดินทางในประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2 รายได้ภาคเกษตรหดตัวลงร้อยละ 20.7 จากปัจจัยการผลิตที่หดตัวเพราะข้าวนาปรังได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง แต่ลิ้นจี่ ลำไยและไก่เนื้อ ข้าวเปลือกราคาดี ภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อน โดยสินค้าเกษตรแปรรูปขยายตัวจากการผลิตเพื่อส่งออกไปจีนและสินค้าแช่แข็งส่งออกไปสหรัฐฯและเอเชีย”ผอ.อาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือกล่าวและชี้แจงอีกว่า

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจภาคเหนือในระยะต่อไป ปัจจัยแรกคือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูง เพราะหลายประเทศในโลกยังมีการระบาดที่รุนแรง นอกจากนี้ปัญหาภัยแล้งก็จะเป็นตัวกดดันเศรษฐกิจภาคเหนือ เพราะสัดส่วนเศรษฐกิจอยู่ที่ภาคเกษตร ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อเศรษฐกิจภาคเหนือคือปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งสูงมากใกล้เคียงกับประเทศ บางจังหวัดเช่นแม่ฮ่องสอนและน่านซึ่งมูลหนี้ต่อ GPP (ผลิตภัณฑ์มงลรวมจังหวัด)ต่ำ แม้ว่าขณะนี้จะเริ่มกลับมาทำงานและมีรายได้แต่ก็ต้องมีภาระหนี้ที่ต้องชำระ เนื่องจากที่ผ่านมามีมาตรการพักชำระหนี้ระยะสั้นให้ ดังนั้นรายได้ที่ได้จะต้องถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อชำระหนี้ทำให้ไปกดดันการบริโภคของประชาชนค่อนข้างมาก

ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่ยังต้องระวังอีกเรื่องคือการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่อาจจะกลับมารุนแรงอีกครั้ง และจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของภาคเหนือ โดยเฉพาะภาคการส่งออกและห่วงโซ่อุปทาน แต่ตัวที่เป็นความหวังของเศรษฐกิจภาคเหนือในครึ่งปีหลังคือการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งออกพรบ.งบประมาณรายจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน

“ในครึ่งปีหลัง GDP ของภาคเหนือก็จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับของประเทศ ซึ่งคาดว่าน่าจะติดลบตัวเลข 2 หลักและคาดว่าจะกลับขึ้นมาอยู่ที่ตัวเลขหลักเดียวได้ในระยะต่อไป อย่างไรก็ตามสำหรับเชียงใหม่ซึ่งเศรษฐกิจส่วนใหญ่พึ่งพิงภาคการท่องเที่ยว แต่เมื่อขณะนี้ยังไม่มีมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้ว่าที่ผ่านมาสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่เข้ามร้อยละ 80 จะเป็นนักท่องเที่ยวไทยแต่ก็ต้องมีมาตรการกระตุ้นเพื่อให้คนไทยมาเที่ยวให้มากขึ้น”นายโสรส กล่าวและชี้แจงด้วยว่า

สำหรับภาวะแรงงานของภาคเหนือถือว่าอยู่ในช่วงเปราะบางยิ่งขึ้น ซึ่งแบงก์ชาติดูจากตัวเลขของผู้ที่มารับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปีนี้ที่มีอยู่ 16,000 คนเพิ่มเป็น 51,000 คน ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่แน่ใจว่าในกรณีกลุ่มที่ถูกลดค่าจ้าง ตัดโอที หรือหยุดทำงานชั่วคราวจะกลับมาทำงานและมีรายได้แบบเดิมหรือไม่ หรือมีการเลิกจ้างไป ซึ่งส่วนนี้ทางแบงก์ชาติกำลังติดตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติซึ่งจะเป็นผู้ที่สำรวจข้อมูลดังกล่าว.

You may also like

บสย. จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา โครงการ “บสย. ร่วมใจ ทำดี เพื่อสังคม” ครั้งที่ 2 ร่วมซ่อมแซม ทาสี เครื่องเล่นเด็ก ปลูกต้นไม้ ณ สวนสมเด็จสราญราษฎร์มณีรมย์

จำนวนผู้